xs
xsm
sm
md
lg

เสียงระเบิดในกรุงแบกแดดสะท้อนก้องไปกว้างไกล

เผยแพร่:   โดย: ซามี โมวบายเอด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Baghdad blasts echo far and wide
By Sami Moubayed
26/10/2009

การโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อนในเมืองหลวงอิรักเมื่อวันอาทิตย์(25 ต.ค.) ซึ่งผลาญชีวิตผู้คนไป 132 คนและบาดเจ็บอีก 700 คน กลายเป็นการหักมุมอย่างโหดๆ ที่ปิดฉากช่วงเวลาค่อนข้างสงบเรียบร้อยซึ่งดำรงอยู่ในประเทศนี้ในระยะ 18 เดือนที่ผ่านมา ผลพวงที่ติดตามมาประการแรกๆ เลย อาจจะได้แก่การต้องเลื่อนการเลือกตั้งรัฐสภาในอิรักจากที่กำหนดเอาไว้ในเดือนมกราคม ขณะที่แรงสะเทือนของเหตุการณ์คราวนี้อาจจะเป็นที่รู้สึกกันไปถึงอัฟกานิสถานทีเดียว

ดามัสกัส – ยังไม่มีใครประกาศอ้างเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์โจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อนในกรุงแบกแดดเมื่อวันอาทิตย์(25) ซึ่งสังหารผลาญชีวิตผู้คนไป 132 คนและบาดเจ็บอีก 700 คน ทว่ามีการชี้นิ้วไปยังพวกที่เป็นผู้ต้องสงสัยหน้าเดิมๆ กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สุหนี่, ชิอะห์, เคิร์ด, อัลกออิดะห์, อิหร่าน, หรือกระทั่งสหรัฐฯ

กระนั้นก็ตามที สิ่งที่ไม่มีข้อสงสัยเลยก็คือ เพียงสองสามนาทีที่เลือดสาดกระเซ็นไหลนองคราวนี้ กระบวนการทางการเมืองของอิรักก็ถูกโยนจมถลำลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย ทำให้การเลือกตั้งรัฐสภาระดับชาติที่กำหนดกันเอาไว้ในเดือนมกราคมปีหน้าอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีนูริ อัล-มาลิกี ผู้ซึ่งอยู่รอดมาได้ตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ด้วยผลของสถานการณ์ความมั่นคงปลอดภัยในอิรักที่ดูกระเตื้องดีขึ้น มาถึงเวลานี้อนาคตของเขาก็กลับน่าเป็นห่วงขึ้นมาใหม่

การโจมตีในวันอาทิตย์ซึ่งจุดแรกมุ่งเล่นงานอาคารกระทรวงยุติธรรม จากนั้นก็เป็นอาคารที่ทำการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาค ดูจะวางแผนเอาไว้อย่างดีเพื่อให้บังเกิดผลกระทบสูงที่สุด และพุ่งเป้าหมายเล่นงานทั้งพวกชิอะห์และสุหนี่ อย่างไรก็ตาม การระเบิดครั้งที่สองบังเกิดขึ้นขณะที่พวกเจ้าหน้าที่และนักการศาสนาไปชุมนุมกันเพื่อรำลึกวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการสิ้นชีวิตของนักการศาสนานิกายชิอะห์ชื่อดัง นั่นคือ โมฮัมหมัด ซอดิก อัล-ซาดร์ (Mohammad Sadiq al-Sadr) บิดาของ มุกตอดา อัล-ซาดร์ (Muqtada al-Sadr) นักการศาสนาผู้ทรงอำนาจในเวลานี้

คณะกรรมการฝ่ายการเมืองเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Political Committee) อันเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาแก่พวกนักการเมืองอาวุโส รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมาลิกี ก็มีกำหนดประชุมหารือในวันอาทิตย์นั้นเช่นกัน ภายหลังรัฐบาลละทิ้งความพยายามที่จะหาทางให้ฝ่ายต่างๆ เห็นพ้องต้องกัน ในเรื่องกฎหมายที่จะใช้ควบคุมดูแลการเลือกตั้งรัฐสภาที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 16 มกราคมปีหน้า ทั้งนี้คณะกรรมการชุดนี้ได้รับมอบภารกิจให้ไปร่างกฎหมายฉบับใหม่มาเสนอ แต่เห็นกันอยู่แล้วว่าไม่น่าจะทำได้ทันวันเลือกตั้งที่ตั้งเอาไว้ ยิ่งเกิดการโจมตีในวันอาทิตย์ด้วยแล้วก็ยิ่งไม่น่าจะทันเข้าไปใหญ่ และจึงเพิ่มโอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางรัฐธรรมนูญขึ้นมา

การโจมตีในวันอาทิตย์บังเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์อันสร้างความเสียหายหนักทำนองเดียวกันขึ้นในวันพุธที่ 19 สิงหาคม เมื่อมีการระเบิดแบบประสานต่อเนื่องกันรวม 6 ครั้งในกรุงแบกแดด โดยเป้าหมายได้แก่พวกอาคารของรัฐบาลภายในเขต “กรีนโซน” ทำให้มีผู้ถูกสังหารไป 100 คนในวันนั้น

ภายหลังเกิดเหตุในวันอาทิตย์ไม่นานนัก มาลิกีได้กระทำสิ่งที่ไม่ค่อยได้กระทำมาก่อน นั่นคือไปปรากฏตัวยังจุดที่เกิดเหตุระเบิดทั้งสองจุด พร้อมกันให้สัญญาว่าจะนำตัวผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้ ขณะที่ ฮะซัน บิกอนี (Hasan Bikani) สมาชิกในคณะกรรมาธิการความมั่นคงและการป้องกันประเทศของรัฐสภา ได้ออกมาเตือนว่า “เราได้รับรายงานหลายกระแสที่ระบุว่า การปฏิบัติการ [ก่อการร้าย] จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากวันเลือกตั้งขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ”

มาลิกีคงจะต้องยากลำบากมากทีเดียว หากจะทำให้คำมั่นสัญญาคราวนี้ของเขากลายเป็นความจริงขึ้นมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ก็เกิดเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อมัสยิด อัล-อัสกอรี (al-Askari Mosque) ในนครซามาร์เราะห์ (Samarra) ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่และนิกายชิอะต์อาศัยปะปนกันอยู่ จนกลายเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงระหว่างนิกาย และลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างสุหนี่กับชิอะห์

ถึงแม้พวกอัลกออิดะห์ประกาศตนเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีคราวนั้น มันก็ยังไม่ชัดเจนอยู่ดีว่ากลุ่มนี้เป็นผู้ลงมือจริงๆ –มีบางคนกระทั่งเชื่อว่าพรรคของฝ่ายชิอะห์พรรคหนึ่งคือผู้รับผิดชอบ เนื่องจากการระเบิดนั้นมิได้มุ่งหมายที่จะทำอันตรายต่อผู้มาละหมาดที่เป็นคนชิอะห์ แต่เหตุร้ายคราวนี้ก็ทำให้พวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของชาวชิอะห์อ้างเป็นเหตุผลในการเข้าโจมตีเล่นงานชาวสุหนี่ โดยประณามกล่าวโทษพวกเขาว่าเป็นผู้ก่อการระเบิดซึ่งได้สร้างความเสียหายหนักให้แก่มัสยิดแห่งนี้ และทำลายโดมทองของมัสยิดอย่างยับเยินด้วย แม้ไม่ได้มีหลักฐานอะไรเลยมาสนับสนุน แต่พวกชิอะห์ติดอาวุธก็ยกกำลังออกมาตามท้องถนน เข้าโจมตีบรรดามัสยิด, บุคคลมีชื่อ, และกระทั่งย่านที่อยู่อาศัยทั้งย่านของชาวสุหนี่

เหตุการณ์โจมตีในวันอาทิตย์แตกต่างออกไปจากคราวนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าในครั้งนี้พวกผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุต้องการทำให้เกิดความเจ็บปวดระดับสูงสุด ด้วยการโจมตีในช่วงชั่วโมงแรกๆ ของวันทำงานซึ่งตามท้องถนนของกรุงแบกแดด และตามอาคารสำนักงานต่างๆ ของภาครัฐ กำลังมีผู้คนคับคั่ง

ถ้าหากจะมุ่งจับจ้องมองหาประดาพวกผู้ต้องสงสัยหน้าเดิมๆ แล้ว ความยากลำบากก็อยู่ตรงที่ว่า ไม่เหมือนกับการโจมตีครั้งที่ผ่านๆ มาจำนวนมาก ในคราวนี้ไม่ได้มีชุมชนหนึ่งชุมชนใดที่ตกเป็นเป้าหมายเฉพาะอย่างโดดเด่น และผู้เสียชีวิตก็มีทั้งชาวชิอะห์, สุหนี่, และคริสต์

**นายกฯมาลิกี “โดน” เข้าไปเต็มๆ**

นอกเหนือจากกระบวนการเลือกตั้งแล้ว การโจมตีคราวนี้ยังเป็นการสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตัวมาลิกีเองอีกด้วย เป็นเวลากว่า 1 ปีมาแล้วที่บรรดาสามัญชนชาวอิรักตั้งความหวังเอาไว้กับนายกรัฐมนตรีผู้นี้ และคอยพิทักษ์ปกป้องเขาในที่สาธารณะ เนื่องจากมองว่าเขาเป็นบุรุษที่ได้ฟื้นฟูความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมาในอิรัก

มาลิกีนั้นทำงานได้ย่ำแย่มากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ, ดึงดูดการลงทุน, และสร้างงาน เขายังล้มเหลวไม่สามารถจูงใจให้พวกผู้ลี้ภัยหวนกลับมาอิรัก ตลอดจนมีผลงานที่ไม่ดีเลยในการสร้างความปรองดองภายในชาติ โดยไม่สามารถนำเอาพวกสุหนี่กลับเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมือง แต่เขาก็ประสบความความสำเร็จในการพยายามจำกัดควบคุมอำนาจของพวกกองกำลังอาวุธตามถนนสายต่างๆ ของแบกแดด รวมทั้งการฟื้นฟูย่านชุมชนทั้งย่านให้กลับคืนสู่ความเป็นปกติอย่างน้อยก็ในทางรูปลักษณ์ภายนอก หลังจากที่ต้องจมอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดการรุกรานยึดครองซึ่งนำโดยกองทัพสหรัฐฯเมื่อปี 2003 ที่ได้โค่นล้มซัดดัม ฮุนเซนลงไป ทว่าบัดนี้ภายหลังวันพุธทมิฬ และวันอาทิตย์ทมิฬ อิรักก็กำลังยืนอยู่บนจุดที่หวนกลับไปสู่วันเวลาอันมืดมนอนธกาลของช่วงปีแรกๆ ภายหลังการรุกรานยึดครอง

สหรัฐฯนั้นกำลังเฝ้าจับตามองมาลิกีจากจุดที่ห่างไกลออกไป โดยรู้สึกไม่ค่อยโปรดนักกับวิธีจัดการรัฐอิรักของเขา สืบเนื่องจากเขาพยายามผูกเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ตลอดจนดำเนินนโยบายที่สร้างความแตกแยกภายในประเทศ สิ่งเดียวที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การคงอยู่ในอำนาจของเขา ก็คือสภาพการณ์ที่ค่อนข้างมีความมั่นคงในช่วงเวลา 18 เดือนก่อนจะเกิดเหตุโจมตีเดือนสิงหาคม 2009 มาถึงตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการยกย่องให้เกียรติแก่มาลิกีเพียงคนเดียวว่าเป็นเจ้าของผลงานการทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยเพิ่มขึ้นมานั้น เป็นเพียงความคิดแบบสร้างมายาภาพเท่านั้นเอง

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ความมั่นคงปลอดภัยกระเตื้องดีขึ้นมา ก็เป็นเพราะพวกผู้เล่นในระดับภูมิภาคต่างกำลังยินดีให้ความร่วมมือกับมาลิกี และดังนั้นพวกตัวแทนหลายหลากของพวกเขาภายในอิรักจึงมีท่าทีเช่นนี้ด้วย มาถึงตอนนี้การให้ความร่วมมือดังกล่าวกำลังแตกสลายไป เพราะทุกๆ ฝ่ายต่างกำลังแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงอำนาจในแบกแดด ความเปราะบางอ่อนแอของมาลิกีจึงกำลังปรากฏให้เห็น

และถ้าหากเกิดมีเหตุระเบิดต่อเนื่องกันเป็นระลอกใหญ่ ย่อมจะทำให้มีคำถามขึ้นมาว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯยังสามารถที่จะลดทอนกำลังทหารอเมริกันในอิรักให้น้อยลงครึ่งหนึ่งภายในเดือนสิงหาคมปีหน้า ดังที่เขาประกาศว่าจะทำได้หรือไม่ เรื่องนี้ยังน่าจะมีอิทธิพลต่อการพิจารณาตัดสินใจของเขา ในเรื่องจะส่งทหารเพิ่มเติมอีก 40,000 คนเข้าไปยังอัฟกานิสถาน ตามคำขอของผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯและนาโต้ในอัฟกานิสถาน พล.อ.สแตนลีย์ แมคคริสตัล อีกด้วย

ซามี โมวบายเอด เป็นบรรณาธิการใหญ่ของ “นิตยสาร ฟอร์เวิร์ด” ในประเทศซีเรีย

หมายเหตุ - เมื่อวันอังคารที่ 27 ตุลาคม กลุ่ม “รัฐอิสลามแห่งอิรัก” Islamic State of Iraq ซึ่งเป็นองค์กรบังหน้าของอัลกออิดะห์ ได้ออกคำแถลงผ่านเว็บไซต์ บอกว่าเหตุโจมตีในวันอาทิตย์ และในเดือนสิงหาคม เป็นผลงานของพวกตน -ผู้แปล
กำลังโหลดความคิดเห็น