เอเอฟพี/ASTV ผู้จัดการรายวัน – นักวิเคราะห์ชี้ระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลายของเยเมน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบรรดากลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่มีแนวคิดแบบสุดโต่งทั้งหลาย จนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลางและประชาคมโลก
โมฮัมหมัด อัล มูไธมี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซานา ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของเยเมนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1970 ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจของเยเมน ถือเป็นต้นเหตุหลักที่อยู่เบื้องหลังเหตุวุ่นวายต่างๆ ภายในประเทศตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้ง ยังเป็นต้นตอสำคัญที่ก่อให้เกิดการแผ่ขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์อีกด้วย
“ผมคิดว่าบรรดากลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งทั้งหลาย ต่างพากันฉกฉวยโอกาสทองจากภาวะเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของเยเมนในการขยายอิทธิพล พร้อมกับหยิบยื่นโอกาสในการมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าให้กับเยาวชนของเราซึ่งกำลังสิ้นหวังกับชีวิต และว่างงาน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เยาวชนเยเมนจะตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการเหล่านี้” อัล มูไธมีกล่าว
ขณะที่ตัวเลขของทางการล่าสุดระบุว่าอัตราการว่างงานของประชากรวัยแรงงาน 6.5 ล้านคนในประเทศ ได้พุ่งไปอยู่ที่ร้อยละ 34 แล้ว และข้อมูลจากรายงานดัชนีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่มประเทศอาหรับ ขององค์การสหประชาชาติยังชี้ว่าชาวเยเมนร้อยละ 59ต้องทนทุกข์อย่างหนักจากความยากจน นอกจากนั้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเยเมนก็ถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคโดยอยู่ที่ระดับเหนือ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 33,130บาทต่อคนต่อปีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะที่ อาลี มูฮัมหมัด อัล อานิซี ผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติของเยเมน และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบของประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซอเลห์ เปิดเผยว่าการที่เยเมนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนข้นแค้นที่สุดในโลก มีระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียว ยังเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในประเทศขยายตัว เนื่องจากรายได้จากการขายน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของรายได้ของทั้งประเทศนั้นกระจุกตัวอยู่ในมือของชนชั้นผู้มีอำนาจเพียงกลุ่มเดียว โดยไม่ได้มีการกระจายไปยังประชาชนทั่วไปจนก่อให้เกิดกระแสแห่งความไม่พอใจไปทั่ว และนำไปสู่การถือกำเนิดของกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งทั้งหลาย เช่น กลุ่มกบฏหัวรุนแรงนิกายชิอะห์ทางตอนเหนือ และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศ เป็นต้น
นอกจากนั้น ผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติเยเมนยังชี้ว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงในเยเมนมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากที่รายได้จากการขายน้ำมันของประเทศลดฮวบอย่างน่าตกใจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อันเป็นผลมาจากการที่ปริมาณน้ำมันสำรองใต้พื้นดินของเยเมนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนมีการคาดการณ์กันว่า “น้ำมันดิบหยดสุดท้าย” อาจจะหมดไปจากผืนแผ่นดินเยเมนภายใน 10-12 ปีนับจากนี้ หากยังคงไม่มีการค้นพบบ่อน้ำมันขนาดใหญ่แห่งใหม่
“ เมื่อน้ำมันหมดไปจากประเทศของเรา รายได้กว่าร้อยละ 70 ที่เยเมนเคยได้จากทรัพยากรหลักประเภทนี้ ก็จะหายไปด้วย และเมื่อถึงตอนนั้นจะมีผู้คนอีกมากที่ต้องตกงานซึ่งผมเชื่อว่าพวกเขาคงตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายมากกว่าการยอมอดตาย ” อัล อานิซีกล่าวในระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อเดือนที่แล้ว
ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ระบุว่า แม้รัฐบาลของประธานาธิบดีซอเลห์ จะเพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าขุดพบบ่อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้ราว 30,000-40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 994,000 ล้านบาทถึง 1.325 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลา 25 ปีนับจากนี้ แต่รายได้จากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติดังกล่าวยังถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น เมื่อเทียบกับรายได้ที่เยเมนเคยได้รับจากการส่งออกน้ำมัน ขณะที่ตัวเลขของทางการเยเมนเมื่อไม่นานมานี้ก็ยืนยันว่า กำลังการผลิตน้ำมันของประเทศเมื่อปีที่แล้วเหลือเพียงไม่ถึงวันละ 300,000 บาร์เรลแล้ว ทั้งที่เยเมนเคยผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกได้ถึงวันละประมาณ 500,000 บาร์เรลเมื่อปี 2000