xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ยังไม่กระโจนเข้า‘เยเมน’ในขณะนี้

เผยแพร่:   โดย: เอียน วิลเลียมส์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

US hand stayed - for now
By Ian Williams
08/01/2009

ถึงแม้คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะมีการพูดจาด้วยภาษาสำนวนอันชวนให้หวั่นผวาถึงภาวะโลกาวินาศอยู่บ้าง ด้วยการระบุว่าสถานการณ์ในเยเมนกำลังกลายเป็นภัยคุกคามระดับภูมิภาคและระดับโลกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม วอชิงตันยังไม่น่าที่จะเปิดการแทรกแซงทางทหารอย่างเปิดเผยชัดเจนใดๆ ตราบเท่าที่ยังตระหนักซาบซึ้งเป็นอันดีว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนั้นมีแต่จะทำให้เยเมนเกิดความสามัคคีรวมตัวกันอย่างชนิดที่ไม่มีอะไรอื่นทำได้เสมอเหมือน ทั้งนี้ก็เพื่อต่อต้านศัตรูผู้รุกราน

วอชิงตัน – สหรัฐฯย่อมสามารถมองเห็นถึงผลต่อเนื่องในทางปฏิบัติของการก่อ “สงคราม” เพื่อต่อสู้เอาชนะสิ่งนามธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามต่อสู้เอาชนะยาเสพติดในเม็กซิโก หรือสงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้ายในอิรัก สำหรับที่เยเมน มีสัญญาณหลายประการบ่งชี้ว่า ทั้งรัฐบาลของประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซอเละห์ (Ali Abdallah Saleh) และคณะรัฐบาลบารัค โอบามา ต่างกำลังตีกรรเชียงถอยห่างออกจากการซ้ำรอยความผิดพลาดของอัฟกานิสถาน และบางทีอาจจะกระทั่งความผิดพลาดของโซมาเลียอีกด้วย

อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่มีคุณค่าทีเดียวที่จะเปรียบเทียบเยเมนกับโซมาเลีย หากถือตามเงื่อนไขตามประเพณีความคิดความเชื่อแบบตะวันตกแล้ว โซมาเลียเป็นรัฐที่ควรจะต้องประสบความสำเร็จแทบจะมากที่สุดในภูมิภาคใต้ทะเลทรายซาฮาราของทวีปแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) ประชากรของโซมาเลียมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งในเรื่องศาสนา, ภาษา, และวัฒนธรรม อีกทั้งมีความสำนึกด้านอัตลักษณ์อย่างสูง ทว่าสิ่งที่คนภายนอกไม่ได้ตระหนักเลยก็คือมีการแบ่งแยกในทางตระกูลเผ่าพันธุ์มากมายขนาดไหนเบื้องลึกลงไปจากเปลือกนอดที่ดูเหมือนเป็นเอกภาพเช่นนี้ รัฐบาลกลางอันเข้มแข็งภายใต้ ซิอัด บาร์เร (Siad Barre) ผู้เป็นประธานาธิบดีที่สามารถครอบครองอำนาจในทั่วประเทศได้อย่างแท้จริงคนสุดท้าย เอาเข้าจริงแล้วก็อยู่ในลักษณะเป็นการเข้าผูกขาดทรัพยากรต่างๆ ของตระกูลเผ่าพันธุ์หนึ่งเหนือกว่าตระกูลเผ่าพันธุ์อื่นๆ เท่านั้นเอง และหลังจากนั้นมา ก็ไม่มีสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลแห่งชาติซึ่งสามารถที่จะผงาดขึ้นมาเรียกร้องเอาสิ่งต่างๆ โดยที่ฝ่ายอื่นๆ อันมีอยู่มากมายหลายหลาก ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้อย่างง่ายดายอีกเลย

ถัดจากโซมาเลียเพียงข้ามบริเวณปากทะเลแดงมายังอีกฟากฝั่งหนึ่งก็คือเยเมน ซึ่งกลับเป็นประเทศที่มีความแตกต่างภายในอันควรจะเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งแยกแบ่งเหล่าอยู่เป็นจำนวนมาก ที่นี่มีทั้งการแบ่งแยกทางศาสนาระหว่าง ไซดี (Zaidi) กับ สุหนี่, มีความแตกแยกระหว่างภาคเหนือ กับ ภาคใต้ที่เคยเป็นประเทศเอกราชที่ปกครองด้วยระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแบบลัทธิมาร์กซ์ ถึงแม้ความหมางใจในปัจจุบันจะไม่ได้เกิดขึ้นจากอุดมการณ์อะไรนัก หากแต่สืบเนื่องจากรัฐบาลประธานาธิบดีซอเละห์ ตัดรอนกีดกันคณะผู้นำเก่าของภาคใต้ไม่ให้เข้าถึงอำนาจและความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างที่พวกเขาเคยคาดหวังไว้ว่าจะได้เมื่อตอนยอมรวมประเทศในปี 1990

ในภาคเหนือเอง ที่จังหวัดซอดะ (Saada) ชนเผ่าฮูทิ (Houthi) ซึ่งเคยตั้งราชวงศ์ที่เป็นเจ้าผู้ปกครอง (emir) ดินแดนที่ในปัจจุบันคือเมืองหลวงซานา ต่อเนื่องกันมาถึง 1 พันปี เวลานี้ก็รู้สึกว่าพวกเขาถูกกีดกันออกจากอำนาจ เนื่องจากพวกเขาเป็นมุสลิมไซดี ดังนั้นในทางเทคนิคแล้วจึงถือว่าเป็นนิกายชิอะห์ และพวกเจ้าหน้าที่ชาวเยเมนนักฉวยโอกาสจึงไม่รีรอที่จะโยงใยพวกเขาเข้ากับอิหร่าน (ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชิอะห์) ด้วยวิธีนี้จึงสามารถโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบียและอเมริกาสนับสนุนรัฐบาลกลาง ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้ว ความใกล้ชิดที่ชาวไซดีในเยเมนมีอยู่กับชาวชิอะห์ในอิหร่าน ก็คงพอๆ กับชาวแองกลิกัน (Anglican) ในอังกฤษ กับพวกนิกายเพนเตคอสตอล (Pentecostal) ชาวอเมริกัน ถึงแม้ทั้งสองส่วนในเทคนิคต่างถือเป็นพวกนิกายโปรเตสแตนต์เหมือนกันก็ตาม ทว่าเนื่องจากพวกเขาเป็นชิอะห์ พวกเขาจึงเป็นที่รังเกียจของพวกวาห์ฮาบี (Wahhabi) แห่งซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนพวกที่แตกกิ่งแตกก้านออกมาอย่างอัลกออิดะห์

ทางพื้นที่แถบภูเขาของเยเมน มีตระกูลเผ่าพันธุ์จำนวนมากทีเดียวพอใจที่จะเลิกแยแสใส่ใจกับรัฐบาลกลาง และบางตระกูลยังดูจะเอื้อเฟื้อ หรืออย่างน้อยก็มีขันติธรรมต่อพวกอัลกออิดะห์ ทั้งนี้ที่สำคัญน่าจะเนื่องจากเหตุผลทั้งทางการเงินและทางหลักการนิกายศาสนา

รัฐบาลกลางในเยเมนนั้นมักมีความอ่อนแอและไม่สามารถรวมศูนย์อำนาจอะไรได้ โดยต้องพึ่งพาอาศัยการเจรจาต่อรองความต้องการต่างๆ ของตระกูลและท้องถิ่นทั้งหลาย ทั้งนี้การแบ่งแยกระหว่างตระกูลและท้องถิ่นต่างๆ นอกจากมีสภาพอันยากลำบากทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดแล้ว ยังเสริมด้วยนิสัยประจำชาติของประเทศนี้ในเรื่องการพกพาอาวุธ สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association) ในสหรัฐฯซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ที่แข็งขันที่สุดในการเรียกร้องสิทธิการพกพาอาวุธปืนของชาวอเมริกัน จะต้องถือเยเมนเป็นสวรรค์บนดินอย่างแน่นอน นอกจากปืนแล้ว ชายชาวเยเมนส่วนใหญ่ยังรู้สึกเหมือนตนเองปลือยกายอยู่ ถ้าหากว่าไม่ได้มีกริช “จัมบิยัส” (jambiyas) เสียบอยู่ที่เข็มขัด

ความขัดแย้งภายในประเทศในระยะหลังๆ มานี้ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการแบ่งสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดขาดเขิน เยเมนนั้นเป็นประเทศที่ยากจนเป็นอย่างยิ่ง และสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้ความยากจนดังกล่าวนี้บรรเทาเบาบางลง ยิ่งกว่านั้น ความขัดสนยังเพิ่มพูนมากขึ้นอีกเมื่อตอนที่ทูตเยเมนลงมติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คัดค้านญัตติที่อนุมัติให้ทำศึก “พายุทะเลทราย” ในปี 1990-1991 ภายหลังจากอิรักเข้ารุกรานยึดครองคูเวต

พวกนักการทูตสหรัฐฯได้บอกกับผู้แทนเยเมนในตอนนั้นว่า นี่จะเป็นการโหวตที่มีราคาแพงที่สุดเท่าที่เขาเคยออกเสียงมา และปรากฏว่าครั้งนี้คำทำนายของอเมริกันกลายเป็นความจริง ซาอุดีอาระเบียได้ขับไสคนงานชาวเยเมนนับแสนๆ คนออกจากประเทศ โดยที่รายได้ซึ่งส่งกลับบ้านของคนงานเหล่านี้เองที่เคยประคับประคองเศรษฐกิจของเยเมนให้พออยู่ไปได้ ขณะเดียวกันความช่วยเหลือจากต่างประเทศในด้านอื่นๆ ก็หดหายไปมากมาย ไม่ต้องเอ่ยเลยว่า ความรู้สึกกตัญญูรู้คุณของซัดดัม ฮุสเซนนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็อยู่ในปริมาณจำกัดอย่างยิ่งจนไม่อาจชดเชยอะไรได้

เวลานี้สิ่งต่างๆ กระเตื้องดีขึ้นมาแล้ว ซาอุดีอาระเบียกับเยเมนสามารถตกลงกันในกรอบกว้างๆ ในที่สุดเมื่อปี 2000 เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนที่พวกเขาพิพาทกันมานาน กระนั้นก็ตามที ยังคงไม่ได้มีการฟื้นคืนฐานะพิเศษของคนงานชาวเยเมนที่เคยมีอยู่ในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ยิ่งไปกว่านั้น รายได้จากน้ำมันที่เป็นรายรับสำคัญทีเดียวของรัฐบาลกลางในกรุงซานาก็กำลังลดต่ำลง และความช่วยเหลือจากต่างประเทศก็ยังไม่ได้มีการเพิ่มพูนอย่างกว้างขวางอะไร ถึงแม้มาตรการคว่ำบาตรหลังปี 1991 ที่เยเมนเคยเผชิญจะถูกยกเลิกกันไปแล้ว อย่างไรก็ดี การเล่นพรรคเล่นพวกและการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลซอเละห์ ซึ่งนับถึงเวลานี้ก็ได้ครองอำนาจมาถึง 30 ปีแล้ว กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแบ่งสรรรายรับที่ยังหลงเหลืออยู่ของประเทศอย่างไม่มีความถูกต้องเหมาะสม และกลายเป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดความปั่นป่วนไม่พอใจในหมู่ผู้คนที่ไม่ได้รับแบ่งปันอะไรเท่าที่ควร

อุตสาหกรรมและการค้าสำคัญของประเทศ กลายเป็นการปลูก, การจัดจำหน่าย, และการบริโภคขบเคี้ยวใบ “กัต” (qat) ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการที่ดินและน้ำจำนวนมหาศาล รวมทั้งกินเอารายได้ซึ่งทำมาหาได้ของผู้เสพผู้บริโภคไปถึงราวๆ หนึ่งในสาม ( “กัต” เป็นพืชใบเขียวแถบศูนย์สูตร ใบนิยมนำมาขบเคี้ยว โดยที่มีฤทธิ์ในทางกระตุ้นความรู้สึก)

หากจะพยายามมองกันในแง่บวก นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ซึ่งทำรายได้งดงามขนาดที่ต้องใช้ยามถืออาวุธคอยเฝ้าไร่กันทีเดียว ถือเป็นหนทางสำคัญในการผ่องถ่ายความมั่งคั่งไปสู่เขตชนบท รวมทั้งเป็นตัวดูดซับพวกคนงานที่ต้องตกงานถูกส่งกลับมาจากซาอุดีอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในแถบอ่าวเปอร์เซีย

ในช่วงแรกๆ ที่รัฐบาลเผชิญกับพวกผู้คนที่ไม่พอใจจำนวนมากมายกว้างขวางนั้น ดูเหมือนทางส่วนกลางจะมองเห็นว่าเป็นโอกาสอันดี ด้วยการวาดภาพระบุให้กลุ่มผู้ไม่พอใจต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นพวกอิหร่าน หรือพวกที่ได้รับอิทธิพลจากอัลกออิดะห์ รัฐบาลก็ดูจะตีระฆังลั่นฆ้องกลองได้ถูกเสียงกลายเป็นที่สนอกสนใจทั้งในกรุงริยาดและกรุงวอชิงตัน และก็สามารถวาดหวังได้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือทั้งทางการทหารและทางการเงิน

นับตั้งแต่เกิดเหตุพยายามระเบิดเครื่องบินโดยสารของสายการบินนอร์ธเวสต์แอร์ไลนส์เมื่อวันคริสต์มาสแต่ประสบความล้มเหลว โดยที่คนร้ายเป็นชาวไนจีเรียผู้หนึ่งซึ่งมีความผูกพันโยงกับกลับอัลกออิดะห์และเยเมน ทั้งรัฐบาลเยเมนและรัฐบาลสหรัฐฯก็ดูเหมือนจะพยายามถอยหลังกลับมาตั้งหลัก ฝ่ายเยเมนซึ่งก่อนหน้านั้นได้พยายามหาเสียงขอความสนับสนุนด้านอาวุธจำนวนมาก โดยพวกเขาบอกว่าจะได้ไว้ใช้ปราบปรามกลุ่มกบฎต่างๆ ทั้งหมดของพวกเขา ถึงตอนนี้ก็ดูจะตระหนักขึ้นมาว่า ถ้าหากต้องการทำให้ข่าวลือทั้งหลายเกี่ยวกับอัลกออิดะห์ในเยเมนมีความจริงรองรับกันแล้ว พวกเขาก็จะต้องตกอยู่ในสภาพต้องใกล้ชิดกับสหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกจนเกินไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งนี้ในทางเป็นจริงก็มีสัญญาณหลายประการในเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็นต้นว่า การโจมตีทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายซึ่งสงสัยกันว่าเป็นที่มั่นของอัลกออิดะห์

ถ้าหากสหรัฐฯถูกมองว่าเข้าไปแทรกแซงในเยเมนแล้ว ย่อมกลายเป็นเสียงกลองศึกที่จะปลุกเร้าให้เยเมนเกิดความสามัคคีกันอย่างชนิดไม่มีอะไรเทียบเทียม ทั้งนี้ด้วยความรู้สึกต่อต้านผู้รุกราน ความคิดทำนองเดียวกันก็ดูจะบังเกิดขึ้นในกรุงวอชิงตันเช่นกัน ถึงแม้จะมีภาษาสำนวนอันชวนให้หวั่นผวาถึงภาวะโลกาวินาศ ออกมาจากรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน เมื่อเธอพูดถึงสถานการณ์เยเมนว่ากำลังกลายเป็นภัยคุกคามระดับภูมิภาคและกระทั่งระดับโลก

เวลานี้มีการประกาศออกมาแล้วว่าเยเมนจะได้รับความสนับสนุนแน่นอนในเรื่องการปรับปรุงกำลังตำรวจต่างๆ (ไม่ใช่กำลังทหาร) และการประชุมนานาชาติที่นายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ กำหนดจัดขึ้นมาในสิ้นเดือนนี้ (โดยที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝ่ายอเมริกันและฝ่ายซาอุดีอาระเบีย) ดูจะมุ่งเน้นไปที่ข้อเสนอให้ความสนับสนุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ, สังคม, และการเมืองในเยเมน โดยถือเป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่งยวดในการประคับประคองให้ประเทศยังคงรวมตัวกัน ตลอดจนลดทอนความขัดแย้งภายในต่างๆ ที่ดำรงอยู่

เยเมนยังไม่ได้อยู่ในสภาพเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state) แต่ก็ดังที่ มหาตมะ คานธี นักสันติภาพชาวอินเดียเคยพูดเอาไว้ เมื่อถูกถามว่าเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับอารยธรรมตะวันตก การเป็นรัฐที่พอจะทำงานไปได้ (functioning state) คงจะเป็นแนวความคิดที่ไม่เลวนัก คงไม่ใช่เรื่องที่จะได้คำตอบอะไรอย่างรวดเร็วและง่ายๆ ทว่าในคราวนี้ดูเหมือนจะมีการตั้งคำถามที่ถูกต้องเหมาะสมขึ้นมาแล้ว ถ้าหากในเยเมนจะต้องมีการทำสงครามเพื่อเอาชนะนามธรรมอะไรกันแล้ว มันก็ควรเป็นการทำสงครามเพื่อเอาชนะนามธรรมที่สามารถสัมผัสได้และเป็นจริง นั่นก็คือ การเอาชนะความยากจน และเอาชนะหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความยากจน อันได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชั่น

เอียน วิลเลียมส์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Deserter: Bush's War on Military Families, Veterans and His Past ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Nation Books ในนิวยอร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น