xs
xsm
sm
md
lg

แรงผลักดันของสหรัฐฯกำลังส่งเสริม‘วัฒนธรรมปืน’ในเยเมน

เผยแพร่:   โดย: ธาลิฟ ดีน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

US push feeds Yemen’s gun culture
By Thalif Deen
04/01/2010

หลังจากเกิดเหตุมีผู้พยายามระเบิดทำลายเครื่องบินโดยสารในเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมา สหรัฐฯและอังกฤษตลอดจนบางชาติตะวันตกก็ได้ปิดสถานเอกอัครราชทูตของตนในประเทศเยเมนอยู่หลายวัน โดยที่มีรายงานว่าผู้ก่อการร้ายที่พยายามก่อเหตุมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ที่มีฐานอยู่ในประเทศนั้น ถึงแม้การกระทำเช่นนี้อาจตีความได้ว่าเป็นการลดระดับสายสัมพันธ์ แต่อันที่จริงแล้วสหรัฐฯกำลังให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเยเมนเพิ่มขึ้นมาก และคาดหมายได้ว่าความช่วยเหลือดังกล่าวนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกในระยะ 18 เดือนข้างหน้า ขณะที่สหรัฐฯน่าจะเริ่มต้นสงคราม “ในระดับต่ำๆ” ในอาณาบริเวณนี้

นิวยอร์ก – ตอนที่เยเมนปฏิเสธไม่ออกเสียงสนับสนุนญัตติเล่นงานอิรัก ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้ผลักดันเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1990-1991 ผู้แทนสหรัฐฯคนหนึ่งซึ่งเห็นชัดว่าอยู่ในอารมณ์โกรธกริ้ว ได้หันไปยังนักการทูตเยเมน และพูดว่า “นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะได้มีโอกาสออกเสียงคัดค้านญัตติของสหรัฐฯ”

การตอบโต้แก้เผ็ดของสหรัฐฯ ภายหลังการโหวตในเชิงลบคราวนั้น เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ทีเดียว สหรัฐฯไม่เพียงลดระดับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเยเมนเท่านั้น หากยังตัดความช่วยเหลือทางทาหรทั้งหมดที่ให้แก่ประเทศนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีแต่อาวุธของสหภาพโซเวียตเยอะแยะไปหมด

ตั้งแต่เกิดการประจันหน้ากันในห้องประชุมคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งกลายเป็นเรื่องเล่าขานกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็อยู่ในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาอย่างน่าตื่นใจระหว่างความรักกับความความชิงชัง

ความพยายามที่ล้มเหลวเมื่อเร็วๆ นี้ของนักศึกษาชาวไนจีเรียผู้หนึ่งที่จะระเบิดเครื่องบินโดยสารสหรัฐฯ โดยที่เขามีความเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับกลุ่มก่อการร้ายในเยเมน กำลังทำให้สปอตไลต์หวนคืนกลับมาจับจ้องที่ประเทศนี้อีกคำรบหนึ่ง ประเทศซึ่งมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากกับ “วัฒนธรรมปืน” (gun culture) ของตน

มีรายงานว่าในประเทศเยเมนมีปืนพกและปืนเล็กประมาณ 60 ล้านกระบอก แพร่กระจายอยู่ในประชากรราวๆ 21 ล้านคนของประเทศ เยห์ยา อัล มุตอวากิล (Yehya al-Mutawakil) อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย ได้ถูกอ้างอิงว่าเป็นผู้พูดว่า ทุกๆ คนในเยเมนต่างมีปืนพกกันทั้งนั้น ขณะที่สมาชิกของเผ่าชนต่างๆ มีการยกระดับขึ้นไปกว่านี้ด้วยซ้ำ นั่นคือ อาวุธในครอบครองของพวกเขา มีทั้ง ปืนไรเฟิลจู่โจม, เครื่องยิงระเบิด, และปืนกล

อาเหม็ด อัล กิบซี (Ahmed al-Kibsi) ศาสตราจารย์ชาวเยเมนผู้หนึ่ง เคยบอกกับผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษว่า “ก็เหมือนๆ กับที่พวกคุณต้องมีเนกไทนะแหละ ชาวเยเมนก็จะต้องพกต้องถือปืนกันทั้งนั้น”

ระหว่างปี 2002 ถึง 2008 เยเมนได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่าราว 69 ล้านดอลลาร์ และมีบุคลากรทางทหารชาวเยเมน 496 คนเข้ารับการฝึกอบรมภายใต้โครงการการศึกษาและฝึกอบรมทางทหารระหว่างประเทศ (International Military Education and Training program หรือ IMET) ของสหรัฐฯ

วิลเลียม ดี ฮาร์ตุง (William D Hartung) ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านอาวุธและความมั่นคง (Arms and Security Initiative) ซึ่งสังกัดอยู่กับมูลนิธิอเมริกาใหม่ (New America Foundation) ที่มีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก หยิบยกรายงานข่าวต่างๆ ทางสื่อมวลชนขึ้นมาชี้ว่า วอชิงตันคงจะเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารที่ให้เยเมนขึ้นมากมายทีเดียวในช่วง 18 เดือนต่อจากนี้ไป เขาบอกว่าตัวเลขรวมๆ ที่คาดการณ์กันนั้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ หรือใกล้เคียงกับจำนวนที่สหรัฐฯเคยให้แก่เยเมนในยุคคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตลอดทั้งยุค

อย่างไรก็ตาม ฮาร์ตุงบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส(ไอพีเอส)ว่า “ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯที่ให้แก่เยเมนมีลักษณะเป็นเสมือนดาบสองคม”

ในด้านหนึ่ง รัฐบาลเยเมนของประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซอเละห์ (Ali Abullah Saleh) ได้เข้ามาร่วมในการโจมตีปราบปรามพวกอัลกออิดะห์ตลอดจนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์ที่อยู่ภายในและรอบๆ ชายแดนของเยเมน แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาชี้ว่า “รัฐบาลเยเมนนั้นเป็นระบอบปกครองที่ไร้เสถียรภาพที่สุดระบอบหนึ่งของโลก จึงมีอันตรายที่อาวุธและการฝึกอบรมของสหรัฐฯจะหันกลับมาเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯเสียเอง ถ้าหากเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลที่ประเทศนั้น”

อันที่จริงทั้งสหรัฐฯและอังกฤษต่างปิดสถานเอกอัครราชทูตของพวกตนในเมืองหลวงซานา ในวันอาทิตย์(3) ภายหลังมีภัยคุกคามด้านความปลอดภัยจากกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ตั้งฐานอยู่ในเยเมน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกาศอ้างความรับผิดชอบในเหตุโจมตีอันประสบความล้มเหลวเมื่อวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม 2009 ที่มุ่งระเบิดเครื่องบินโดยสารอเมริกันในเที่ยวบินจากยุโรปข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมุ่งสู่สหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงซานากล่าวในเว็บไซต์ของตนว่า ที่ต้องปิดสถานเอกอัครราชทูตอยู่หลายวัน “เนื่องจากมีภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องที่ว่ากลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาระเบีย (al-Qaeda in the Arabian Peninsula หรือ AQAP) จะเข้าโจมตีผลประโยชน์ของอเมริกันในเยเมน”

คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวหาว่า กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “อัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาระเบีย” ซึ่งตั้งฐานอยู่ในเยเมนดังกล่าวนี้ มีการทำงานอย่างใกล้ชิดจริงๆ กับ อุมาร์ ฟารูก อับดุลมุตอลลับ (Umar Farouk Abdulmutallab) นักศึกษาชาวไนจีเรียที่เป็นมือระเบิดผู้พยายามระเบิดเครื่องบินโดยสารอเมริกัน

พวกเจ้าหน้าที่คณะรัฐบาลสหรัฐฯหลายคนกล่าวแสดงความหวั่นวิตกว่า เยเมนกำลังกลายเป็นแหล่งหลบภัยของพวกผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ไปอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นเดียวกับปากีสถานและอัฟกานิสถาน

สหประชาชาตินั้นได้จัดให้เยเมนเป็น 1 ใน 49 ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries หรือ LDCs) ของโลก นั่นหมายความว่าคัดเลือกให้ประเทศนี้เป็นหนึ่งในหมู่ชาติที่ยากจนที่สุดของประเทศยากจนทั้งหลายในโลก ทั้งนี้ในบรรดาชาติตะวันออกกลางด้วยกัน มีเพียงเยเมน (ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีทรัพยากรธรรมชาติอะไร) ที่ถูกจัดให้เป็น LDC นอกจากนั้นเยเมนยังติดอันดับที่ 153 ในดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ (UN's Human Development Index) จากจำนวนรัฐสมาชิกที่นำมาคำนวณทั้งสิ้น 192 ราย

ตามตัวเลขของยูเอ็น ราว 45% ของประชากรทั้งหมดของเยเมนทีเดียวดำรงชีวิตโดยที่มีรายได้ไม่ถึง 2 ดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่จำนวนประชากรของประเทศนี้ ซึ่งเป็นชาติที่มีอัตราการเกิดสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน คาดหมายกันว่าน่าไปถึงระดับ 40 ล้านคนในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ไป

ตอนที่เยเมนเหนือ และเยเมนใต้ ขุดหลุมฝังความแตกต่างผิดแผกทางการเมืองของพวกตนในเดือนพฤษภาคม 1990 และรวมตัวกันเป็นประเทศหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือ สาธารณรัฐเยเมน (Republic of Yemen) นั้น การผนวกรวมตัวกันคราวนั้นได้ถูกเรียกแบบถากถางเย้ยหยันว่า เป็น “การที่ประเทศยากจน 2 ประเทศกลายเป็นประเทศยากจน 1 ประเทศ”

ปัจจุบัน นอกเหนือจากความช่วยเหลือทางการทหาร รวมทั้งการศึกษาและฝึกอบรมทางการทหารแล้ว สหรัฐฯยังให้ความช่วยเหลือแก่เยเมนทั้งทางด้านเงินทุนเพื่อการอยู่รอดของเด็กและสุขภาพเด็ก, ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา, และเงินทุนเพื่อการควบคุมยาเสพติด ตลอดจนกิจกรรมต่อต้านปราบปรามการก่อการร้าย โดยในเรื่องหลังสุดนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯแถลงว่า โครงการต่างๆ ที่ได้รับเงินทุนจากสหรัฐฯจะมุ่งไปที่การเสริมสร้างสมรรถนะของหน่วยงานต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย, หน่วยรบพิเศษ, และหน่วยรักษาชายฝั่ง เพื่อออกปฏิบัติภารกิจด้านรักษาความปลอดภัย และสนับสนุนเป้าหมายด้านการต่อสู้เอาชนะการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ตลอดจนมุ่งไปที่การพัฒนาเพิ่มพูนสมรรถนะของรัฐบาลเยเมนในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและควบคุมพื้นที่ชายแดนของตน

รัฐบาลเยเมนซึ่งยังคงต้องทำศึกปราบปรามพวกผู้ก่อความไม่สงบติดอาวุธในภาคใต้ของประเทศ ยังได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายอาวุธทำลายล้างสูง(weapons of mass destruction) อีกด้วย

ฮาร์ตุงแห่งโครงการริเริ่มด้านอาวุธและความมั่นคง บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสว่า สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (US Central Intelligence Agency หรือ CIA) ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้ายในเยเมนด้วย แต่ไม่ทราบว่ามีการใช้งบประมาณไปมากน้อยเพียงใด

“มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การที่สหรัฐฯมีบทบาทที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในความพยายามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้ายในเยเมน อาจจะกลายเป็นการปลุกเร้าทำให้พวกหัวรุนแรงได้ประเด็นที่จะเรียกร้องรวบรวมความสนับสนุนสำหรับกิจกรรมการก่อการร้ายที่มีต้นกำเนิดจากที่นั่น” เขาชี้

ฮาร์ตุงบอกว่า เมื่อมองกันถึงสาระสำคัญแล้ว คณะรัฐบาลโอบามา “กำลังริเริ่มสงครามในระดับต่ำๆ ในเยเมน ที่ไม่มีหรือแทบจะไม่มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับผลต่อเนื่องที่อาจจะเกิดขึ้นมาจากสงครามดังกล่าว”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น