xs
xsm
sm
md
lg

“โตโยต้า” เจอสอบปัญหาคันเร่งในญี่ปุ่นอีก - ฮุนไดหยุดขายโซนาตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โตโยดะ เข้าพูดคุยกับสมาชิกพรรครีพับลิกัน ก่อนเข้าให้ปากคำกับรัฐสภาสหรัฐฯ
เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้าสอบสวนคำร้องเรียนกรณีต่างๆ จากปัญหาคันเร่งค้างและจู่ๆ เกิดทำงานขึ้นมาของรถยนต์โตโยต้าภายในประเทศ รัฐมนตรีคมนาคมเปิดเผยเมื่อวันพุธ(24) ระหว่างซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้เข้าให้ปากคำต่อสภาคองเกรส

กระทรวงคมนาคมได้รับหนังสือร้องเรียน 38 คำร้องเกี่ยวกับปัญหานี้ระหว่างปี 2007 ถึง 2009 รัฐมนตรีว่าการ เซจิ มาเอฮารา บอกกับผู้สื่อข่าว “เราต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังในกรณีนี้” เขากล่าว

คำแถลงนี้มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เข้าให้ปากคำกับณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและการปฏิรูปรัฐบาลของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่มีความกังวลในกรณีเรียกคืนรถครั้งมโหฬาจากข้อบกพร่องต่างๆที่เชื่อมโยงกับอุบัติเหตุหลายครั้งและมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนในสหรัฐฯ

โตโยดะ หลานชายผู้ก่อตั้งบริษัทที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วและผู้บริหารคนอื่นๆ ของโตโยต้า ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการจัดการกับปัญหาที่ล่าช้า

ในการให้ปากคำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและการปฏิรูปรัฐบาลของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โตโยดะยอมรับว่าบริษัทได้หลงทางและความสำนึกในเรื่องลำดับความสำคัญ จากการพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วเพื่อขึ้นสู่อันดับหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ของโลก ซึ่งในที่สุดแล้วก็ทำให้ต้องมีการเรียกคืนรถกลับมาซ่อมจุดบกพร่องเป็นจำนวนมหาศาล ตลอดจนทำให้ผู้บริโภคสูญเสียความไว้วางใจ

“ผมเกรงว่าฝีก้าวที่เราเจริญเติบโตขึ้นมา อาจจะรวดเร็วเกินไป” โตโยดะยอมรับ พร้อมระบุว่าขณะที่ความปลอดภัยเคยถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกสุดของโตโยต้า แล้วจึงติดตามมาด้วยเรื่องคุณภาพและปริมาณ ทว่าการจัดลำดับความสำคัญดังกล่าวได้เกิดความ “สับสน” จากการขยายตัวของธุรกิจของบริษัท

มาเอฮารากล่าวต่อว่า จำนวนคำร้องเรียนที่มีต่อโตโยต้าในญี่ปุ่น ไม่ได้เลวร้ายกว่าความกังวลที่มีต่อรถยนต์ของบริษัทคู่แข่งภายในประเทศอื่นๆ แต่กระทรวงคมนาคมตัดสินใจรื้อฟื้นกรณีต่างๆขึ้นมาใหม่ตามหลังการสืบสวนของสหรัฐฯ

กระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าได้รับหนังสือร้องเรียนทั้งหมด 134 คำร้องที่สัมพันธ์กับปัญหาคันเร่งค้างและจู่ๆ เกิดทำงานขึ้นมาของรถยนต์ยี่ห้อต่างๆในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “จำนวนคำร้องเรียนเกี่ยวกับรถของโตโยต้า ยังไม่ได้เกินเลยจากสัดส่วนที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรถทั้งหมดที่จดทะเบียน” เซจิ มาเอฮาระ รัฐมนตรีคมนาคมญี่ปุ่นแถลง “ทว่า เมื่อพิจารณาจากประเด็นปัญหาที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว เราจึงปรารถนาที่จะตรวจสอบรถของโตโยต้า”

ด้าน นายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโตยามะ แสดงความหวังว่า โตโยต้า จะใช้โอกาสเข้าให้ปากคำต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชน

คาดหมายกันว่าในระหว่างที่ไปให้ปากคำ พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯจะตั้งคำถามฉกาจฉกรรจ์เอากับโตโยดะ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าโตโยต้าทราบทีแรกสุดเมื่อใดว่ารถของบริษัทมีปัญหาเรื่องคันเร่งเกิดทำงานอย่างกระทันหัน และได้พยายามหาทางทำให้หน่วยงานกำกับตรวจสอบของทางการสหรัฐฯมองดูปัญหานี้อย่างเบาบางเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่

ก่อนหน้าโตโยดะ ผู้บริหารสูงสุดอีกคนหนึ่งของเครือโตโยต้า คือ จิม เลนต์ซ ซีอีโอของกิจการด้านการตลาดในสหรัฐฯ ของโตโยต้า ก็ได้ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการพลังงานและการค้าของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯในวันอังคาร(23) โดยที่เขาก็ได้ยอมรับว่า บริษัทเติบโตขยายตัวรวดเร็วเกินกว่า “ทรัพยากรทางวิศวกรรมของเรา” รวมทั้ง “สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราไม่ได้มองที่ลูกค้าของเรา”

ขณะที่ปัญหาของโตโยต้ากำลังสร้างความเสียหายให้แก่ชื่อเสียงด้านคุณภาพของบริษัทแห่งนี้ ข่าวคราวการเรียกคืนรถมาซ่อมแซมจุดบกพร่องจากโรงงานของบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ ก็ยังคงมีออกมาไม่ขาดสาย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว

เมื่อวันอังคาร ฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ ประกาศหยุดการขายรถยนต์รุ่น โซนาตา 2011 ในสหรัฐฯ เนื่องจากอาจมีข้อบกพร่องตรงสลักล็อกประตูหน้า และบอกด้วยว่าจะเรียกคืนรถ 47,300 คัน หรือเกือบทั้งหมดในเกาหลีใต้ กลับมาซ่อมแซม
กำลังโหลดความคิดเห็น