xs
xsm
sm
md
lg

จีนกำลังพยายามลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China tries to cool down
By Robert M Cutler
13/01/2010

จีนกำลังเริ่มใช้มาตรการอย่างเช่น การกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารต่างๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ธนาคารทั้งหลายต้องดำรงเงินสำรองเอาไว้มากขึ้น ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นความพยายามลดทอนผลกระทบด้านลบของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งปักกิ่งนำออกมาใช้ตลอดระยะกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ในเวลาที่จะต้องพยายามประคับประคองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ให้ได้ ท่ามกลางวิกฤตทางการเงินที่แผ่ลามไปทั่วโลก อย่างไรก็ดี แม้จะมีความเคลื่อนไหวในช่วงหลังๆ เหล่านี้ ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ปักกิ่งจะต้องงัดเอาแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาใหม่อีกรอบในระยะต่อไปของปีนี้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็จะทำให้ความเสี่ยงของทั่วโลกเพิ่มระดับขึ้นไปอีกมาก

มอนทรีล, แคนาดา – เวลานี้ประเทศจีนเพิ่งเข้าสู่ (หรือกำลังพยายามที่จะเข้าสู่) ระยะแห่งการผ่อนคลายลดทอนการใช้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งตามการประมาณการที่เชื่อถือได้ของหลายๆ รายระบุว่า เป็นปัจจัยที่มีส่วนในการสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในะยะเวลา 9 เดือนแรกของปี 2009 ถึงราว 95% ทีเดียว

กระนั้นก็ตาม ตามรายงานของ ไฉซิน มีเดีย (Caixin Media) กลุ่มธุรกิจสื่อที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง ในระหว่างสัปดาห์เต็มๆ สัปดาห์แรกของเดือนมกราคมนี้ บรรดาธนาคารพาณิชย์ได้จีนได้มีการปล่อยเงินกู้ออกไปเป็นมูลค่าถึงประมาณ 600,000 ล้านหยวน (88,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ถึงแม้พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบภาคธนาคาร ตลอดจนธนาคารกลางของประเทศ ที่มีชื่อว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People's Bank of China หรือ PBoC) จะได้พยายามออกคำชี้แนะในทิศทางตรงกันข้าม

ตัวเลขการปล่อยกู้ดังกล่าวซึ่งตามรายงานบอกว่าถือเป็นการสร้างสถิติสูงสุดใหม่ในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมาทีเดียว อาจจะเป็นผลมาจากที่มีการคาดการณ์กันว่า คณะกรรมการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารแห่งประเทศจีน (China Banking Regulatory Commission) ตลอดจนหน่วยงานดูแลภาคการเงินและการธนาคารอื่นๆ จะต้องมีความเคลื่อนไหวอย่างอื่นๆ อีกในสัปดาห์นี้ (หรือเป็นไปได้ว่า การปล่อยกู้ของพวกธนาคารพาณิชย์นั่นแหละที่เป็นชนวนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวเหล่านี้ขึ้นมา) ทั้งนี้ ปรากฏว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนก็ได้เคลื่อนไหวนำเอามาตรการลดสภาพคล่องและลดความเสี่ยงออกมาใช้จริงๆ โดยประกาศเมื่อวันอังคาร(12) ขึ้นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (reserve requirement ratio) ของธนาคารทั้งหลายไป 0.5% ซึ่งทำให้ธนาคารเหล่านี้ต้องดำรงเงินสำรองเพิ่มขึ้นตามส่วน

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้จัดการสำรวจความเห็นของพวกนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผลปรากฏออกมาว่า พวกเขาวินิจฉัยว่าปักกิ่งคงจะยังไม่ดำเนินการในเรื่องนี้จนกว่าจะถึงเดือนเมษายนไปแล้ว ถึงแม้ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมา ทางการจีนจะได้สั่งห้ามการปล่อยกู้แก่อุตสาหกรรมอย่างเช่น เหล็กกล้า และคอนกรีตไปแล้วก็ตามที แต่ความพยายามในเวลานี้อยู่ในลักษณะที่เป็นการบังคับให้เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อกันในวงกว้างยิ่งขึ้น และดูจะมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ มากขึ้นด้วย

มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ความเคลื่อนไหวให้ดำรงทุนสำรองเพิ่มขึ้นคราวนี้ มีชนวนเหตุมาจากการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ในระยะสั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ตั๋วเงินของธนาคารกลางจีนมูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านล้านหยวน มีกำหนดถึงเวลาไถ่ถอนในระยะ 4 สัปดาห์จากนี้ไป การปรับขึ้นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง จะทำให้สภาพคล่องที่ทะลักเข้าสู่ตลาดการเงินเพราะการไถ่ถอนตั๋วเงินมูลค่ามากมายดังกล่าว หดหายไปถึงประมาณหนึ่งในสามทีเดียว ทั้งนี้ตามการศึกษาของ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล (China International Capital) บริษัทดำเนินกิจการวาณิชธนกิจและบริการด้านการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

ในอีกด้านหนึ่ง ตัวเลขข้อมูลใหม่ๆ ที่ทยอยออกมาก็บ่งชี้ให้เห็นว่า การที่ยอดปริมาณการนำเข้าและส่งออกในเดือนธันวาคมพุ่งทะยานลิ่ว จนกระทั่งทัดเทียมกับของระดับกลางปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตนั้น น่าจะมีบทบาทต่อการตัดสินใจเคลื่อนไหวของทางการเช่นกัน ถึงแม้ถ้าพิจารณาจากตัวเลขที่คำนวณโดย แดนสเก รีเสิร์ช Danske Research (เหตุที่ต้องใช้ตัวเลขของแดนสเก รีเสิร์ช เนื่องจากหน่วยงานด้านสถิติของจีนเองรายงานเพียงตัวเลขแบบเปรียบเทียบปีต่อปี) ก็จะพบว่าการที่ตัวเลขของเดือนธันวาคม 2009 ดูสิ่งลิ่วเช่นนี้ (ส่วนหนึ่งแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด)เนื่องมาจากตัวเลขเดือนธันวาคม 2008 ที่ใช้เป็นฐานเปรียบเทียบแบบปีต่อปีนั้น อยู่ในระดับที่ต่ำเอามากๆ

เมื่อแยกพิจารณาเฉพาะด้านการนำเข้า ปรากฏว่าอุปสงค์ในวัตถุดิบ (โดยเฉพาะอุปสงค์ของภาครถยนต์และภาคเหล็กกล้า) ก็มีส่วนแสดงบทบาททำให้การนำเข้าในเดือนธันวาคมเพิ่มฉิว ส่วนทางด้านการส่งออก ปรากฏว่าความต้องการสินค้าส่งออกจีนของพวกประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ทำท่าจะกำลังมีความคึกคักขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ปรากฏการณ์อย่างหลังสุดนี้สมควรที่จะต้องคอยเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากถ้าหากอุปสงค์ของภายนอกประเทศต่อสินค้าออกจีน เกิดมีอันหล่นฮวบฮาบลงมาแล้ว ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จีนจะต้องหวนนำเอามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาใช้ใหม่ในระยะต่อไปของปีนี้ เพื่อที่จะบรรเทาอัตราการว่างงานในประเทศ และลดทอนโอกาสที่จะเกิดความไม่สงบทางการเมืองขึ้นมา แต่ความเคลื่อนไหวเช่นนั้นก็อาจจะส่งผลให้ระดับราคาของทั่วโลกจมถลำลงไปในวิกฤตแห่งการมีผลผลิตล้นเกิน ตลอดจนอาจทำให้พวกคู่ค้าของจีนนำเอามาตรการแบบลัทธิกีดกันการค้าออกมาใช้ตอบโต้

อย่างไรก็ตาม มองเฉพาะความเคลื่อนไหวของจีนที่เพิ่มความมุ่งเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ อย่างเช่น การปรับขึ้นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง มันก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าทางการจีนกำลังหวั่นเกรงว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังขยับสูงขึ้น ทั้งนี้ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงย่อมกระตุ้นส่งเสริมให้พวกเงินเก็งกำไรร้อนๆ ทั้งหลายกระโจนเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้จีนจะได้ยกเลิกมาตรการกระตุ้นที่ใช้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ทำให้ฟองสบู่ภาคที่อยู่อาศัยแตกไปแต่อย่างใด

การเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อ อาจสามารถสกัดกั้นการเก็งกำไรดังกล่าวนี้ลงไปได้บ้าง เวลานี้การเก็งกำไรในภาคที่อยู่อาศัยของจีน ทำให้เราได้เห็นผู้บริโภคกู้ยืมเงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อจะปล่อยขายต่อให้แก่เจ้าของรายใหม่ในเวลาไม่ถึงปี สภาพเหล่านี้จึงกำลังเริ่มทำให้ผู้สังเกตการณ์บางคนคิดเปรียบเทียบไปถึงภาวะราคาซึ่งพุ่งเอาๆ ในตลาดอเมริกันก่อนที่ฟองสบู่ที่นั่นจะระเบิด

ความหวั่นกลัวอัตราเงินเฟ้อเช่นนี้ ยังน่าที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนดูน่าจะฟื้นตัวต่อไปได้อีก ตามตัวเลขที่มีการปรับปรุงล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) พยากรณ์เอาไว้ว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะขยายตัวได้ 9% ขยับขึ้นจาก 8.5%ในปีที่แล้ว ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็คาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นไปถึงระดับ 3 - 4%

ทว่าสิ่งที่ดูจะขัดแย้งกับคำทำนายเช่นนี้ก็คือ พวกผู้สังเกตการณ์ที่เป็นสื่อมวลชนกลับชี้ชวนตั้งเป็นปุจฉาขึ้นมาว่า อุปสงค์ในต่างประเทศต่อสินค้าที่ผลิตขึ้นในจีนนั้นจะฟื้นตัวเพิ่มทวีขึ้นแน่แล้วหรือ จากนี้ก็เลยทำให้เกิดคำถามต่อไปด้วยว่า หากความต้องการในต่างประเทศไม่กระเตื้องแล้ว คนจีนภายในประเทศเองจะยังสามารถซื้อรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในแดนมังกรได้ต่อไปเรื่อยๆ จริงหรือ แม้กระทั่งถ้าเราสมมุติว่าทางการจีนประกาศขยายมาตรการกระตุ้นเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์แล้วด้วย

เมื่อพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเงินที่เกาะกลุ่มเกี่ยวเนื่องกันอยู่เช่นนี้ จึงไม่ควรที่จะประหลาดใจเลยว่า ดัชนีหุ้นรวมของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange Composite หรือ SSEC) หล่นลงมากว่า 2.5% ในวันพุธ(13) จนปิดในระดับต่ำกว่า 3,200 จุด กระนั้นก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีก ก็คือการที่ตลาดหลักทรัพย์สำคัญๆ อื่นๆ ทั้งหมดในเอเชียต่างก็ลงสู่แดนลบด้วย บางตลาดลงค่อนข้างแรงทีเดียว เรื่องนี้เป็นการยืนยันการวิเคราะห์ที่ว่า “ตราบเท่าที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ยังคงถูกใช้เป็นมาตรวัดความกระหายที่จะเสี่ยงของพวกนักลงทุนระหว่างประเทศ ... เราก็ควรคาดหมายได้ว่าตลาดหุ้นในเอเชียอื่นๆ ก็จะต้องบรรเทาการไต่ขึ้นไปของพวกตนในอนาคตอันใกล้นี้” (ดูเรื่อง New Year revels continue, Asia Times Online, January 9, 2010) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ดัชนี SSEC สามารถที่จะดีดกลับมาอยู่เหนือระดับ 3,200 จุดได้หรือไม่ เนื่องจากระดับนี้เองเป็นขีดบนของแถบขึ้นลงของการซื้อขายที่ผ่านมา

ดังที่ได้วิเคราะห์เอาไว้ในเดือนที่แล้ว (ดูเรื่อง Blindfolded on a cliff edge, Asia Times Online, December 18, 2009) การพุ่งทะยานของหุ้นจีนในฤดูร้อนปีที่แล้ว “เป็นฝีมือการขับดันของพวกเงินเก็งกำไรร้อนๆ ล้วนๆ ภายหลังจากที่รัฐบาลทำการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ และการผลิตของพวกวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”

ทางด้านเงินหยวนนั้นผูกตรึงเอาไว้ที่ 6.83 หยวนเท่ากับ 1 ดอลลาร์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หลังจากที่ปรับค่าเพิ่มขึ้นไป 21% ภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้านั้น เวลานี้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนได้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากเป็นที่คาดการณ์กันทั่วไปว่าเงินหยวนจะได้รับอนุญาตให้แข็งค่าขึ้นอีกในปี 2010

เงินร้อนๆ ยังอาจจะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้อีกในปี 2010 นี้ ถ้าหากพวกนักลงทุนต่างชาติทุ่มพนันวางเดิมพันหนักๆ ว่าจีนจะต้องยอมปรับขึ้นค่าเงินหยวน

ดร.รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก
กำลังโหลดความคิดเห็น