xs
xsm
sm
md
lg

พึงระวัง - จีนลดการถือพันธบัตรสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

จีนเดินหน้าลดการถือครองพันธบัตรของกระทรวงการคลังแห่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยชี้ไปยังปัญหาว่าด้วยความยากลำบากของผู้ซื้อต่างชาติที่จะซื้อตราสารหนี้ของสหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณเงินดอลลาร์ที่หมุนเวียนนอกแผ่นดินสหรัฐฯ นั้นมีความไม่เพียงพอ แต่นั่นไม่ใช่ว่าจีนคิดจะดันเงินหยวนขึ้นแย่งชิงบทบาทของเงินดอลลาร์ เพราะมันเป็นเรื่องที่แจ่มชัดมาตลอดว่าทางการปักกิ่งไม่ต้องการให้เงินหยวนเข้าไปแทนที่เงินดอลลาร์ ต่อให้เงินหยวนมีความคล่องตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ตาม และในเวลาเดียวกัน วิกฤตการเงินของกรีซก็ช่วยยุติความคิดของผู้คนที่เล็งว่าเงินยูโรจะก้าวขึ้นมาแทนที่เงินดอลลาร์ได้หรือไม่

มอนทรีออล – ข่าวพาดหัวของสื่อสารพัดยี่ห้อพากันประกาศว่า จีนมิได้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกต่อไปแล้ว อาทิ ค่ายบลูมเบิร์ก นิวส์ รายงานว่าการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จีนดำเนินอยู่นั้น แตะระดับสูงสุดที่ 801,500 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นมาก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ และต่อมา การณ์ปรากฏว่า จีนมีธุรกรรมเกี่ยวกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นยอดขายสุทธิต่อเนื่องกัน 2 เดือนเข้าจนได้ กล่าวคือยอดของเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกนับจากปลายปี 2007 ที่จีนลดการถือครองต่อเนื่องกันสองเดือน

กระนั้นก็ตาม ความกังวลของจีนต่อประเด็นความปลอดภัยในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่ข่าวใหม่ เมื่อ 9 เดือนก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า เคยแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ให้เป็นที่รับทราบในทางสาธารณะมาแล้ว ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหลายต่อหลายคนก็ดาหน้ากันเปิดความวิตกต่อปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

เป็นที่ทราบกันอย่างดีมาได้ระยะหนึ่งแล้วว่า จีนหยุดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว มาในระยะนี้บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนที่เกี่ยวข้องอยู่ในด้านนโยบายการเงิน พากันชี้ไปยังปัญหาว่าด้วยความยากลำบากของผู้ซื้อต่างชาติที่จะซื้อตราสารหนี้ของสหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณเงินดอลลาร์ที่หมุนเวียนนอกแผ่นดินสหรัฐฯ นั้นมีความไม่เพียงพอ แม้ปัญหานี้ยังไม่เป็นปัญหาจริงๆ ในปัจจุบัน แต่มันอาจกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้ในไม่ช้า

ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีนได้ประกาศความคิดเมื่อปีที่แล้ว ในเรื่องการเฟ้นหาสกุลเงินตราเพื่อใช้เป็นตัวกลางในทางระหว่างประเทศ มาแทนที่เงินดอลลาร์ กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนได้ออกมาสร้างความกระจ่างแล้วว่า จีนมิได้ปรารถนาให้เงินหยวนมาทำบทบาทดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการที่จะรับบทสกุลเงินเพื่อเป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ต่อให้เงินหยวนมีความคล่องตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ตาม

การเดินเกมอย่างนี้ ในบางแง่มุมแล้ว ทำให้นึกถึงสถานการณ์หนึ่งในทศวรรษ 1950 ที่ว่าถ้ามองเผินๆ จะเสมือนว่าจะแตกต่างกันมาก ในครั้งนั้น ประธานเหมาเจ๋อตง (อยู่ในยุคที่มีความขัดแย้งทางอุดมการกับสหภาพโซเวียตแล้ว) ยืนยันกับนิกิต้า ครุซเชฟ ผู้นำแห่งพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งมีความโน้มเอียงนิยม “ลัทธิหลายศูนย์กลาง” (polycentrism) ภายใน “ขบวนการคอมมิวนิสต์โลก” โดยบอกว่าสหภาพโซเวียตควรดำรงความเป็นหัวแห่งโลกสังคมนิยมที่ยึดมั่นในหลักการเอาไว้ ผลที่ตามมาคือ ฝ่ายผู้นำโซเวียตย้อนคืนด้วยการเล่นคำว่า “ท่านต้องการหัวไปทำอะไร เอาไปตัดทิ้งหรือ” แต่แน่นอนว่า จีนไม่ได้ถือครองตราสารหนี้ของโซเวียตอยู่ในช่วงเวลานั้น

หันไปทางเงินยูโรบ้าง มันเป็นเรื่องกระจ่างแล้วว่าเงินยูโรไม่เหมาะสมเอาเสียเลยที่จะเล่นบทสกุลเงินเพื่อเป็นทุนสำรองฯ แม้ฝ่ายต่างๆ จะเคยมองๆ เรื่องนี้กันบ้างในระยะที่ผ่านมา ทั้งนี้ หลายต่อหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ล้วนบั่นทอนโอกาสที่เงินยูโรจะขึ้นมาเป็นคู่ท้าชิงตำแหน่งสกุลเงินเพื่อเป็นทุนสำรองฯ แทนที่เงินดอลลาร์ อันที่จริง เงินยูโรเคยถูกมองเป็นสกุลเงินที่เหมาะที่สุดในบทบาททุนสำรองฯ เพราะมันเป็นสกุลเงินที่ไม่มีรัฐบาลใดเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

รัฐมนตรีคลังของประเทศต่างๆ ในยุโรปดูเหมือนจะยังมองไม่เห็น หรือไม่พวกเขาก็กำลังหลับตาไม่ยอมมองให้เห็นว่า การทดสอบความน่าเชื่อถืออีกหลายยกจากตลาดการเงินกำลังจะย่างกรายมาถึงอยู่แล้ว เริ่มต้นด้วยกรีซซึ่งจำเป็นจะต้องรีไฟแนนซ์หนี้สินเป็นจำนวนมากกว่า 22,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ด้านนายกรัฐมนตรีฌอง-โคลด จุงค์เกอร์ แห่งลักเซมเบิร์ก ประกาศสู่สาธารณชนว่า การขาดความเชื่อมั่นในค่าเงินยูโรเป็นเรื่องที่ “ไร้เหตุผล”

อันที่จริงแล้ว ความเชื่อมั่นอันไร้เหตุผลที่มีต่อเงินยูโรนั่นแหละได้พาให้เงินยูโรฟื้นตัวมาในระยะนี้ พร้อมกับพาตลาดทุนให้พลอยดีไปด้วยกัน อาทิ เมื่อสัปดาห์ที่สองของเดือนนี้ เงินยูโรได้แรงอัดฉีดจากความเชื่ออันปราศจากมูลฐาน ที่ว่าอียูจะมีแผนเด็ดๆ มาช่วยกรีซ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินยูโรก็แข็งแรงต่อเนื่องเมื่อพวกรัฐมนตรีคลังของกลุ่มอียูไม่ได้สร้างแผนใดๆ ไปช่วยกรีซเลย โดยเพียงตัดสินใจบอกกรีซว่าให้พยายามให้มากขึ้น!

จุงค์เกอร์ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า เขาคิดว่าไม่เป็นการฉลาดเลยที่จะไปบอกตลาดซึ่ง“ไม่อิงอยู่กับเหตุผล” ว่าที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอียูตัดสินใจจะทำอะไรกันบ้าง จุงค์เกอร์บอกว่ามันเป็นการ“เหลวไหล”ที่จะไปแนะให้กรีซไปลุ้นความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พอกล่าวอย่างนั้น จุงค์เกอร์เลยกลายเป็นว่าไปเย้ยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยที่แนะให้กรีซหันไปหาไอเอ็มเอฟ อาทิ ศาสตราจารย์ นูรีล รูบินี (Nouriel Roubini) คนดังแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หรืออีกหนึ่งคนดังคับโลกคือ โมฮาเหม็ด เอ เอล-เอริอัน (Mohamed A El-Erian) ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานร่วมคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน ของค่ายพิมโก (PIMCO – Pacific Investment Management Co. LLC ซึ่งบริหารกองทุน Total Return Fund กองทุนรวมเจ้าใหญ่ที่สุดของโลก) ทั้งสองท่านได้ย้ำหลายครั้งในทางที่สนับสนุนแนวคิดที่แนะให้กรีซหันไปหาไอเอ็มเอฟ

ก่อนเข้าสู่สุดสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมานี้ ตลาดหุ้นย่านเอเชียปรับตัวสูงขึ้นอย่างคึกคักราวกับจะเห็นใจพรรคพวกในตลาดทางยุโรปซึ่งถูกปะยี่ห้อว่า“ไม่อิงอยู่กับเหตุผล” นี้เป็นเครื่องสะท้อนถึงความอดทนและใจกว้างต่อความเสี่ยง กระนั้นก็ตาม แนวโน้มนี้คงไม่สามารถยืนระยะได้นาน มันคงเป็นดังที่ผมได้ชี้ไว้เมื่อสองเดือนที่แล้ว (ดูเรื่อง China tries to cool down, Asia Times Online, January 14, 2010) โดยผมบอกไว้ว่าเมื่อการลงทุนภายในประเทศของจีนอ่อนตัวลง เพราะเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถึงกาลปิดก๊อก จีนจะเผชิญกับภัยสำคัญประการหนึ่งคือ อุปสงค์จากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนภาคส่งออกของจีน จะพลอยยุติลงด้วย

ถ้าจีนลงเอยด้วยการเพิ่มความเข้มงวดมากเกินไป จีนจะเป็นฝ่ายที่บาดเจ็บยับเยินจากภาวะชะลอตัวที่ต้องเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เข้าจนได้ ในเมื่อแรงเติบโตที่มีอยู่ในสหรัฐฯ นั้นมีขึ้นมาได้ด้วยพลังการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เนรมิตโดยมาตรการทางการคลังของภาครัฐ ทั้งนี้ เมื่อแรงอัดฉีดตรงนี้ปิดฉากไป เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ย่อมจะต้องปรับตัวกันใหม่เพื่ออยู่ให้รอดกับสภาพการณ์แท้จริง

เมื่อถึงตอนนั้น จีนมีแนวโน้มว่าจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปสงค์ต่างชาติด้วยมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศอีกรอบหนึ่ง ซึ่งนั่นคืออันตรายแฝงที่ต้องจับตา เพราะมันอาจนำไปสู่ปัญหาศักยภาพการผลิตล้นเกินในระดับโลก แล้วสิ่งที่จะตามมาคือ ระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ที่หั่นต้นทุนสู้จีนไม่ได้ก็จะปิดฐานการผลิต พร้อมกับเกิดปัญหาการว่างงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แล้วจึงตามด้วยการเหือดหายของพลังการบริโภคในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกระทบไปทวีความรุนแรงของปัญหาในภาคส่งออกของจีนทับซ้อนขึ้นไป ลงท้ายแล้วก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่นำพาเศรษฐกิจโลกให้ควงสว่านร่วงดิ่งลงเหวไปด้วยกันหมด

สำหรับการเฟ้นหาสกุลเงินเพื่อเป็นทุนสำรองแทนเงินดอลลาร์ ตัวเลือกที่ชื่อว่ายูโรเป็นอันหลุดจอเรดาร์ เพราะถูกสอยร่วงไปด้วยหมัดฮุกอย่างแรงในกรณีของวิกฤตเศรษฐกิจกรีซ ตัวเลือกที่ยังเหลืออยู่ก็มีแค่เงินหยวนของจีน กับเงินเยนของญี่ปุ่น แต่เจ้าของเงินหยวนเขาก็ประกาศแล้วว่าไม่ต้องการสร้างปัจจัยเอื้อที่จะทำให้หยวนกลายเป็นสกุลเงินเพื่อเป็นทุนสำรอง ตัวเลือกจึงเหลือแค่เพียงเงินเยน กระนั้นก็ตาม เงินเยนก็อยู่ในภาวะอ่อนแอด้วยภาระหนี้ภาครัฐอันมหาศาล แถมระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังหมิ่นเหม่จะถอยกลับสู่ภาวะเงินฝืด ภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้ เงินเยนก็ย่อมไม่ใช่ตัวเลือกที่มีพลังเพียงพอจะมาแทนที่เงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ได้เช่นกัน

ดร.รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (http://www.robertcutler.org) จบการศึกษาจากเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาเป็นนักวิจัยและเป็นอาจารย์ในหลายมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสที่สถาบันยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ในสังกัดของมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton) ประเทศแคนาดา นอกจากนั้น เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในหลายๆ สาขาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น