xs
xsm
sm
md
lg

ถูกบังตา-คลำทางเปะปะ ณ ริมปากเหว

เผยแพร่:   โดย: รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Blindfolded on a cliff edge
By Robert M Cutler
17/12/2009

ตลาดหุ้นที่คว่ำคะมำหมดสภาพในประเทศจีน อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ความหื่นกระหายต่อผลิตภัณฑ์จำพวกเสี่ยงสูงกำไรสูงของนักลงทุนทั่วโลก ได้ลดต่ำวูบลงมากแล้ว เพราะว่า ด้วยข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาให้ได้ประจักษ์กัน คนพวกนี้คลำทางมาจนได้เจอได้ตระหนักกับความจริงว่า ภาพเศรษฐกิจจีนที่งามหรูนั้น แท้จริงเป็นผลจากเงินร้อนที่พันอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งทางการจีนอัดฉีดเข้าไปอย่างมหาศาล ในการนี้ ตัวเลขการส่งออกและความวิตกต่อการฉ้อโกงในแบงก์ ล้วนเป็นเสมือนเสียงปลุกให้ตื่นจากฝัน เพื่อหนีตายเสียตั้งแต่ยังหนีทัน

มอนทรีล, แคนาดา – ถ้าตลาดหุ้นจีนยังคงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงระดับความกระหายที่นักลงทุนทั่วโลกมีต่อความเสี่ยง ดังที่นักวิเคราะห์มองเห็นและระบุไว้เมื่องสองสามเดือนมาแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ความกระหายอยากได้ดังกล่าวเริ่มลดตัวลงแล้วในระยะที่ผ่านมานี้ อาจเป็นได้ว่า คนเหล่านั้นได้ซึมซับรับรู้ถึงการลวงให้หลงเชื่อด้วยข้อมูลสถิติ ซึ่งนับวันแต่จะถูกเปิดโปงตัวออกมา

การที่คนเหล่านั้นเทขายหุ้นหอบเงินออกจากตลาดหุ้นในจีน อาจจะเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกับการเปิดข้อมูลใหม่ที่เพิ่งออกมาเมื่อไม่นานนี้ อันเป็นการเตือนถึงการฉ้อโกงในแบงก์ที่จีน กรณีหนึ่งในนั้นคือ การที่รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ถูกระบุว่ามีการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานในเครือที่จีนที่อาจเข้าข่ายฉ้อโกง ทั้งนี้ ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสื่อมวลชนในจีนว่า การขาดทุนของลูกค้าอาจมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทีเดียว

ไม่ว่าต้นเหตุจะเป็นอะไรกันแน่ก็ตาม ทั้งทางการจีนและตลาดหุ้นโลกต่างไม่ได้แสดงปฏิกิริยาในทางที่เอื้อแก่ข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ว่า การส่งออกของจีนลดลง “แค่”1.2% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขเปรียบเทียบต่อปีของเมื่อเดือนตุลาคมนั้น มีการหดตัวรุนแรงคือ 13.7%

คำแถลงของรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายนที่บอกไว้ว่าจะไม่ลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ส่งผลขับเคลื่อนให้ค่าเฉลี่ยของหุ้น มีการปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงนั้น แต่มันกลับชะงักงันในเดือนพฤศจิกายน แม้จะมีการปรากฏตัวของแนวโน้มขาขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม ข่าวที่ว่าเงิน 8 ล้านล้านหยวน (ราว 1.17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่เป็นเป้าหมายการปล่อยกู้จากภาครัฐสำหรับปี 2010 เป็นตัวเลขที่ลดต่ำลงกว่าตัวเลขปี 2009 ข่าวดังกล่าวนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ ในเมื่อตัวเลขที่ว่านี้ก็ยังสูงเป็นสองเท่าของตัวเลขปี 2008

เงินที่ได้มาง่ายๆ ด้วยต้นทุนต่ำๆ ได้ส่งผลในทางที่หนุนให้เกิดการเก็งกำไรอย่างเข้มข้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ตลอดจนภายในตลาดหลักทรัพ์ ภาคเศรษฐกิจเหล่านี้อยู่ในสภาพเฟ้อฟองสบู่หนักหนาอยู่แล้ว รัฐบาลจึงหวั่นว่าจะไปทำให้ฟองสบู่ถึงแก่การแตกโพละขึ้นจนได้ ในการนี้ การไต่ระดับขึ้นสูงของดัชนี้หุ้น SSEC ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ไปได้สูงเกินระดับ 3,400 และมุ่งเข้าใกล้ 3,500 ทีเดียวเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ล้วนถูกขับเคลื่อนโดยเงินร้อนที่ตามหลังมากับงบค่าใช้จ่ายภาครัฐซึ่งมุ่งจะสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศกับมุ่งเสริมสร้างการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

น.ส.พ.ออนไลน์ค่าย Hong Kong Trader (ซึ่งเป็นแขนขาในด้านการข่าวและประชาสัมพันธ์ให้แก่สภาพัฒนาการค้า หรือ Trade Development Council องค์กรที่เคยเฟื่องจัดในสมัยที่ฮ่องกงยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ) อ้างคำพูดของท่านประธานสตีเฟน โรช แห่งมอร์แกน สแตนลีย์ เอเชีย เพื่อรายงานถึงการประมาณการที่ว่า เม็ดเงินจากภาครัฐเพื่ออัดฉีดระบบเศรษฐกิจ มีสัดส่วนอยู่ในการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสูงถึง 95% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2009 ท่านประธานยังได้สะท้อนเสียงแห่งความกังขาที่สะพัดอยู่ทั่ววงการให้ได้ยินกันชัดๆ อีกครั้ง ว่าอุปสงค์จากต่างชาติจะขับเคลื่อนภาคส่งออกได้หรือหลังการลงทุนในประเทศที่ยังพอมีอยู่ในปัจจุบันวูบหายไปในครึ่งหลังของปีหน้า

อันตรายนั้นมีอยู่ว่า (จะด้วยเหตุผลเชิงการเมืองในประเทศหรือเศรษฐกิจในประเทศก็ตาม) จีนอาจดำเนินการเพื่อโต้ตอบกับปัญหาการเหือดหายในอุปสงค์ต่างประเทศด้วยมาตรการลงทุนในประเทศเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจอีกสักยกหนึ่ง เรื่องนี้เป็นอันตรายเพราะลำพังระบบเศรษฐกิจของจีนล้วนๆ นั้น ปัจจัยการผลิตได้ไปถึงขั้นล้นเกินแล้ว เช่น อัตราพื้นที่ว่างให้เช่าเพื่อกิจกรรมเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นเกือบจะ 50% แล้ว กระนั้นก็ตาม ตึกระฟ้ามากมายยังเดินหน้าผุดโผล่ขึ้นมาด้วยประสงค์ที่จะให้เกิดผลเป็นการจ้างงานและรายได้สำหรับการจับจ่ายของผู้บริโภค

ปัญหาศักยภาพการผลิตล้นเกินของระบบเศรษฐกิจภายในของจีน มีแต่จะเดินหน้าทวีความร้ายแรงหนักขึ้นด้วยภาวะความชะงักงันในอัตราการใช้ประโยชน์ขณะที่ปริมาณการนำเงินทุนเข้าโปรยลงในระบบเศรษฐกิจก็มีแต่จะขยายมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึง ณ จุดหนึ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือการที่ราคาในตลาดโลกสำหรับสินค้าส่งออกจากจีนถูกกดดันให้ร่วงจนเกินจะคุ้มการดำเนินงาน รูปการณ์เช่นนั้นจะนำไปสู่การปิดโรงงานในต่างประเทศเมื่อสินค้าจีนสูญเสียพลังการแข่งขัน และนำจะนำสู่ปัญหาการว่างงานในประเทศนั้นๆ ตลอดจนปัญหาจลาจลทางสังคม - อันเป็นปรากฏการณ์ที่ทางการปักกิ่งพยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง

นักเศรษฐศาสตร์จากทางการส่วนกลางล้วนตระหนักถึงอันตรายจากปัญหาศักยภาพการผลิตล้นเกิน และแม้พวกเขาจะเร่งแก้ปัญหาด้วยการระบุภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะถูกขีดออกจากการลงทุนด้วยเงินทุนของรัฐหรือจากโควต้าการก่อสร้าง พวกเขาก็ไม่สามารถกุมสภาพการจับจ่ายภาครัฐได้ทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะบรรดารัฐบาลระดับท้องถิ่นกับระดับมณฑลต่างมีแรงจูงใจของตัวเองที่จะเดินหน้าส่งเสริมโครงการจับจ่ายภาครัฐของตนเอง โดยไม่ยอมเอ่ยถึงเป้าหมายนโยบายของทางการปักกิ่ง ซึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินการตามนโยบายระดับชาติ ส่งผลเชิงลบต่อพื้นที่ของตน

ด้านผู้นำทางการเมืองของบางชาติที่ได้รับความเสียหายจากจีน ก็อาจดำเนินการแก้เผ็ดจีนด้วยมาตรการเชิงภาษีและมาตรการที่กว้างกว่ากรอบภาษีศุลกากร (มาตรการเชิง NTB ต่างๆ) การเดินมาตรการแก้เผ็ดโต้ตอบทั้งหลายอาจนำไปสู่อันตรายว่าด้วยการบังคับใช้นโยบายปกป้องการค้าในประเทศได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ ไฟแนนเชียลไทมส์ชี้ประเด็นไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า ความขัดแย้งทำนองนี้อาจเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง และจึงแนะนำให้จีนเร่งปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่จะอาจจะลดรายได้ของภาคธุรกิจ แต่ไปเป็นประโยชน์ต่อรายได้ของผู้บริโภค

เรื่องพวกนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ในเวลาเดียวกัน มาตรการใดๆ ที่ส่งผลเป็นการเสริมความแกร่งให้ตนเองฝ่ายเดียวก็จะกระทบไปเป็นการซ้ำเติมต่อปัญหาการผลิตในระดับโลกโดยรวมซึ่งนับวันแต่จะตกต่ำถดถอยหยุดไม่อยู่ แล้วจะลุกลามสู่สภาพการณ์การลอยแพแรงงานระบาดทั่วโลก

อันที่จริงแล้ว การค้าที่จีนดำเนินอยู่นั้น ขับเคลื่อนอยู่ในรูปแบบที่ว่า จีนนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องมือต่างๆ เพื่อดำเนินการผลิตบางขั้นตอนภายในประเทศเพื่อส่งออกต่อไป ดังนั้นการที่อุปสงค์จากผู้บริโภคต่างชาติเหือดหายไปเรื่อยๆ ย่อมบั่นทอนพลังทางเศรษฐกิจของจีน เพิ่มปัญหาการว่างงานในจีน และกระทบไปสู่การเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการจลาจลวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนระแวดระวังที่จะหลีกเลี่ยง

เรื่องทำนองนี้ล้วนไม่ใช่อุปสรรคขีดขวางการไต่ระดับของราคาหุ้นในตลาดต่างๆ ของจีนสำหรับในระยะกลาง แม้ว่าอาการหมดโมเมนตั้มดูจะปักหลักให้ได้เห็นกันในระยะนี้ สำหรับพลวัตรโดยพื้นฐานของเฉพาะตัวดัชนี้หุ้น SSEC แล้ว อนาคตของดัชนีตัวนี้น่าลุ้น เพราะอันที่จริงแล้วมันไม่น่าจะสามารถทะลุแนวต้าน 3,300 เมื่อไตรมาสที่สามที่ผ่านมา และที่มันฝ่าแนวต้านเทขายดุๆ ในช่วง 2,850-3,000 เมื่อก่อนหน้านั้นได้ ก็ต้องถือว่ามันมีสัญญาณที่ดีทีเดียว

แต่ถ้าดัชนี SSEC เดินหน้าขึ้นไปเคลื่อนไหวเหนือระดับมีเดียมไฮต่างๆ ได้ มันจะมีความเสี่ยงที่จะตามมาด้วยการถดถอยสู่ภาวะชะงักงันในราคาหุ้นตัวต่างๆ ของจีนได้

นอกจากนั้น ความแข็งแกร่งเชิงเปรียบเทียบของเงินหยวนยังเป็นตัวช่วยให้จีนยังมีความได้เปรียบกว่าประเทศคู่ค้ารายใหญ่ได้ กระนั้นก็ตาม หากมีการเคลื่อนใดๆ ไปในทางที่เงินหยวนจะปรับค่าให้แข็งมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาหุ้นในประเทศได้

ดร.รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก

กำลังโหลดความคิดเห็น