เอเจนซี - รัฐบาลรักษาการฮอนดูรัส ยอมโอนอ่อนตามแรงกดดันของนานาชาติ และยินยอมให้ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา กลับสู่อำนาจอีกครั้ง หลังถูกรัฐประหารและขับออกจากตำแหน่งเมื่อ 4 เดือนก่อน
การผ่าทางตันทางการเมืองช่วงดึก คืนวานนี้ (29) ตามเวลาท้องถิ่น มีขึ้นภายหลังการกดดันรอบใหม่จากคณะผู้แทนสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางเยือนฮอนดูรัสในสัปดาห์นี้ เพื่อพยายามขั้นสุดท้ายในการยุติสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งสร้างปัญหาหนักใจให้กับประธานาธิบดี บารัค โอบามา
“นี่เป็นชัยชนะของประชาธิปไตยในฮอนดูรัส” ประธานาธิบดีเซลายากล่าวภายหลังรัฐบาลรักษาการเห็นชอบในข้อตกลง ที่กำหนดให้เซลายากลับสู่อำนาจในเร็ววันนี้
“เราพอใจมาก เราคาดการณ์แง่บวกว่า ผมจะสามารถกลับสู่อำนาจได้ในทันที” เซลายา กล่าว
เซลายาถูกยึดอำนาจและขับออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา แต่ลักลอบเดินทางกลับฮอนดูรัสเมื่อเดือนที่แล้ว และอาศัยลี้ภัยการเมืองอยู่ภายในสถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปานับแต่นั้นมา โดยมีทหารฮอนดูรัสตรึงกำลังปิดล้อมนอกสถานทูต
ก่อนหน้านั้น โรเบร์โต มิเชเลตติ หัวหน้ารัฐบาลการรักษาการของฮอนดูรัส เคยยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมให้เซลายากลับสู่อำนาจ แต่ในที่สุดก็ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม
“ผมมอบอำนาจให้คณะผู้แทนเจรจาของผม ลงนามในข้อตกลงที่เป็นจุดเริ่มต้นการยุติสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศ” มิเชเลตติ บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อคืนวานนี้ (29)
ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ และจะถ่ายโอนอำนาจการควบคุมกองทัพให้กับศาลเลือกตั้งสูงสุด
มิเชเลตติ กล่าวด้วยว่า ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการพิสูจน์ความจริง เพื่อสอบสวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลต่างชาติยุติมาตราการลงโทษต่างๆ ต่อฮอนดูรัส อาทิ การระงับความช่วยเหลือและยกเลิกวีซ่าเดินทางเข้าประเทศ
ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส ปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดี เซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่ง เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกัน ว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา