เอเอฟพี - มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัส ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ยื่นข้อเรียกร้องวานนี้ (4) ให้รัฐบาลรักษากาลชุดปัจจุบันยุติการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือน พร้อมกับถอนทหารออกจากสถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปา อันเป็นสถานที่ลี้ภัยของเซลายา เพื่อเป็นเงื่อนไขก่อนการเจรจาคลี่คลายวิกฤตการเมืองในประเทศ
ตัวแทนของเซลายาและรัฐบาลรักษาการฮอนดูรัส ตกลงจะรื้อฟื้นการเจรจาไกล่เกลี่ยในสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่กำหนดวันและเวลา อันจะเป็นการกอบกู้ประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ หลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พร้อมทั้งขับเซลายาออกนอกประเทศ
การลักลอบเดินทางกลับเข้าประเทศเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมาของเซลายา และอาศัยลี้ภัยอยู่ที่สถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปา ส่งผลให้เกิดการประท้วงระลอกใหม่และการริดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือน ขณะเดียวกันก็เพิ่มแรงกดดันในการยุติวิกฤตการเมือง
รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของโรเบร์โต มิเชเลตติ ซึ่งออกคำสั่งให้ทหารและตำรวจปราบจลาจลปิดล้อมสถานทูตบราซิล ต้องการจับกุมเซลายาตามข้อกล่าวหาต่าง ๆ รวมทั้งก่อกบฎและคอร์รัปชั่น
เซลายาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เพื่อที่จะเริ่มต้นการเจรจา “อย่างจริงใจ” กับรัฐบาลรักษากาล การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือนจะต้องยุติลง โดยสถานีวิทยุสองแห่งที่สนับสนุนเซลายา ซึ่งถูกรัฐบาลสั่งปิด จะต้องเปิดดำเนินการอีกครั้ง, รัฐบาลต้องสั่งถอนทหารออกจากสถานทูตบราซิล และเขาต้องได้รับอนุญาตให้เลือกตัวแทนเจรจาเอง
วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดี เซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา