xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.ฮอนดูรัสวอนยูเอ็นกอบกู้หลักนิติธรรมในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฮอนดูรัส ต่อสายให้ประธานาธิบดีเซลายา
เอเอฟพี - มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัส ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ต่อโทรศัพท์จากสถานที่ลี้ภัยในสถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปา เพื่อเรียกร้องให้สมัชชาสหประชาชาติช่วยกอบกู้หลักนิติธรรมในฮอนดูรัส

“ผมเรียกร้องให้สหประชาชาติกอบกู้หลักนิติธรรมและเสรีภาพที่ฮอนดูรัสสมควรได้รับ” เซลายา กล่าวทางโทรศัพท์ ซึ่งมี แพทริเซีย อิซาเบล โรดัส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศต่อสายให้

“ใครก็ตามที่เคยคลางแคลง สงสัยว่า รัฐบาลเผด็จการกำลังยึดครองประเทศของผมอยู่จริงหรือไม่ บัดนี้จากสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดการรัฐประหาร 93 วันที่ผ่านมา ผมคิดว่าความเคลือบแคลงใดๆ ที่มีอยู่คงกระจ่างแจ้งแล้ว” เซลายา กล่าวระหว่างต่อโทรศัพท์เซอร์ไพรส์

“นอกจากถูกรัฐประหารยึดอำนาจแล้ว ฮอนดูรัสยังถูกปกครองด้วยระบอบฟาสซิสต์” เซลายากล่าวถึงมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลรักษากาลฮอนดูรัสที่ปราบปรามสื่อตรงข้าม

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี เซลายา ถูกขับออกนอกประเทศหลังเกิดการรัฐประหาร จากนั้นได้ลักลอบเดินทางกลับฮอนดูรัสในสัปดาห์ก่อนและหลบซ่อนอยู่ในสถานทูตบราซิลประจำประเทศ

ด้านรัฐบาลรักษากาลของฮอนดูรัสขู่จะปิดสถานทูตบราซิลประจำประเทศภายใน 10 วัน ฐานให้ที่พักพิงกับประธานาธิบดี มานูเอล นอกจากนั้น ยังปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศของคณะผู้แทนองค์การรัฐอเมริกัน ซึ่งพยายามทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดี เซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น