xs
xsm
sm
md
lg

ฮอนดูรัสขู่ปิดสถานทูตบราซิลประจำประเทศ ฐานให้ที่พักพิงประธานาธิบดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - รัฐบาลรักษากาลของฮอนดูรัสขู่จะปิดสถานทูตบราซิลประจำประเทศ ฐานให้ที่พักพิงกับประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ซึ่งถูกปฏิวัติรัฐประหาร พร้อมกับดำเนินการกดดันฝ่ายต่อต้าน อันเป็นการท้าทายแรงกดดันของประชาคมโลกที่ต้องการให้สละอำนาจ



นอกจากนี้ รัฐบาลรักษากาลของฮอนดูรัส ซึ่งรับตำแหน่งภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ยังปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศของคณะผู้แทนองค์การรัฐอเมริกัน ซึ่งพยายามทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส

การดำเนินการเหล่านี้ของรัฐบาลรักษากาลฮอนดูรัสมีเป้าหมายเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามและส่งข้อความอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้ประธานาธิบดีเซลายากลับคืนสู่อำนาจไม่ว่าอย่างไรก็ตาม

ด้าน ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ “ลูลา” ดา ซิลวา ผู้นำบราซิลกล่าวว่า จะไม่สนใจกำหนดเส้นตาย 10 วันของโรเบร์โต มิเชเลตติ ประธานาธิบดีรักษาการของฮอนดูรัส ที่ให้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับเซลายา ทั้งนี้เซลายาถูกขับออกนอกประเทศหลังเกิดการรัฐประหาร จากนั้นจึงลักลอบเดินทางกลับฮอนดูรัสในสัปดาห์ก่อนและหลบซ่อนอยู่ในสถานทูตบราซิลประจำประเทศ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีลูลายังเรียกร้องคำขอโทษจากประธานาธิบดีมิเชเลตติ ขณะที่รัฐบาลรักษากาลฮอนดูรัสย้ำเตือนว่า บราซิลจะหมดสิทธิตั้งสถานทูตในฮอนดูรัส หากละเลยเส้นตายดังกล่าว

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา

กำลังโหลดความคิดเห็น