เอเอฟพี - รัฐบาลสหรัฐฯ วานนี้ (3) สั่งตัดความช่วยเหลือราว 30 ล้านดอลลาร์แก่ฮอนดูรัส เพื่อกดดันให้ผู้นำรัฐประหารยอมรับเงื่อนไขการเจรจาไกล่เลี่ย เพื่อคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ซึ่งถูกยึดอำนาจและขับออกนอกประเทศ
“มาตรการในวันนี้เป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนถึงผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัสว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” พีเจ คราว์เลย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าว หลังรัฐมนตรีฮิลลารี คลินตัน ตัดสินใจระงับความช่วยเหลือแก่ฮอนดูรัส
วงเงินดังกล่าวครอบคลุมความช่วยเหลือทางทหารและกระทรวงหลายแห่ง ตลอดจนความช่วยเหลือด้านการค้า และอีก 2.7 ล้านดอลลาร์สำหรับ "การอยู่รอดและสุขภาพของเด็ก" ทั้งนี้จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ
ในกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส คณะรัฐประหารออกมาประณามมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ ว่า “ไม่เป็นมิตรเอามากๆ” และกล่าวหากรุงวอชิงตันว่า เข้าข้างประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซของเวเนซุเอลา ซึ่งโดดเดี่ยวไม่ยอมรับการรัฐประหารในฮอนดูรัสเช่นเดียวกัน
ด้านเซลายา ซึ่งเข้าพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตันในกรุงวอชิงตันวานนี้ (3) แสดงความยินดีกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ และกล่าวว่า ผู้นำรัฐประหาร ซึ่งขับเขาออกจากตำแหน่ง กำลังถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น
ฮิลลารีมองว่า “จำเป็นต้องมีมาตรการแข็งกร้าวสักอย่าง” ต่อคณะรัฐประหาร จนกว่าพวกเขาจะยอมรับการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติวิกฤตทางการเมืองและกอบกู้ประชาธิปไตยกลับคืนมา เอียน เคลลี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลง
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า พร้อมจะใช้มาตรการเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านั้นได้ระงับบริการการออกวีซ่าส่วนใหญ่ในฮอนดูรัส, การปฏิเสธวีซ่าของรัฐบาลเฉพาะกาล ตลอดจนการระงับความช่วยเหลือทางทหารราว 35 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสุดตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา