เอเอฟพี - ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้ (3) จะพบกับมานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัส ซึ่งถูกโค่นอำนาจและขับออกนอกประเทศจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เพื่อหารือเรื่องวิกฤตการเมือง โฆษกกระทรวงแถลงวานนี้ (1)
“ในวันพฤหัสบดีนี้ รัฐมนตรีคลินตัน มีกำหนดจะพบกับเซลายาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ในฮอนดูรัส” เอียน เคลลี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศบอกกับผู้สื่อข่าว
เคลลีบอกว่า เซลายาจะพำนักอยู่ที่นครวอชิงตันในสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับต่างๆ รวมทั้งกับองค์การรัฐอเมริกัน (โอเอเอส) ด้วย
หลังจากหารือในวันแรกกับโอเอเอสเมื่อวันอังคาร (1) เซลายาบอกว่า ได้รับการรับประกันว่า สมาชิกโอเอเอสจะไม่รับรองผลการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้
“ฮอนดูรัสถลำลึกสู่วิกฤตยิ่งขึ้น” เซลายาบอกกับผู้สื่อข่าว ภายหลังการประชุม
“สมาชิกทุกชาติสนับสนุนมาตรการต่อต้านการัฐประหาร”
ชาติสมาชิกโอเอเอสเพิ่มกดดันผู้นำรัฐประหารของฮอนดูรัส ด้วยแผนการตัดลดความช่วยเหลือเกือบ 150 ล้านดอลลาร์ หลังคณะรัฐประหารปฏิเสธการเจรจาแก้วิกฤต
บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจาก 7 ชาติสมาชิกตลอดจนประธานโอเอเอสคว้าน้ำเหลวกลับมาเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากไม่สามารถโน้มน้าวให้โรเบร์โต มิเชเล็ตตี ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล ก้าวลงจากอำนาจ
ด้านกระทรวงการต่างประเทสสหรัฐฯ กล่าวว่า พร้อมจะใช้มาตรการเพิ่มเติม หลังระงับบริการการออกวีซ่าส่วนใหญ่ในฮอนดูรัส, การปฏิเสธวีซ่าของรัฐบาลเฉพาะกาล ตลอดจนการระงับความช่วยเหลือทางทหารราว 35 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสุดตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา