เอเจนซี - โรเบร์โต มิเชเล็ตตี ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัส วานนี้ (29) เรียกร้องให้มีการเจรจารอบใหม่ เพื่อยุติวิกฤตการเมืองในประเทศ ขณะที่แหล่งข่าวรายงานว่า มิเชเล็ตตี อาจยอมให้ประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ กลับคืนสู่ตำแหน่งภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด
มิเชเล็ตตี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังเซลายาถูกโค่นอำนาจระหว่างการรัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทูตพิเศษเดินทางมาที่ฮอนดูรัส “เพื่อประสานความร่วมมือในการเริ่มต้นการเจรจาในประเทศของเรา”
หลังสหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัส ด้วยการเพิกถอนวีซ่าของสมาชิกรัฐบาลเฉพาะกาลเมื่อวันอังคาร (28) มิเชเล็ตตี เริ่มแสดงท่าทีอ่อนลง และกล่าวด้วยว่า ชาวฮอนดูรัสหลายคนสามารถเป็นตัวกลางคลี่คลายวิกฤตการเมืองครั้งนี้
“การเจรจาครั้งนี้ การติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในครั้งนี้ควรเปิดโอกาสทุกฝ่าย ทั้งจากภาคประชาสังคม, โบสถ์, กลุ่มอาจารย์, นักเรียน, สมาคมธุรกิจ, สื่อตลอดจนฝ่ายการเมืองต่างๆ” หัวหน้ารัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัสกล่าวทางสถานีโทรทัศน์
แหล่งข่าวในรัฐบาล เผยว่า ตอนนี้ มิเชเล็ตตี อาจพิจารณาให้เซลายากลับสู่มาตุภูมิ หากได้รับการรับประกันว่า ประธานาธิบดีคนดังกล่าวจะไม่พยายามบ่อนทำลายประชาธิปไตย
วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา