เอเอฟพี - ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาของฮอนดูรัสวานนี้ (25) ให้คำมั่นกับบรรดาผู้สนับสนุนว่า จะยืนหยัดต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งโค่นอำนาจและขับเขาออกนอกประเทศ
ชายชาวฮอนดูรัสรายหนึ่งเสียชีวิตวานนี้ (25) บนถนนสายที่ติดกับพรมแดนของนิการากัว ขณะที่ประธานาธิบดีเซลายาขยับเข้ามาประชิดพรมแดนเป็นวันที่ 2 เพื่อพยายามเดินทางกลับประเทศ
"เรากำลังสำแดงพลังต่อต้าน" เซลายากล่าว และเสริมว่า เขาได้ตั้งแคมป์ซึ่งอยู่จากพรมแดนของฮอนดูรัสราว 100 เมตร ในอาณาเขตนิการากัว"
"เราต้องอย่ากลัว เรากำลังปฏิรูปสังคม เรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อตำแหน่งประธานาธิบดีของฮอนดูรัส และขับไล่กลุ่มก่อร้ฐประหาร" เซลายากล่าว
ฝ่ายสนับสนุนเซลายา ซึ่งฝ่าฝืนกฎเคอร์ฟิวในเวลากลางวัน ออกมาชุมนุมบริเวณพรมแดน เพื่อรอต้อนรับประธานาธิบดีฮอนดูรัส กล่าวหาว่าตำรวจสังหารชายวัย 23 ปี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเซลายาเมื่อวานนี้ (25)
วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา