เอเอฟพี/เอเจนซี - ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ประกาศว่าจะปักหลักอยู่ที่ชายแดนของประเทศนิการากัว ซึ่งอยู่ห่างจากอาณาเขตของฮอนดูรัสเพียงไม่กี่เก้าตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ขณะที่รัฐสภาของฮอนดูรัสหลีกเลี่ยงการลงมติให้เซลายากลับคืนสู่อำนาจ โดยโยนให้เป็นอำนาจการตัดสินของศาลสูงสุด
โฮเซ อัลเฟรโด ซาเวดรา ประธานสภาแถลงว่า สภาชิกสภาผู้แทนไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องการกลับสู่อำนาจของประธานาธิบดีเซลายา เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ข้อเสนอให้สภาผู้แทนลงมติให้ประธานาธิบดีเซลายากลับสู่อำนาจ เป็นหนึ่งในแผนการของประธานาธิบดีคอสตาริกาออสการ์ อาริอัส เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อยุติวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส
สำหรับสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานเมื่อวานนี้ (27) ว่า อยากให้เซลายามีความอดทนอดกลั้น แต่ไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มบทลงโทษเพื่อกดดันรัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัส ซึ่งก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปลายเดือนมิถุนายน
วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา