xs
xsm
sm
md
lg

เซลายากร้าวปักหลักประชิดพรมแดนฮอนดูรัสกดดัน รบ.รักษาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สนับสนุนเซลายา ตั้งแถวรอรับอาหาร ขณะที่อดีตประธานาธิบดีรายนี้ตั้งค่ายในนิการากัวติดกับชายแดนฮอนดูรัสเพื่อกดดันรัฐบาลรักษาการณ์
เอเอฟพี - ประธานาธิบดีผู้ถูกขับไล่ มานูเอล เซลายา ประกาศปักหลักในพื้นที่ชายแดนนิการากัวห่างจากอาณาเขตของฮอนดูรัสไม่กี่ก้าวตลอดทั้งสัปดาห์ เพื่อกดดันรัฐบาลรักษาการณ์ ขณะที่รัฐสภาฮอนดูรัสได้เปิดประชุมในวันจันทร์(27) อภิปรายถึงข้อเสนอของผู้ไกล่เกลี่ยในการหาทางออกของวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้

บันทึกซานโฮเซ ข้อเสนอของออสการ์ อาริอัส ประธานาธิบดีคอสตาริกา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการณ์ฮอนดูรัสคืนอำนาจแก่เซลายา แต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ นานา ขณะที่บรรดาผู้นำชั่วคราวซึ่งขึ้นปกครองประเทศหลังทหารขับไล่เซลายาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน มีความยินดีต่อข้อเสนอบางอย่าง ทว่าปฏิเสธให้ เซลายา กลับคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

ในช่วงค่ำวันอาทิตย์ (26) เซลายา ปฏิเสธเจรจาอีกรอบและบอกว่าเขาจะไม่เดินทางไปวอชิงตันหรือเขาร่วมประชุมระดับภูมิภาค ณ คอสตาริกา ในช่วงสัปดาห์นี้

“จะไม่มีการเจรจากับผู้นำรัฐประหาร” เซลายากล่าว พร้อมระบุว่าเขาต้องการจัดตั้งองค์กร “ประชาชนต่อต้านรัฐประหาร” ในโอโกตัล จังหวัดชายแดนภาคเหนือของนิการากัว

ความตึงเครียดตามแนวพรมแดนระหว่างสองชาติในอเมริกากลางยังคงอยู่ระดับสูง ด้วยทหารและตำรวจฮอนดูรัสราว 3,000 นาย ประจำการอยู่ในพื้นที่ตามคำสั่งจับกุมตัวเซลายาในความผิดฐานกบฏทันทีหากว่าเขาเดินทางกลับเข้าประเทศ

“ผมไม่สามารถทิ้งประชาชนชาวฮอนดูรัสที่อุตส่าห์เดินทางมาถึงที่นี่ได้” เซลายากล่าวต่อกลุ่มผู้สนับสนุนชาวฮอนดูรัสที่แยกกันเป็นหลายกลุ่ม เดินทางลัดเลาะตามภูเขาเพื่อหลบหลีกการปิดกั้นถนนมุ่งหน้าสู่นิการากัวของทหาร

รัฐบาลรักษาการได้ขยายเวลาเคอร์ฟิวบริเวณพื้นที่ชายแดนออกไปอีก ขณะที่รัฐสภาซึ่งปกครองโดยกลุ่มผู้สนับสนุนรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี โรเบอร์โต มิเชเลตติ กำลังหารือเพื่อพิจารณาข้อเสนอของอาริอัสในเตกูซิกัลปา

คณะรัฐประหารสนับสนุนบันทึกซานโฮเซ แต่บอกว่าพวกเขาไม่ยอมรับข้อเสนอให้ เซลายา กลับคืนสู่อำนาจ ขณะที่เซลายา ซึ่งย่างเท้าคืนสู่ดินแดนของฮอนดูรัสช่วงเวลาสั้นๆเมื่อวันศุกร์(24) บอกว่าการเจรจาล้มเหลว

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น