เอเจนซี/เอเอฟพี - ผู้นำอาร์เจนตินา และประธานองค์การรัฐอเมริกัน มีแผนเดินทางไปพร้อมกับมานูเอล เซลายา หลังเขาประกาศกลับสู่ประเทศในสัปดาห์นี้ ขณะที่เขาได้รับแรงสนับสนุนจากนานาชาติเพิ่มขึ้น โดยสหประชาชาติเรียกร้องชาติสมาชิกรับรองเพียงรัฐบาลของประธานาธิบดีผู้ถูกขับไล่รายนี้เท่านั้น
เซลายา ถูกทหารรัฐประหารขับไล่ออกจากตำแหน่ง และถูกเนรเทศไปยังคอสตาริกา เมื่อวันอาทิตย์(28) ปฏิบัติการดังกล่าวของทหารได้รับเสียงประณามจากนานาชาติ ในจำนวนนั้นรวมไปถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรของผู้นำฝ่ายซ้ายของฮอนดูรัสในละตินอเมริกาที่นำโดยฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา
เซลายา กล่าวในช่วงค่ำวันจันทร์(29) ว่า เขามีแผนเดินทางกลับฮอนดูรัสในวันพฤหัสบดี(2) พร้อมกับ โฮเซ มิเกล อินซุลซา ประธานองค์การรัฐอเมริกัน และล่าสุดมีรายงานข่าวว่า คริสตินา เฟร์นานเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ก็มีแผนร่วมเดินทางไปพร้อมกับเขาเช่นกัน เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อ โรเบร์โต มิเชเล็ตติ รักษาการณ์ประธานาธิบดีฮอนดูรัสวัย 65 ปี ให้ยอมถอยหลังกลับ
ในรายงานดังกล่าวยังระบุต่อว่า อาจมีผู้นำชาติละตินอเมริกาประเทศอื่นๆ ร่วมเดินทางไปยังฮอนดูรัส พร้อมกับ เซลายา เฟร์นานเดซ และ อินซุลซา ด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาลฮอนดูรัส ระบุเมื่อวันอังคาร(30) ว่า เซลายา จะถูกจับทันทีหากว่าเขาเดินทางกลับประเทศ ไม่กี่วันหลังจากที่เขาถูกเนรเทศโดยคณะรัฐประหาร
เซลายา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2009 ในวาระนั่งเก้าอี้ 4 ปี มีแผนจัดให้มีการลงประชามติในวันอาทิตย์ (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลดพลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อนเนื่องจากความขัดแย้งนี้ ซึ่งได้กลายเป็นชนวนเหตุของรัฐประหารในเวลาต่อมา
ทว่า เหตุรัฐประหารได้ก่อเสียงประณามจากนานาชาติอย่างทันควัน ในจำนวนนั้นรวมไปถึงรัฐบาลของโอบามา ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวเมื่อวันจันทร์(29) ว่า เซลายา เป็นประธานาธิบดีฮอนดูรัสอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเขาจะทำงานร่วมกับองค์การรัฐอเมริกันและองค์กรอื่นๆของภูมิภาคเพื่อคลี่คลายปัญหานี้
หนึ่งในสัญญาณของนานาชาติที่สนับสนันเขา คือ เซลายา ได้รับโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ ณ สหประชาชาติเมื่อวันอังคาร(30) ขณะที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรียกร้องชาติสมาชิกรับรองเพียงรัฐบาลของเซลายาเท่านั้น ไม่มีใครอื่นอีก
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับรองญัตติอย่างเป็นเอกฉันท์ตัดสินใจเรียกร้องอย่างมั่นคงและเด็ดขาดจากทุกชาติสมาชิกห้ามรับรองรัฐบาลอื่นอีกนอกจากรัฐบาลของเซลายา
ด้าน เซลายา ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ปฏิเสธดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัย 2 แม้ว่าอาจได้รับการร้องขอก็ตาม "หากได้รับข้อเสนอถึงความเป็นไปได้ให้ยังคงอยู่ในอำนาจ(สำหรับสมัย 2) ผมก็จะไม่ขอรับมัน" เขากล่าว
เซลายา ยังได้พูดถึงแผนเดินทางกลับฮอนดูรัส ขัดขืนคำสั่งห้ามของรัฐบาลรักษาการณ์ที่จะส่งกำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงหรือฆ่าเขา
“หากพวกเขาส่งทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงหรือฆ่าผม ก็ปล่อยให้พวกเขาทำมันต่อสายตาคนทั้งโลก” เซลายา กล่าวระหว่างหารือกับบรรดาผู้นำละตินอเมริกาในนิการากัว พร้อมระบุว่าเขาตอบรับข้อเสนอของ อินซุลซา ที่จะเดินทางไปพร้อมกับเขา ทว่าก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
ด้านสถานการณ์ในกรุงเตกูซิกัลปาในช่วงเช้าวันอังคาร(30) กลับมาอยู่ในความสงบหลังค่ำคืนที่สองของการประกาศเคอร์ฟิว โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์(29) กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาจำนวนมากก่อเหตุขว้างปาก้อนหิน พร้อมใช้ไม้และท่อนเหล็กเข้าทำร้ายตำรวจปราบจลาจลบริเวณใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี ทำให้เจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยการฉีดแก๊สน้ำตาและโยนกระป๋องแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์เพื่อสลายฝูงชน ขณะที่มีรายงานว่าทั้งผู้ประท้วงและตำรวจต่างได้รับบาดเจ็บหลายราย