xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพ “ฮอนดูรัส” ก่อรัฐประหาร ปธน.ตั้งหลักสู้ มี “ชาเวซ” ร่วมหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนรุมประณามทหารที่อยู่บนรถหุ้มเกราะ ซึ่งจอดประจำการรายล้อมทำเนียบประธานาธิบดีฮอนดูรัสเมื่อวันอาทิตย์(28) หลังฝ่ายทหารก่อการรัฐประหาร
เอเจนซี/เอเอฟพี - ฝ่ายทหารฮอนดูรัส ยึดอำนาจ และเนรเทศประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา ออกนอกประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ (28) นับเป็นการก่อรัฐบาลครั้งแรกในภูมิภาคอเมริกากลาง ภายหลังยุคสงครามเย็น แต่ตัวประธานาธิบดียังไม่ยอมแพ้ ไปตั้งหลักที่นิการากัว โดยมีผู้นำฝ่ายซ้ายอื่นๆ รวมทั้งประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ไปชุมนุมร่วมวางแผนต่อสู้ ขณะเดียวกัน ภายในประเทศก็เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร แม้ศาลสูงสุดแถลงรับรองการปลดเซลายา อีกทั้งรัฐสภาก็เร่งลงมติเลือกประธานาธิบดีชั่วคราว

ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเซลายา จำนวนหลายร้อยคน โดยบางรายปกปิดใบหน้าและใช้ไม้เป็นอาวุธคู่กาย พากันนำแผ่นป้ายและรั้วลวดหนามมาตั้งด่านสกัดกลางเมืองหลวงเตกูซิกัลปา ตลอดจนปิดกั้นถนนที่มุ่งหน้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดี

รอยเตอร์รายงานว่า มีพยานหลายคน เล่าว่า ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดจากนอกทำเนียบ แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลั่นไก โดยมีพยานคนหนึ่ง เล่าว่า เป็นเพียงการยิงปืนขึ้นฟ้าเท่านั้น และในเบื้องต้นก็ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

ด้านสหภาพครูอาจารย์ ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมาก ประกาศจะหยุดทำงานอย่างไม่มีกำหนด เพื่อประท้วงการโค่นล้มประธานาธิบดีเซลายา

มีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์หลายลำบินลาดตระเวนทั่วเมืองหลวง ขณะที่ผู้สนับสนุนเซลายาจำนวนหลายร้อย เมินคำสั่งห้ามออกนอกบ้านของทางการ โดยออกมาชุมนุมตามท้องถนน พร้อมกับตะโกน ว่า “เราต้องการเมล!” ทั้งนี้ “เมล” เป็นชื่อเล่นของเซลายา

ประธานาธิบดี เซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2553 สร้างความกริ้วโกรธให้กับฝ่ายตุลาการ, รัฐสภาและทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในวันอาทิตย์ (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่า แผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลดพลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อนเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันอาทิตย์ (28) ว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ (28) ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

หลังจากนั้น รัฐสภาฮอนดูรัส ได้เปิดประชุมและลงมติเลือกโรแบร์โต มิเชเลตตี เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ โดยที่เขาจะดำรงตำแหน่งในวาระที่เหลืออยู่ของเซลายาไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า ทั้งนี้ มีการวางแผนไว้แล้วจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในวันที่ 29 พฤศจิกายน มิเชเลตตีนั้นเมื่อสาบานตัวรับตำแหน่งแล้ว ก็รีบประกาศห้ามออกนอกบ้านทั่วประเทศเป็นเวลา 48 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เซลายา ซึ่งเดินทางถึงคอสตาริกา ยืนยันว่า เขายังเป็นประธานาธิบดี จากนั้นก็เดินทางไปยังกรุงมานากัวเมืองหลวงของนิการากัว เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกับบรรดาผู้นำที่เป็นฝ่ายซ้ายในภูมิภาคแถบนี้ โดยเขาบอกกับสื่อมวลชนว่า ตัดสินใจจะเดินทางกลับฮอนดูรัส และจะ “ทวงตำแหน่งกลับคืน”

ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ฮูโก ชาเวซ ซึ่งอยู่ที่เมืองมานากัวด้วย ประกาศจะทำทุกๆ ทางที่จำเป็นทั้งในด้านการเมือง, การทูต, สังคม และศีลธรรม เพื่อกอบกู้รัฐบาลเซลายา

ทางด้านปฏิกิริยาจากนานาชาติ ทั้งรัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป (อียู) ตลอดจนประเทศจำนวนมาก ยังออกมาแถลงสนับสนุนเซลายา และประณามการรัฐประการในครั้งนี้

ฮอนดูรัส เป็นประเทศผู้ส่งออกกาแฟ, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและกล้วย โดยมีประชากร 7 ล้านคน ประเทศนี้มีเสถียรภาพทางการเมืองเรื่อยมา นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองโดยระบอบทหารในยุคทศวรรษ 1980

แต่ประธานาธิบดี เซลายา ที่ตอนแรกมีแนวทางเสรีนิยม ได้นำพาประเทศไปสู่ความเป็นซ้ายมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับประธานาธิบดีชาเวซ จนสร้างความคับข้องใจให้กับฝ่ายทหารและชนชั้นสูงฝ่ายอนุรักษนิยม

ประธานาธิบดีเซลายา(ขวาสุด)อยู่ขับออกไปอยู่ที่คอสตาริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น