เอเอฟพี/ เอเจนซี - คณะผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัส ซึ่งมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ สั่งขับเจ้าหน้าที่ของสถานทูตเวเนซุเอลาออกจากประเทศภายใน 72 ชั่วโมง โดยกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทูตเหล่านั้นขู่จะใช้กำลังและก้าวก่ายกิจการภายในประเทศ
นักการทูตเวเนซุเอลาหลายคนปฏิเสธคำสั่งขับดังกล่าวในทันที และตอบโต้ว่าคำสั่งดังกล่าวออกโดยคณะผู้นำของรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อรัฐประหารและโค่นอำนาจของประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาเมื่อเดือนก่อน
จุดยืนอันแข็งกร้าวเช่นนี้มีขึ้นหลังจากการเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส ระหว่างประธานาธิบดีเซลายากับรัฐบาลเฉพาะการชุดปัจจุบันจบลงอย่างล้มเหลว ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้
ในวันเดียวกัน (21) ประธานาธิบดีเซลายาออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ กำหนดบทลงโทษอันเข้มงวดต่อรัฐบาลเฉพาะกาลชุดปัจจุบัน
เซลายาบอกว่า เขาถึงจดหมายถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันต่อผู้นำรัฐประหารของฮอนดูรัส
วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้น เมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา