เอเจนซี - การเจรจาซึ่งเริ่มขึ้นในวันเสาร์ (18) เพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส ยังไร้บทสรุปเรื่องข้อเสนอต่างๆ ในการกลับสู่อำนาจของอดีตประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารและขับออกจากประเทศ ตลอดจนการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ
อดีตประธานาธิบดีเซลายา เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ไกล่เกลี่ยในการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาตื ซึ่งจะแบ่งสรรอำนาจการปกครองประเทศร่วมกับฝ่ายตรงข้ามบางคน แต่ยกเว้นพวกที่โค่นเขาออกจากตำแหน่งในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน อัลลัน ฟาจาร์โด คนสนิทของเซลายาบอกกับรอยเตอร์
ในขณะที่รัฐบาลเฉพาะกาลชุดปัจจุบันของฮอนดูรัส ปฏิเสธข้อเสนอในการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ตลอดจนไม่อนุญาตให้เซลายากลับสู่อำนาจ
“ข้อเสนอเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” มาร์ธา อัลวาราโด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลฮอนดูรัสบอกกับรอยเตอร์
เซลายา ให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุฮอนดูรัส ว่า จะเดินทางกลับประเทศในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แม้รัฐบาลขู่จะจับกุมตัว
ประธานาธิบดี เซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้กับฝ่ายตุลาการ, รัฐสภาและทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่า แผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การเจรจาผ่าทางตันวิกฤตการเมืองครั้งนี้ ซึ่งมีประธานาธิบดีออสการ์ อาริอัส แห่งคอสตาริกา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายพบกันในกรุงซานโฮเซเป็นเวลา 2 วัน เริ่มขึ้นเมื่อเที่ยงวันเสาร์ (18) ที่กรุงซานโฮเซ เมืองหลวงของคอสตาริกา แต่จนถึงช่วงค่ำทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้
ช่วงเริ่มต้นประธานาธิบดีอาริอัสกำหนด 7 ประเด็นในการหาข้อตกลง ซึ่งประกอบด้วย การกลับสู่อำนาจของเซลายาเพื่อสานต่อภารกิจที่จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2010 และการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีตัวแทนของทุกฝ่ายการเมือง
ประธานาธิบดี อาริอัส ยังเสนอให้มีการนิรโทษกรรมอาชญากรรมทางการเมืองใด ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร และให้เซลายายกเลิกแผนในการจัดการลงประชามติเพื่อกลับมาลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา