xs
xsm
sm
md
lg

เจรจาผ่าทางตันฮอนดูรัสจบลงอย่างล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีออสการ์ อาริอัส แห่งคอสตาริกา (ซ้าย) พูดคุยกับคาร์โลส โลเปซ ตัวแทนรัฐบาลเฉพาะกาล และริซิ มอนคาดา ตัวแทนของอดีตประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา (ขวา)
เอเจนซี - ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ของฮอนดูรัส ซึ่งถูกโค่นอำนาจ กับรัฐบาลเฉพาะกาลชุดปัจจุบัน ที่ก่อรัฐประหาร ไม่สามารถยุติวิกฤตการเมืองในประเทศ หลังการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน จบลงอย่างล้มเหลว

เพียงไม่กี่นาทีหลังการเจรจาดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นที่คอสตาริกา จบลงอย่างล้มเหลว ประธานาธิบดีเซลายาบอกกับรอยเตอร์ว่า “ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งผม” จากการเดินทางกลับประเทศ อันเป็นท่าทีที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยามยามห้ามปรามผู้นำรายนี้มาตลอด เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุความรุนแรงตามมา

ด้าน โรเบร์โต มิเชเล็ตตี ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภา ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ขู่จะจับกุมเซลายา หากเซลายาก้าวเท้าเหยียบประเทศ ตลอดจนสั่งให้กองทัพเตรียมความพร้องระดับสูง

ความพยายามก่อนหน้านี้ของเซลายาในการบินกลับประเทศเมื่อวันที่ 5 เดือนกรกฎาคม ถูกกองทัพฮอนดูรัสขัดขวาง ด้วยการป้องกันไม่ให้เครื่องบินแล่นลงจอดในกรุงเตกูซิกัลปา โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 รายในเหตุปะทะกันระหว่างกองทัพกับฝ่ายผู้สนับสนุนเซลายาที่สนามบิน

ในวันที่ 2 ของการเจรจาที่คอสตาริกา ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถหาข้ามผ่านอุปสรรคสำคัญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งครั้งนี้ นั้นคือ เรื่องการกลับสู่อำนาจของเซลายา

ประธานาธิบดีคอสตาริกาออสการ์ อาริอัส เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจาครั้งนี้ ยื่นข้อเสนอว่า เซลายาควรได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับฮอนดูรัสในเร็ววัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยตัวแทนของทุกฝ่าย แต่มิเชเล็ตตี ประธานาธิบดีรักษากาลปฏิเสธคว่ำข้อเสนอดังกล่าว

“เราเสียใจจริงๆ แต่ข้อเสนอดังกล่าวที่คุณเสนอมานั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” คาร์โลส โลเปซ ผู้แทนการเจรจาของมิเชเล็ตตีบอกกับประธานาธิบดีอาริอัสในกรุงซันโฮเซของคอสตาริกา

ส่วนทีมเจรจาของเซลายากล่าวว่าจะไม่เจรจากับตัวแทนของมิเชเล็ตตีอีกต่อไป แต่ยังจะเปิดกว้างสำหรับการเจรจาครั้งอื่นๆ ในอนาคต

“การเจรจาเช่นนี้กับทีมของรักษาการประธานาธิบดีและรัฐบาลทหาร จบลงแล้ว” รีซี มอนกาดา ตัวแทนของเซลายาในการเจรจากล่าว

ด้าน ประธานาธิบดีอาริอัส เตือนว่า อาจเกิดสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหากแนวทางการทูตละทิ้ง

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น