xs
xsm
sm
md
lg

มะกันจำกัดวีซ่าในฮอนดูรัสเพื่อบีบรัฐบาลรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกโอเอเอสแถลงข่าวที่กรุงเตกูซิกัลปา หลังเข้าพบผู้นำรัฐบาลฮอนดูรัส
เอเจนซี - สหรัฐฯ เผยวานนี้ (25) ว่า จะจำกัดการออกวีซ่าสหรัฐฯในฮอนดูรัสเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลรัฐประหารลงจากอำนาจ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเคยประณามการรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา มาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดแถลงว่า ตั้งแต่วันพุธ (26) นี้ ทางการจะออกวีซ่าให้เฉพาะผู้อพยพและในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ณ สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตกูซิกัลปา

รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเรียกร้องให้ทางการฮอนดูรัสยอมรับข้อเสนอต่าง ๆ ที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีคอสตาริกา ออสการ์ อาริอัส เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคลี่คลายวิกฤตดังกล่าว ที่ยุติกลางคันเนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันปฏิเสธไม่ยอมให้เซลายากลับสู่อำนาจ

เอียน เคลลี โฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การตัดสินใจจำกัดการออกวีซ่า มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนคณะผู้แทนจากองค์การรัฐอเมริกัน (โอเอเอส) ซึ่งเดินทางถึงฮอนดูรัสเมื่อวันจันทร์ (24) เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลชุดปัจจุบันยอมรับข้อเสนอของประธานาธิบดีอาริอัส

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกราย ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การตัดสินใจจำกัดการออกวีซ่าเป็น "การส่งสัญญาณว่าเราเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างจริงจังมากเพียงใด" และบอกด้วยว่ากรุงวอชิงตันกำลังพิจารณาขั้นตอนอื่น ๆ แต่ยังไม่เหมาะสมที่จะเปิดเผยในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนจากโอเอเอสยอมรับในภายหลังว่า การเดินทางเยือนฮอนดูรัสครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสุดตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น