xs
xsm
sm
md
lg

ประท้วงฮอนดูรัสเพิ่มขึ้น 90 วัน หลังการรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เกิดการประท้วงเพิ่มมากขึ้นในฮอนดูรัส วานนี้ (26) ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ เข้าร่วมการชุมนุมตามถนนสายต่างๆ 90 วันหลังการปฏิวัติรัฐประหาร

ผู้ชุมนุมจำนวนหลายพันเดินขบวนมุ่งหน้าสู่สถานทูตบราซิลประจำประเทศ ที่ซึ่งประธานาธิบดีเซลายา หลบซ่อนตัวภายใน หลังลักลอบเดินทางกลับประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ที่แล้ว (21) จากนั้นประชาชนอีกหลายร้อยชีวิตเข้าร่วมคาราวานประท้วง, ชะโงกตัวออกนอกหน้าต่างรถ, บีบแตรเสียงอื้ออึง พร้อมกับโบกธงชาติฮอนดูรัส ขณะเคลื่อนขบวนผ่านใจกลางกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของประเทศ

นักการทูตระดับสูงสุดรายหนึ่ง ซึ่งเพิ่งออกจากสถานทูตบราซิลประจำฮอนดูรัส กล่าวประณาม การ “ปิดล้อม” ของรัฐ เนื่องจากมีกำลังพลจำนวนมากตั้งแถวล้อมรอบสถานทูตอยู่

“นี่เป็นเพียงแห่งเดียวในโลก ที่ซึ่งสถานทูตถูกปิดล้อม” ฟรานซิสโก กาตุนดา อุปทูตบราซิลกล่าว ขณะออกจากอาคารสถานทูตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เซลายาเข้ามาหลบอยู่ที่นี่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

“พวกคุณคงนึกไม่ถึงว่า ผมต้องแสดงเอกสาร, ต้องตรวจสอบและเจรจาต่อรองมากเพียงใด กว่าจะออกมาได้” กาตุนดา บอกกับผู้สื่อข่าวอย่างกริ้วโกรธ

พวกที่ติดอยู่ในสถานทูตส่วนใหญ่มีสุขภาพดี กาตุนดา กล่าว พร้อมเสริมว่า นักการทูตบราซิลรายหนึ่งบอกกับเขาว่า ได้กลิ่นแก๊สโชยมาเมื่อวันก่อน หลังประธานาธิบดีเซลายา กล่าวหาว่า กองทัพพยายามลอบวางยาตัวเขาและผู้ที่อยู่ในสถานทูตอีกราว 60 ชีวิต ด้วยการรมแก๊สพิษ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกคำเตือนเมื่อวันศุกร์ (25) ว่า รัฐบาลเฉพาะกาลต้องไม่รุกรานสถานทูต

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกัน ว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น