เอเอฟพี - โรเบร์โต มิเชเลตติ ผู้นำรัฐบาลรักษาการของฮอนดูรัสประกาศวานนี้ (7) ตามเวลาท้องถิ่นว่า พร้อมสละตำแหน่งหลังปฏิบัติหน้าที่นาน 3 เดือน แต่มีข้อแม้ว่าประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ต้องเว้นวรรคทางการเมือง
“ถ้าผมเป็นอุปสรรคขัดขวาง ผมพร้อมสละตำแหน่ง แต่หากผมยอม ผมขอเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเซลายาเว้นวรรคทางการเมืองเช่นกัน” มิเชเลตติกล่าว
การแสดงความเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยของคณะนักการทูตจากทั่วทวีปอเมริกา เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในฮอนดูรัส ซึ่งเกิดจากการรัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐบาลรักษาการฮอนดูรัสประกาศว่า “ไม่มีทางหยุดยั้ง” การเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน แม้ประชาคมโลกออกคำขู่ว่า จะไม่รับรองการเลือกตั้งดังกล่าว ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลรักษากาล
การเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งนี้ ซึ่งนำโดยโฆเซ อินซูลซา ประธานองค์การรัฐอเมริกัน (โอเอเอส) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยคณะผู้แทนไกล่เกลี่ยประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ 5 ชาติ, รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 คน และโธมัส ชานนอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก
“เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อกล่าวโทษซึ่งกันและกัน เรามาที่นี่เพื่อมองหาแนวทางที่ชัดเจน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ซึ่งยืดเยื้อต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” โธมัส ชานนอนกล่าว
ในเวลาเดียวกัน ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาสลายฝูงชนที่มาชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปา อันเป็นสถานที่ลี้ภัยของเซลายาและฝ่ายสนับสนุน หลังลักลอบเดินทางกลับเข้าฮอนดูรัสเมื่อเดือนก่อน เนื่องจากถูกยึดอำนาจและขับออกนอกประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2
ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว
ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ
รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา
การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา