xs
xsm
sm
md
lg

ฮอนดูรัสเตรียมจัดการเจรจาผ่าทางตันวิกฤตการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรเบร์โต มิเชเลตติ
เอเอฟพี - โอกาสในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองในฮอนดูรัส กำลังใกล้เข้ามาแล้ววานนี้ (6) ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่คณะผู้แทนไกล่เกลี่ยเตรียมจัดการเจรจาระหว่างรัฐบาลรักษาการและประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ

บรรดารัฐมนตรีว่าการต่างประเทศและนักการทูตระดับสูงจากองค์รัฐอเมริกัน (โอเอเอส) จะเดินทางถึงฮอนดูรัสวันนี้ (7) เพื่อเตรียมพร้อมการเจรจาระหว่างตัวแทนของประธานาธิบดีเซลายา และโรเบร์โต มิเชเลตติ ผู้นำรัฐบาลรักษาการ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน

มีรายงานว่า การเจรจารอบแรกมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (7)

ด้านประธานาธิบดีเซลายาประกาศว่าจะไม่พบกับมิเชเลตติโดยตรง หากฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมรับข้อตกลงว่าจะคืนอำนาจให้แก่เขา อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาครั้งนี้ เซลายาได้แต่งตั้งคณะผู้แทนการเจรจาในนามของเขา

เซลายายังตำหนิองค์การโอเอเอสว่า ยอมอ่อนข้อให้กับมิเชเลตติ พร้อมทั้งกล่าวหาว่า ฝ่ายตรงข้ามกำลังเล่นเกมถ่วงเวลาเพื่อต่ออายุรัฐบาลรักษาการ

“ท่าทีของโอเอเอสโอนอ่อนผ่อนตามเหล่าเผด็จการ” เซลายาบอกกับผู้สื่อข่าวจากสถานที่ลี้ภัยในสถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปา ด้านราเซล ทอม ผู้ช่วยของเซลายาเผยว่า ประธานาธิบดีฮอนดูรัส ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่และนักเคลื่อนไหว 8 คน ให้เข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้

ความตึงเครียดลุกลามขึ้นเมื่อเซลายาลักลอบเดินทางกลับเข้าประเทศเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดยอาศัยลี้ภัยอยู่ที่สถานทูตบราซิลประจำประเทศ หลังถูกรัฐประหารและขับออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้นำรัฐบาลรักษาการออกประกาศภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือนและสั่งปิดสถานีวิทยุ 2 แห่งที่สนับสนุนเซลายา

ด้าน ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ “ลูลา” ดา ซิลวา ผู้นำบราซิลกล่าววานนี้ (6) ว่า มิเชเลตติสมควรก้าวลงจากตำแหน่งเพื่อยุติความขัดแย้ง

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันจันทร์ (5) มิเชเลตติได้สั่งยุติการจำกัดสิทธิพลเรือนและยกเลิกการปิดสถานีวิทยุ 2 แห่ง ที่จงรักภักดีต่อประธานาธิบดีเซลายา

แต่กว่าที่ประชาชนจะได้รับอนุญาตให้ชุมนุมประท้วงอีกครั้งและกว่าที่สถานีวิทยุ 2 แห่งจะได้ออกอากาศตามปกติ ยังต้องใช้เวลาอีกหลายวัน ทำให้เซลายา ซึ่งอาศัยลี้ภัยอยู่ที่สถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิกัลปา กล่าวหารัฐบาลรักษาการว่า กำลังเล่นเกมตุกติก

ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา
มานูเอล เซลายา
กำลังโหลดความคิดเห็น