xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนภูมิภาคเยือนฮอนดูรัส เพื่อติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - คณะผู้แทนจากองค์การรัฐอเมริกัน (โอเอเอส) เดินทางถึงกรุงเตกูซิกัลปาวานนี้ (18) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮอนดูรัส นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน

ตลอด 2 สัปดาห์ที่จะพำนัก ณ กรุงเตกูซิกัลปา คณะผู้แทนจากองค์การรัฐอเมริกัน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 ราย จะเข้าพบบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดทั้งฝ่ายรัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของโรเบร์โต มิเชเลตติ และฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนผู้หนึ่ง เผย

รัฐบาลรักษาการของมิเชเลตติ เพิ่งสั่งลิดรอนสิทธิพลเรือนในประเทศเพื่อสกัดกั้นการสำแดงพลังต่อต้านรัฐประหารและเหตุความไม่สงบ ซึ่งทางรัฐบาลรักษาการยอมรับว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งปิดสถานีวิทยุ 2 แห่งที่เป็นปรปักษ์กับรัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการธิการด้านผู้ต้องขังสูญหายในฮอนดูรัส เผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตในช่วงเดียวกันที่ 12 ราย ขณะที่คณะกรรมการธิการป้องกันสิทธิมนุษยชนบอกกับเอเอฟพี ว่า มีผู้บาดเจ็บอีก 25 ราย เนื่องจากถูกทหารยิง ระหว่างชุมนุมประท้วง

มิเชเลตติ เพิ่งสั่งยุติการลิดรอนสิทธิพลเรือนและยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว ก่อนที่คณะผู้แทนของโอเอเอสชุดแรกจะเดินทางเยือนฮอนดูรัสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อก่อร่างการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง แต่นักสังเกตการณ์หลายคน กล่าวว่า เป็นเพียงการตบตาเท่านั้น เพราะมาตรการดังกล่าวยังไม่ตีพิมพ์ลงในหนังสือทางราชการ

“รัฐบาลเผด็จการต้องการแสดงให้เห็นว่า ได้กอบกู้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ และกฎหมายเหล่านั้นยังไม่ถูกบังคับใช้” ฆวน บาราโฮนา ผู้นำแนวร่วมต่อต้านการรัฐประหารบอกกับผู้สื่อข่าว

คณะผู้แทนโอเอเอสชุดนี้จะพำนักที่กรุงเตกูซิกัลปา จนกว่าจะถึงวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เพื่อจัดเตรียมรายงานนำเสนอต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส ปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดี เซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกัน ว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น