xs
xsm
sm
md
lg

“ฮิลาลารี” เชื่อการเดินทางกลับประเทศของ ปธน.ฮอนดูรัสช่วยยุติวิกฤตในชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มานูเอล เซลายา
เอเอฟพี - ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ และออสการ์ อาริอัส ประธานาธิบดีคอสตาริกา กล่าววานนี้ (21) ว่า การลักลอบเดินทางกลับฮอนดูรัสของประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ เป็นโอกาสในการยุติวิกฤติการเมืองในประเทศ

“ตอนนี้ที่ประธานาธิบดีเซลายาลักลอบเดินทางกลับฮอนดูรัส ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการกลับคืนสู่ตำแหน่งของเขาภายใต้สภาวะที่เหมาะสม, เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้, มีการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีอย่างสันติ และนำพาประเทศชาติกลับสู่ครรลองรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย” คลินตันบอกกับผู้สื่อข่าวขณะเข้าพบประธานาธิบดีอาริอัสในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ

รัฐมนตรีหญิงรายนี้ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระงับความตึงเครียดและหลีกเลี่ยงความรุนแรง

“เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเริ่มการเจรจา ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างประธานาธิบดีเซลายาและรัฐบาลเฉพาะกาลชุดปัจจุบันของฮอนดูรัส” คลินตันกล่าว

“สิ่งสำคัญเช่นกันคือ การลักลอบเดินทางกลับประเทศของประธานาธิบดีเซลายา ต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความรุนแรงใดๆ”

ผู้สนับสนุนเซลายาจำนวนหลายพันคนออกมาชุมนุมตามท้องถนนในกรุงเตกูซิกัลปาวานนี้ (21) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อติดตามข่าวการเดินทางกลับประเทศของผู้นำฮอนดูรัส เกือบ 3 เดือน หลังเซลายาถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ขณะที่รัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัสปฏิเสธข่าวการเดินทางกลับประเทศของเซลายา

จากนั้นไม่นาน ผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลออกประกาศเคอร์ฟิวจนถึงเช้าวันนี้ (22)

คลินตันบอกว่า สหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนกับทั้งสองฝ่ายว่า อย่ากระทำการอันทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรง “ทั้งสองฝ่ายมีมวลชนสนับสนุน ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมและระมัดระวังการกระทำของแต่ละฝ่ายในหลายวันข้างหน้านี้”

ด้าน ประธานาธิบดีออสการ์ อาริอัส ผู้นำคอสตาริกา เจ้าของรางวัลโนเบล และเป็นตัวแทนจัดการเจรจาระหว่างเซลายากับรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งประสบความล้มเหลว ตั้งความหวังกับการยุติวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส

ผู้นำคอสตาริกาเรียกร้องให้เซลายาและรัฐบาลเฉพาะกาลลงนามในข้อตกลงซันโฮเซเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งเรียกร้องให้เซลายากลับคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยระบุว่า “ผมคิดว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุด เวลาที่ดีที่สุด ตอนนี้ที่เซลายาเดินทางกลับประเทศ”

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดี เซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น