xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ถอนวีซ่าทูตเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อ รบ.ฮอนดูรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีเซลายา
เอเจนซี/เอเอฟพี - สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันต่อคณะรัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดูรัส ขณะที่ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ยังคงปักหลักอยู่ที่ประเทศนิการากัว 1 เดือน หลังถูกรัฐประหารยึดอำนาจและขับออกนอกประเทศ

สหรัฐฯ กำลังทบทวนวิซ่าทูตของสมาชิกรัฐบาลเฉพาะกาลฮอนดูรัสอีกจำนวนหนึ่ง และ “ได้เพิกถอนวีซ่าของสมาชิกรัฐบาลไปแล้ว 4 ราย” เอียน เคลลีโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวในวอชิงตัน

“เราไม่ยอมรับโรเบร์โต มิเชเล็ตตี ในฐานะประธานาธิบดีของฮอนดูรัส” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบข้อซักถามว่าทำไมถึงดำเนินการเพิกถอนวีซ่า

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ถูกเพิกถอนวีซ่า แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเฉพาะกาลของฮอนดุรัสกล่าวว่า รายชื่อเหล่านั้นรวมถึงผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้จับกุมตัวเซลายาเมื่อปลายเดือนมิถุนายน

ก่อนหน้านั้น กรุงวอชิงตันปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐบาลของมิเชเล็ตตี ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งหลังเซลายาถูกรัฐประหารยืดอำนาจเมื่อปลายเดือนก่อน ตลอดจนตัดความช่วยเหลือทางทหารจำนวน 16.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับประเทศแถบอเมริกากลางแห่งนี้

หลังประชาคมโลกแสดงท่าทีประณามและยุติความช่วยเหลือด้านต่างๆ ต่อฮอนดูรัส ประธานาธิบดีเซลายาออกมาขานรับมาตรการดังกล่าวในทันที ขณะลี้ภัยอยู่ที่ประเทศนิการากัว บริเวณพรมแดนซึ่งอยู่ห่างจากอาณาเขตของฮอนดูรัสเพียงไม่กี่ก้าว

“เรากำลังได้รับชัยชนะจากพระเจ้าและประชาชน ขณะที่พวกเขากำลังประสบกับความพ่ายแพ้” เซลายากล่าว

“พวกเขาถูกโดดเดี่ยว พวกเขาถูกปิดล้อม พวกเขาเดียวดาย” เซลายาพูดถึงคณะรัฐประหาร

รัฐบาลของมิเชเล็ตตี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหาร, ศาลสูงและรัฐสภา ปฏิเสธแรงประณามจากประชาคมโลก พร้อมกับยืนกรานว่า จะไม่อนุญาตให้เซลายากลับสู่มาตุภูมิ

วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายาประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอกโรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกันว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา
เหตุความไม่สงบในฮอนดูรัส
โรเบร์โต มิเชเล็ตตี
กำลังโหลดความคิดเห็น