xs
xsm
sm
md
lg

‘การปฏิวัติ’แบบที่ตะวันตกอยากเห็น‘ล้มเหลว’ลงที่อิหร่าน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

‘การปฏิวัติ’แบบที่ตะวันตกอยากเห็น‘ล้มเหลว’ลงที่อิหร่าน (ตอนแรก)
โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

‘Color’ revolution fizzles in Iran
By M K Bhadrakumar
22/06/2009

การประลองกำลังกันในสัปดาห์ที่แล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่า ศักยภาพของผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน อาลี คาเมเนอี ในการควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำท่าเหมือนระเบิดตูมตามขึ้นมานั้น แท้ที่จริงแล้วไม่เคยเป็นที่น่าสงสัยข้องใจเลย ดังเห็นได้จากการขัดขวางความพยายามของคู่แข่งคนสำคัญอย่าง อักบาร์ ฮาเชมี รัฟซันจานี ที่จะรวบรวมคณะนักการศาสนาให้มาคัดค้านต่อต้านเขา ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็เล่นเกมได้อย่างเยือกเย็น ไม่เคยถอยหลังออกจากคำมั่นสัญญาของเขาที่ว่าจะคบค้าโดยตรงกับเตหะราน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พวกอิสราเอลนั้นช่างเป็นตัวอย่างอันดีเลิศของความเป็นนักยอมรับความเป็นจริง (realist) ดังนั้น สัญญาณเตือนอันแรกสุดที่ว่า โครงการสุดแสนอาจหาญที่จะก่อ “การปฏิวัติทวิตเตอร์” (Twitter Revolution) ขึ้นในอิหร่านนั้น กำลังจะล้มเหลวลงแล้ว จึงมาจากพวกอิสราเอลนี่เอง แล้วมันก็สอดคล้องกันเป็นอันดีกับข้อบ่งชี้หลายๆ ประการที่ว่า ศักยภาพของผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ในการควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำท่าเหมือนระเบิดตูมตามขึ้นมานั้น แท้ที่จริงแล้วไม่เคยเป็นที่น่าสงสัยข้องใจอะไรเลย ไม่ว่าจะมีการโฆษณาเกินจริงสักเพียงใดในสื่อฝ่ายตะวันตก รวมทั้งที่บอกว่าเตหะรานกำลังประสบความยากลำบาก ชนิดเหมือนต้องคอยเลี้ยงตัวอยู่บน “คมมีด”

และถ้าหากยังมีความสงสัยข้องใจอะไรกันอีก มันก็ควรจะถูกขจัดไปด้วยน้ำเสียงขุ่นเคืองของบรรดาสื่อซาอุดีอาระเบียซึ่งอยู่ในความควบคุมของรัฐ ที่มีการโจมตีเป็นการส่วนตัวอย่างโหดร้ายและไม่เคยกระทำกันมาก่อน ต่อทั้งคาเมเนอี และประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจัด (Mahmud Ahmadinejad) ความหวังล้มๆ แล้งๆ ของทางการริยาดที่จะได้เห็นระบอบปกครองอิหร่านต้องทรุดโทรมอ่อนแรงจากวิกฤตอันยืดเยื้อยาวนานนั้น กลับกำลังสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว คู่คิดคู่สนทนาคนสำคัญของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้แก่ อดีตประธานาธิบดี อักบาร์ ฮาเชมี รัฟซันจานี (Ahbar Hashemi Rafsanjani) ถูกกำจัดหายไปจากกระดานหมากรุกเสียแล้ว และตอนนี้ริยาดก็ดูเหมือนกำลังเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับความโกรธกริ้วจากเตหะราน

**การทำนายอาการโรคได้อย่างไร้ที่ติของอิสราเอล**

ในการปล่อยข่าวรั่วสู่สื่อมวลชนอย่างตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพียงไม่นานหลังจากคาเมเนอีไปกล่าวเทศนาครั้งประวัติศาสตร์ ณ พิธีละหมาดใหญ่วันศุกร์ในกรุงเตหะรานเสร็จสิ้นลง เมร์ ดาแกน (Meir Dagan) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง “มอสซาด” (Mossad) ของอิสราเอล ก็ได้ทำให้เป็นที่รู้กันไปทั่วว่า หากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปรากฏว่าผู้สมัครฝ่ายค้าน มีร์ ฮอสเซน มูซาวี (Mir Hossein Mousavi) กลายเป็นผู้ชนะ ก็จะกลายเป็น “ปัญหาใหญ่” สำหรับอิสราเอล

พวกอิสราเอลนั้นมีเทคนิควิธีการในการพูดจาสื่อสารเรื่องอะไรต่อมิอะไร คำพูดเช่นนี้เท่ากับการยอมรับเป็นนัยๆ ถึงความเป็นจริงทางการเมืองในเตหะราน ในระหว่างไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศและกลาโหมของรัฐสภา “คะเนสเซต” (Knesset) เมื่อวันอังคารที่แล้ว(16) สายลับใหญ่ของอิสราเอลผู้นี้สามารถมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่าการประท้วงในอิหร่านจะหมดน้ำยาไปในที่สุด ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ฮา อาเรซ (Ha’aretz) ดาแกนกล่าวว่า “เรื่องทุจริตการเลือกตั้งในอิหร่านก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในบรรดารัฐเสรีทั้งหลายในระหว่างที่มีการเลือกตั้งเลย การต่อสู้แย่งชิงกันเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในอิหร่านคือเรื่องภายในของเขา และไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับความมุ่งมาตรปรารถนาของประเทศนั้น รวมทั้งเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของประเทศนั้นด้วย”

เขาอธิบายขยายความว่า “โลกและก็เราด้วย ต่างรู้จักอาห์มาดิเนจัดกันแล้ว ถ้าผู้สมัครหัวปฏิรูปอย่างมูซาวีเป็นผู้ชนะ อิสราเอลก็อาจจะต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วงยิ่งขึ้น เพราะจะต้องไปอธิบายต่อโลกให้เข้าใจถึงอันตรายจากภัยคุกคามของอิหร่าน เนื่องจากแวดวงระหว่างประเทศมีความรับรู้เข้าใจต่อมูซาวีว่าเป็นพวกสายกลาง มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจดจำเอาไว้ให้ดีว่า เขาคนนี้แหละคือผู้ที่เริ่มต้นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อตอนที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี”

มันช่างเป็นการประเมินที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ที่ตำหนิจริงๆ ด้วยความชำนิชำนาญในชั้นเชิงการทูตแบบ “เข้าช่องเข้าประตูหลังบ้าน” อิสราเอลก็ได้ส่งสัญญาณไปยังเตหะรานว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ “สี” (“colour” revolution หมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งเกิดขบวนการลุกฮือเพื่อโค่นรัฐบาลที่ฝักใฝ่รัสเซียและหันมาจัดตั้งรัฐบาลที่ฝักใฝ่ตะวันตก โดยที่ขบวนการเหล่านี้นิยมใช้สีต่างๆ เป็นสัญญลักษณ์ เช่น การปฏิวัติสีกุหลาบในจอร์เจีย, การปฏิวัติสีส้มในยูเครน ผู้เขียนดูจะต้องการเทียบเคียงว่าการลุกฮือในอิหร่านคราวนี้ ก็อยู่ในลักษณะการปฏิวัติ “สี” ทำนองนี้ –ผู้แปล) ใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นการส่งสัญญาณที่ถูกจังหวะเวลาเหมาะเหม็งมากทีเดียว จริงอยู่ ความแตกแยกภายในระบอบปกครองอิหร่านที่เคยซุกซ่อนอยู่ภายในมาบัดนี้ได้เผยโฉมออกมาให้เห็นต่อภายนอกแล้ว ทว่ามันก็เป็นที่ชัดเจนเหลือเกินว่าไม่ได้มีช่องมีทางอะไรให้แก่การปฏิวัติ “สี” ในอิหร่านวันนี้หรอก

แม้กระทั่งนักวิจารณ์ระบบปกครองนี้ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความแหลมคมไม่มีไว้หน้า อย่างนักเขียนผู้คร่ำหวอด อามีร์ ตอเฮรี (Amir Taheri) ก็ยังยอมรับว่า

“ฐานของระบอบปกครองนี้ได้รับประโยชน์มากจากการแสดงความเอื้ออารีคอยแจกข้าวแจกของของอาห์มาดิเนจัด ขณะเดียวกัน ส่วนอื่นๆ ของสังคมอิหร่านก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะมีใครคนอื่นที่ทำได้ดีกว่านี้ ความอ่อนแอสำคัญที่สุดของอาห์มาดิเนจัด อยู่ที่ความล้มเหลวของเขาที่ไม่สามารถนำเอาพวกมุลลาห์นักสอนศาสนาที่ร่ำรวยและทุจริตมารับโทษทัณฑ์ อย่างที่เขาได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ พวกผู้สนับสนุนเขาบอกว่านั่นจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นในสมัยที่สองของเขา ... ทุกวันนี้ เขาคือผู้นำที่แท้จริงของขบวนการชาวโคไมนี (Khomeinist movement)ในวิถีทางที่มูซาวี หรือ [อดีตประธานาธิบดี โมฮัมหมัด] คาตามี (Mohammad Khatami) หรือใครคนอื่นในประดาพวกชาวโคไมนีครึ่งๆ กลางๆ ล้วนแต่ไม่สามารถเป็นได้”

**ข้อจำกัดของมูซาวี**

กระนั้นก็ดี มูซาวีก็เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดความหวังขึ้นในโลกตะวันตก ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ ลอนดอน, ปารีส, และเบอร์ลิน ตลอดจนตามเมืองหลวงของชาติอาหรับที่ “ฝักใฝ่ตะวันตก” อื่นๆ แต่นั่นก็สืบเนื่องจากเขาเป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นของประเทศเหล่านี้ ในตอนที่เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และจากนั้นก็เป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี 1981-89 ประเด็นที่ประเทศเหล่านี้มีความหวังกับตัวเขา ไม่ได้เนื่องจากมองว่าเขาเคยเป็นพวกสมัยใหม่หรือนักปฏิรูปเลย หากจะอ้างคำพูดของตอเฮรี ผู้เลื่องชื่อในการเป็นนักบันทึกเหตุการณ์ในตะวันออกกลางแล้ว ก็ต้องบอกว่า เมื่อตอนที่มูวารีอยู่ในอำนาจนั้น เขา “ได้พัฒนาเครือข่ายการติดต่ออันกว้างขวางทั้งในสหรัฐฯ, ยุโรป, และพวกประเทศอาหรับ”

ตอเฮรี ผู้เดินกระทบไหล่กับพวกชนชั้นนำชาวอาหรับและตะวันตกได้อย่างไม่คร้ามเกรงใคร บอกเล่าข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับพวกสมาชิกในกลุ่มมูซาวีเอาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง เขาทบทวนให้ฟังว่า เบห์ซาด นับวี (Behzad Nabvi) บุคคลผู้นำการเจรจาอันยาวยืดในกรุงแอลเจียร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการปล่อยพวกตัวประกันชาวอเมริกันในปี 1981 เวลานี้ก็ยังคงเป็นผู้ช่วยของมูซาวี เช่นเดียวกับ อับบาส คันการิอู (Abbas Kangarioo) ผู้ดำเนินการเจรจาลับๆ กับคณะรัฐบาลโรนัลด์ เรแกน ในสิ่งที่ต่อมารู้จักกันในนามข้อตกลงอิหร่าน-คอนทรา (Iran-Contra) คันการิอู ผู้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญและเพื่อนของมูซาวี ยังมีความโดดเด่นในเรื่องที่กำลัง “พัฒนาเครือข่ายการติดต่อในแวดวงข่าวกรองและการทูตทั้งในยุโรปและในสหรัฐฯ”

ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ตอเฮรีประเมินว่า ขณะที่ชื่อเสียงของมูซาวีอาจจะเลื่องลือไปกว้างไกลในแวดวงข่าวกรองฝ่ายตะวันตก แรงดึงดูดใจที่สำคัญที่สุดของเขาต่อคนภายในอิหร่านเอง กลับจำกัดอยู่แต่ในพวกชนชั้นกลางตามเขตเมือง ผู้ปรารถนาให้ “การปฏิวัติของชาวโคไมนีเจือจางและเลือนหายไป ... คนอย่างมูซาวีและอดีตประธานาธิบดีโมฮัมหมัด คาตามี และอดีตประธานาธิบดีฮาเชมี รัฟซันจานี ไม่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นนักปฏิวัติที่แท้จริงมาตั้งนานแล้ว”

แม้จะมาจากอีกทิศทางหนึ่ง แต่ในทางเป็นจริงตอเฮรีก็มาถึงข้อสรุปอันชัดเจนแบบเดียวกับหัวหน้าสายลับอิสราเอล นั่นคือ คู่คิดคู่สนทนาผู้อ่อนแอซึ่งไม่ได้มีชาวโคไมนีเป็นฐานอย่างมูซาวีนั้น ไม่มีทางดำเนินการอ่อนข้อต่างๆ ตามที่สหรัฐฯ, ยุโรป, และประเทศอาหรับเรียกร้องได้เลย ขณะที่อาห์มาดิเนจัดสามารถที่จะผ่อนปรนจุดยืนให้นุ่มนวลยิ่งขึ้นได้ โดยที่มันจะถูกมองแค่เป็นเพียงการเดินหมากอันชาญฉลาดเท่านั้น ฟังดูเหมือนมันขัดแย้งกันอยู่ แต่จริงๆ แล้ว สำหรับฝ่ายตะวันตก การเจรจากับอาห์มาดิเนจัดอาจกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่า เนื่องจากเขาคือผู้ที่มีสิทธิมีเสียงอย่างแท้จริง

มองย้อนกลับไปตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่าอาห์มาดิเนจัดได้ฟื้นฟูแรงเชื่อมต่อที่มีอยู่ ระหว่างระบอบปกครองนี้กับวาทกรรมแบบนักประชานิยมหัวรุนแรง “เมื่อ 4 ปีก่อน” ตอเฮรีเขียนเอาไว้ดังนี้ “ภาพลักษณ์ของระบอบปกครองนี้คือระบอบของกลุ่มนักสอนศาสนาระดับกลางๆ กับเหล่าผู้ร่วมธุรกิจของพวกเขา ซึ่งบริหารประเทศเสมือนหนึ่งเป็นบริษัทเอกชนเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเองเท่านั้น ส่วนฐานซึ่งเป็น “พวกที่ถูกกดขี่” ของระบอบนี้ มองเห็นตัวเองเป็นเหยื่อของการหลอกลวงต้มตุ๋นครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่ภายใต้อาห์มาดิเนจัด พวกนักปฏิวัติรุ่นใหม่ได้ก้าวออกมาหน้าเวที ฉายให้เห็นภาพลักษณ์ของความเคร่งศาสนาและความซื่อสัตย์ ทำให้ “พวกที่ถูกกดขี่” รู้สึกมั่นอกมั่นใจขึ้นมาใหม่ว่าอะไรๆ ทั้งหมดยังไม่ได้สูญเสียไป”

ความเป็นประชานิยมของอาห์มาดิเนจัดนับว่าเป็นเสมือนดาบสองคม ถ้าดำเนินนโยบายนี้นานเกินไป มันก็อาจจะบ่อนทำลายความชอบธรรมของระบอบปกครองนี้ ซึ่งย่อมต้องรวมเอาภาคส่วนที่เสื่อมโทรมเน่าเฟะของสถาบันนักการศาสนาเข้าไว้ด้วย แต่อาห์มาดิเนจัดก็เป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาด แล้วเขาเติบโตขึ้นด้วยอย่างแน่นอนในระหว่างดำรงตำแหน่งมาตลอด 4 ปีเหล่านี้ ถึงแม้เขาชื่นชอบสร้างภาพตัวเองให้เป็นเสมือนหัวรถจักรที่พุ่งตะบึงไปข้างหน้าโดยไม่มีเบรกหรือเกียร์ถอยหลัง แต่เขาก็ทราบว่าควรจะหยุดที่ตรงไหน และเมื่อใดควรจะเมียงมองไปทางอื่นบ้าง ดังนั้น เขาก็ได้เล่นงานพฤติการณ์ทุจริตเน่าเฟะต่างๆ จำนวนมาก อีกทั้งข่มขู่ที่จะนำเอาตัวใหญ่ๆ มารับโทษทัณฑ์ ทว่าก็จะหยุดยั้งก่อนที่จะพุ่งไปจนถึงขั้นการกวาดจับตัวใหญ่ๆ จริงๆ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ในสมัยที่สองของเขานี้อาห์มาดิเนจัดจะวางอวนของเขาให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นหรือไม่

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ‘การปฏิวัติ’แบบที่ตะวันตกอยากเห็น‘ล้มเหลว’ลงที่อิหร่าน (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น