xs
xsm
sm
md
lg

‘ดอกไม้กลางสภา’ ไม้ประดับทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์
หากไปถามชาวบ้านทั่วๆ ไปว่ารู้จักนักการเมืองหญิงคนไหนบ้าง เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นชื่อของชื่อ ‘สุดารัตน์’ หรือ ‘ปวีณา’ หรือถ้าเป็นคนที่ติดตามการเมืองสักหน่อย ก็อาจจะเพิ่มชื่อของ ‘รสนา’ เข้ามาอีกชื่อ

เรื่องที่น่าสงสัยก็คือ เพราะอะไรคนส่วนใหญ่ถึงไม่ค่อยรู้จักนักการเมืองหญิง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วบ้านเราก็ยังมีนักการเมืองหญิงอีกเพียบ และมีมากกว่า 30 ปีแล้ว
ยิ่งเมื่อนำเรื่องนี้ ไปเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียตะตกเฉียงใต้ อย่างอินเดีย หรือศรีลังกาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัด เพราะในประเทศเหล่านั้น นักการเมืองหญิงต่างพาเหรดกันก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่โด ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กันเป็นว่าเล่น

แม้แต่โลกตะวันออกกลางที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมของศาสนาอิสลามอย่างมาก ผู้หญิงก็ยังสามารถเล็ดรอดเข้าไปมีบทบาทอันโดดเด่นในสภาได้หลายคน
หากย้อนกลับมาดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่ามันกำลังสะท้อนภาพอะไรของสังคมอยู่หรือเปล่า

เพราะ ‘ผู้หญิงไทยไม่เก่งหรือเปล่า’ ซึ่งก็คงไม่ใช่ เพราะผู้หญิงที่โดดเด่นในภาคประชาชน และมีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องสิ่งต่างๆ เพื่อสังคม ก็มีให้เห็นอยู่หลายคน เช่น อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด

เพราะฉะนั้น ในโอกาสนี้ เราจะมาดูกันว่า อะไรที่เป็นสาเหตุทำให้นักการเมืองหญิงในสภาจึงได้เงียบฉี่แบบนี้ หรือนี่จะเป็นเพราะกระแสนอมินีหุ่นเชิดประเภท ‘ผัวเชิดเมีย’ ‘พ่อสั่งลูก’ หรือ ‘พี่ส่งน้อง’ อย่างที่ใครๆ เข้าว่ากัน

ใครส่งประกวด

หลังมีการตัดสิทธิ์นักการเมืองจำนวน 220 คน อาชีพนักการเมืองหญิงก็ดูจะเบ่งบานเป็นดอกเห็ดหน้าฝน เพราะพวกเธอถูกตีตราไปแล้วว่าคือตัวแทนหรือนอมินีที่นักการเมืองชาย ในฐานะสามี พ่อ พี่ ส่งเข้าประกวดเพื่อยึดกุมอำนาจไว้ไม่ให้หลุดมือ...ก็เท่านั้น
ลองไล่นามสกุลดู-
ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการ เธอเป็นอดีตพยาบาลที่ถูกส่งประกวดโดย ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ผู้เป็นสามี ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเธอทำอะไรไปบ้างแล้ว
พรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฉายา ‘เจ้าแม่ 3 วัด’ คือวัดโพ วัดไซ วัดดอน ภรรยาของ อนุชา นาคาศัย คนสนิทของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ส่งเข้าประกวดในโควตากลุ่มมัชฌิมา ซึ่งชื่นชอบการจำนำข้าว ข้าวโพด และมันเป็นชีวิตจิตใจ
นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนสนิทชิดใกล้ของ สุชาติ ตันเจริญ แห่งกลุ่มบ้านริมน้ำ
คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เครือข่ายกลุ่มทุนธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทย
ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส. เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ส่งประกวดโดยพ่อและแม่ของเธอ ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อ
วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. เขต 2 จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ลูกสาวของ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ คนสนิทเจ๊แดง เธอเคยพูดว่าการถูกจวกในสภาว่าอภิปรายเหมือนท่องบทก็ถือว่าได้เกิดในสภาแล้ว
แล้วยังมี-ตรีนุช เทียนทอง, ละออง ติยะไพรัช, ฐิติมา ฉายแสง, วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์, อานิก อัมระนันทน์, อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์, พัชรี โพธสุธน นี่เป็นเพียงตัวอย่างของบรรดานักการเมืองหญิงที่ถูกส่งเข้ามาเป็นนอมินี
คำถามสำคัญมีอยู่ว่า การที่มีนักการเมืองหญิงเพิ่มมากขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มมากขึ้นถึง 61 คน มันได้ตอบโจทย์ในเชิงเนื้อหาสาระใดๆ บ้างหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว

ผู้หญิงมากขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนไป

ศุภมาส อิสรภักดี รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย และอดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร 2 สมัย มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าน่าจะมาจากการที่สังคมเริ่มเปิดโอกาสให้ผู้หญิง เข้ามาทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ตรงนี้ก็ถือปรากฏการณ์ที่คู่ขนานไปกับวงการราชการไทย เพราะทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าผู้หญิงมักได้รับการส่งเสริมให้เข้าไปมีบทบาทในตำแหน่งบริหารเพิ่มขึ้น ทั้งปลัดกระทรวง อธิบดี หรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด

“โดยส่วนตัวมองว่าประชาชนจำนวนมากก็อยากได้ผู้แทนที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีความละเอียด อ่อนหวานมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคุณลักษณะของผู้รับใช้ และถ้าจะพูดกันจริงๆ หน้าที่ของ ส.ส. เองก็คือผู้รับใช้ของประชาชน ขณะเดียวกัน ก็คิดว่าปัจจุบัน ประชาชนไม่ได้เลือก ส.ส. เพราะความเป็นชายหรือหญิงอีกแล้ว แต่เขาจะเลือกดูจากความขยัน การศึกษา ประสบการณ์ ความตั้งใจจริงในการทำงานมากกว่า”

แต่ถึงอย่างไร ศุภมาสก็ยอมรับถึงข้อดีของการมีผู้หญิงเข้าสู่สภาจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของสตรี

“หากจะว่ากันจริงๆ แล้ว บทบาทในสภาของผู้ชายกับผู้หญิงก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่เวลาที่กฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิงเข้ามาในสภา เช่น กฎหมายเรื่อสินสมรส กฎหมายเรื่องการใช้นามสกุลเดิมหลังแต่งงาน ผู้ชายจะไม่ค่อยผลักดันเรื่องพวกนี้สักเท่าไหร่ จนกระทั่งในยุคที่ผู้หญิงมากๆ คือ 50-60 คน กฎหมายเหล่านี้ถึงถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง อีกอย่างหนึ่งที่ถือเป็นข้อดีของผู้หญิงก็คือเวลาที่เราหยิบยกกฎหมายอะไรขึ้นมา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับสตรีหรือไม่ ก็มักจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนมากกว่า กฎหมายฉบับเดียวกันที่ผู้ชายเป็นคนเสนอ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ และถ้าหากผู้หญิงสามารถทำอะไรได้ทัดเทียมกับผู้ชาย ก็จะถูกยกย่องและได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง”

ด้าน รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ก็มองสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กับรองโฆษกพรรคภูมิใจไทย ว่าปัจจุบันนี้ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นทุกวงการ ไม่ใช่แค่วงการการเมืองเท่านั้น ซึ่งนี่ก็อาจจะถือเป็นธรรมชาติของโลกเปลี่ยนแปลงไป อย่างในองค์กรพัฒนาเอกชนเอง 30 ปีที่ผ่านมา ถือว่าชัดเจนมาก อย่างทศวรรษแรก ผู้หญิงมีเพียง 2-3 คนเท่านั้น นอกนั้นเป็นผู้ชายหมด ผ่านมาอีก 10 ปี ชายหญิงเริ่มแบ่งครึ่งๆ กัน ผ่านมาอีก 10 ปีกลายเป็นผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย

รสนาอธิบายถึงข้อดีของการมีผู้หญิงเข้ามาในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมว่า

“เราสังเกตได้เลยว่าวิธีมองหรือวิธีทำงานของผู้หญิงนั้นแตกต่างกับผู้ชายมาก อย่างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเห็นว่า หากผู้หญิงขึ้นมาเป็น การทุจริตคอรัปชั่นจะน้อยลง เพราะผู้หญิงจะชอบเข้าไปดูแลสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ขณะที่ผู้ชายที่ชอบคิดแต่เรื่องใหญ่ๆ ไม่ค่อยสนใจเรื่องเล็กๆ”

แต่สำหรับการเมืองระดับชาติแล้ว ถือว่าผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้เท่าที่ควร เพระผู้หญิงที่เข้ามาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นตัวแทนของครอบครัว ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ เพราะถูกควบคุมหรือสั่งการจากครอบครัวหรือพรรค

“หากผู้หญิงที่เข้ามาในสภา เป็นผู้หญิงที่ลักษณะวิธีคิดที่แตกต่างจากผู้ชาย และใช้คุณลักษณะของความเป็นผู้หญิงเข้ามาทำงาน จะทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่เท่าที่สังเกต พบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้หญิงที่เข้ามาหลายคน ก็แค่เลียนแบบผู้ชายหรือเป็นนอมินีของผู้ชายเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายคนว่าทั้งหมดจะเป็นแบบนี้ เพราะผู้หญิงที่ความสามารถและใช้ความเป็นตัวเองเอามาทำงานก็มีอยู่เหมือนกัน”

สำหรับในประเด็นนี้ ศุภมาสมองในมุมที่ต่างออกไป โดยมองว่าการที่ครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกเข้ามาทำงานทางเมืองมากกว่าหนึ่ง ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ แล้วการที่จะบอกว่าคนนี้เข้ามาแทนคนนี้ ก็คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะแต่ละคนก็มีความสามารถที่จะทำงานได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะให้ความไว้วางใจเลือกเข้ามาทำหน้าที่ได้อย่างไร

“ในสภาก็มีเหตุการณ์อย่างนี้ปรากฏขึ้นมาตลอด อย่างครอบครัวของท่านบรรหาร ศิลปอาชา ลูกสาวท่าน ท่านกัญจนาก็ไม่ใช่นอมินีของใคร แต่เป็นคนที่มีความสามารถและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และเมื่อถึงเวลาท่านก็เข้ามาเล่นการเมือง เข้ามาเป็นรัฐมนตรี หรืออย่างลูกชายเองก็เหมือนกัน เมื่อถึงจังหวะท่านก็เข้ามา”

นอกจากประเด็นเรื่อง ส.ส. แล้ว ศุภมาศยังแสดงความเห็นไปถึงการที่ภรรยาของนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยว่า เรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะรัฐมนตรีหลายๆ คนต่างก็มีความสามารถ บางคนเคยเป็นเจ้าของกิจการ ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นจะมาปรามาสว่า คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของใคร มีคนอยู่เบื้องหลังคอยสั่งการอยู่ก็คงไม่ถูกต้อง และที่สำคัญโดยส่วนตัวเชื่อว่า หากรัฐมนตรีหญิงเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้จริง สุดท้ายก็คงอยู่ไม่ได้และถูกปรับออกไปในที่สุด

ขณะที่ รสนา กลับแสดงความเห็นแย้งว่า ปัจจุบันนี้ผู้หญิงที่ขึ้นมาได้ส่วนใหญ่ก็มาจากระบบพรรคหรือโควตาของครอบครัว จะเห็นได้ว่าหลายๆ คนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามีวุฒิภาวะเพียงพอหรือไม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ แต่สุดท้ายบุคคลเหล่านี้ก็ถูกดันขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีจนได้

“ลองสังเกตดูก็ได้ ทุกรัฐบาลเลย ผู้หญิงที่ขึ้นมาล้วนแต่มีฐานเสียง ฐานเงินที่แข็งแกร่งทั้งนั้น ขณะที่ผู้หญิงที่มีความสามารถ แต่ไม่มีฐานพวกนี้ โอกาสที่จะถูกหยิบขึ้นมานั้น ไม่มีทางเลย”

สตรีนิยม: ก็แค่ปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ

“นักสตรีนิยมสายเสรีนิยมจะยอมรับในกฎ ระเบียบ กติกา รูปแบบทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาผ่านทางรัฐสภา แต่ปัญหาก็คือในการเมืองแบบเสรีนิยมนั้นมองเห็นถึงปัญหาของสตรีหรือไม่ ถ้ามีจะแก้อย่างไร นักสตรีนิยมสายนี้มองว่าการเมืองแบบเสรีนิยมนั้น ถึงแม้จะพูดถึงมนุษย์ พูดถึงประชาชน แต่ก็ไม่ได้จำแนกประเภทคนตามความเป็นจริงที่มีอยู่ เช่น คนจน คนรวย ผู้หญิง และผู้ชาย"

“การเมืองแบบเสรีนิยมนั้นมองผู้หญิงในมุมมองของผู้หญิงและมุมของของนักสตรีนิยมหรือไม่ ถ้าเธอเหล่านั้นไม่มอง หรือมองไม่เห็นและคิดว่าตรงนี้ไม่ใช่ปัญหา นักการเมืองที่เป็นเพศหญิงที่เข้าไปอยู่ในสภาก็จะไม่ได้เป็นนักการเมืองแนวสตรีนิยม ในสายตาของนักสตรีศึกษา เป็นเพียงแค่นักการเมืองเพศหญิง”

เป็นคำอธิบายผ่านแนวคิดสตรีนิยมของ ศ.ดร.ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ตัวอย่างเช่นปัญหาเรื่องจำนำข้าว มันอาจจะดูไม่มีเพศอยู่ในนั้น เป็นเรื่องของชาวนาผู้รับจำนำและรัฐบาล แต่นักสตรีนิยมจะมองว่า ภายในคำว่าชาวนา มีชาวนาที่เป็นผู้หญิงด้วยหรือมีสมาชิกครอบครัวชาวนาที่เป็นผู้หญิงอยู่ ปัญหาเรื่องข้าวนั้นมีผลกระทบต่อผู้หญิงไม่เหมือนกับผู้ชาย การแก้ปัญหาจึงต้องมีมิติมุมมองที่เห็นถึงความเป็นหญิงและเป็นชาย เช่น ปัญหาความยากจนนั้นผู้หญิงอาจจะได้รับผลกระทบมากหรือรุนแรงกว่าผู้ชาย เช่นผู้ชายอาจจะมีทางออกในการไปรับจ้างหรือไปจี้ปล้นเขา แต่ผู้หญิงอาจจะมีทางเลือกในการไปขายบริการ”

สำหรับสตรีนิยมแล้ว นักการเมืองหญิงในระบบประชาธิปไตยยังไม่สามารถสลัดตัวเองออกจากกรอบคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่เคยมีวิธีคิดแบบเพศหญิงอย่างแท้จริง ไม่ได้นำวิธีคิดที่มองว่าโลกนี้มีทั้งหญิงและชาย และปัญหาต่างๆ ที่โลกนี้เผชิญล้วนก่อผลกระทบต่อเพศและเพศภาวะไม่เท่ากัน ไม่มีข้อเสนอและไม่มีนโยบายที่ละเอียดพอที่จะเห็นความแตกต่างที่เกิดจากฐานเพศสภาพ

“นักการเมืองหญิงในไทย เธอมีเพศและเพศสภาพเป็นหญิง ในบางกรณีเธอก็คิดถึงปัญหาของเพศหญิงไปด้วย แต่ว่าเธอไม่ได้ไฮไลต์แนวคิดทางสตรีนิยม แต่การทำงานของเธอมีประโยชน์ แต่ยังไม่พอในมุมมองของนักสตรีนิยม การมีมากขึ้นของนักการเมืองหญิงนั้น จึงแค่ทำให้ภาพดีขึ้นเท่านั้นเอง ดีในเชิงตัวเลข มันดูเหมือนผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นการเมืองเชิงปริมาณเท่านั้น เหมือนกับการนับเสียงในสภา เหมือนกับการอ้างว่าคนเลือกผมตั้ง 20 ล้านคน มันเป็นแบบเดียวกัน มันไม่ใช่เชิงคุณภาพ”

คุณภาพนักการเมืองหญิง มีหวังแต่ไม่มีหวัง

ในฐานะของผู้หญิงที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เคลื่อนไหวทางการเมือง อังคณา นีลไพจิตร ตั้งข้อสังเกตไว้คล้ายคลึงกับรสนาในแง่ที่ว่า ด้วยโครงสร้างทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องใช้เงินปริมาณมหาศาลเพื่อผลักดันผู้สมัครเข้าสู่รัฐสภา จึงมีโอกาสน้อยมากที่ผู้หญิงที่ทำงานและมีความตั้งใจจริงจะได้เข้าสู่เวทีการเมือง ขณะที่นักการเมืองหญิงที่เห็นอยู่ตอนนี้ โดยมากก็เป็นตัวแทนของนักการเมืองผู้ชายที่ไม่ได้มีบทบาทที่เด่นชัดมาก่อนในเรื่องการทำงานปกป้องสิทธิของคนเล็กคนน้อย

อันที่จริง มุมมองเกี่ยวกับนักการเมืองผู้หญิงคงขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยว่าให้ความสนอกสนใจข่าวคราวการเมืองมากแค่ไหน ในสายตาของฟรีแลนซ์อย่าง พัชรี ปัญญามัง เธอไม่ได้รู้สึกมีความหวังอะไรเป็นพิเศษกับนักการเมืองหญิงในสภาว่าจะต้องทำให้การเมืองดีขึ้นหรือจะช่วยสร้างความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายในสังคม เธอพูดไม่อ้อมค้อมว่า

“ที่ไม่หวัง เพราะเราไม่รู้สึกว่าจะต้องฝากความหวังไว้ที่ใคร และเราก็ไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์ของเขาที่เขาจะต้องมาสนใจ”

แต่อย่างน้อยเธอก็ถือว่านักการเมืองหญิงไทยสอบผ่านระดับหนึ่ง ในแง่ที่ว่า เอ่อ... พวกเธอเป็นที่จับตามอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่านักการเมืองหญิงของไทยจะล้นคุณภาพหรือเป็นแค่นอมินี บางคนก็ถือว่าดีกว่าไม่มี อย่าง อุมาพร แจ่มเดชะศักดิ์ พนักงานธนาคารแห่งหนึ่งบอกกับเราว่า

“ก็ดีนะ ผู้หญิงจะได้มีบทบาทบ้าง แต่เราคิดว่ามันไม่ได้ขึ้นกับผู้หญิงหรือผู้ชายเพราะแต่ละคนก็มีความสามารถ ถ้ามีความสามารถ เข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ แล้วเป็นคนดี ไม่คดโกงบ้านเมืองก็โอเค

“เท่าที่เรารู้จักก็มีแค่คุณปวีณา หงสกุล คนเดียว คนอื่นก็ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ แต่ก็โอเคนะที่เขาเห็นปัญหาของผู้หญิงด้วยกัน และเอาปัญหาของผู้หญิงมาตีแผ่ให้คนได้รับรู้เรื่องการละเมิดสิทธิกับเด็กและสตรี บางทีถ้าเป็นผู้ชายอาจจะมองข้ามหรือไม่เข้าใจผู้หญิงเท่าผู้หญิงด้วยกัน”

สำหรับอังคณา เราถามเธอว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับคำครหาต่อนักการเมืองหญิง เธอตอบว่ามันเป็นสิ่งที่ผู้หญิงจะต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้

“ตัวผู้หญิงเองจำเป็นนะคะที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า คุณสามารถที่จะเป็นนักการเมืองที่ดีได้ คือดิฉันมีประสบการณ์ที่ผู้นำศาสนาหลายท่านที่ได้รับการยอมรับนับถือสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้ ขอให้ดิฉันลงสมัคร ส.ว. หรือ ส.ส. ท่านเหล่านั้นถามว่าทำไมไม่ลง ดิฉันก็ย้อนถามกลับไปว่าแต่ดิฉันเป็นผู้หญิงนะ ท่านก็บอกว่ามันไม่จำเป็นหรอก ผู้หญิงหรือผู้ชายก็เหมือนกัน ถ้าหากว่ามีความตั้งใจดีที่จะทำงาน คือบางทีถ้าหากเราทำงานให้ประชาชนได้เห็น ความเป็นผู้หญิงของเราก็ถูกมองข้าม คือไม่ได้คิดว่าเราเป็นผู้หญิงที่จะต้องอยู่ในบ้าน ถ้าเราพิสูจน์ตัวเองได้ ดิฉันคิดว่าผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องออกมาทำงานให้สังคมยอมรับ แล้วจะสามารถข้ามกำแพงตัวนี้ได้

“เคยคุยกับพี่น้องใน 3 จังหวัดภาคใต้ เขาก็จะบ่นว่า ส.ส. ส.ว. ที่เขาเลือกส่วนใหญ่พึ่งพาไม่ค่อยได้ เราก็จะถามเขากลับว่าแล้วเลือกเขามาทำไม คำตอบคือไม่รู้จะเลือกใครหรือไม่ก็ตอบว่าเพราะเป็นมุสลิมเหมือนกัน ตรงนี้เราก็เคยบอกเขาว่าถ้าพวกคุณคิดว่าเขาพึ่งพาไม่ได้ ลองล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อถอดถอนเขาดูสิ เพราะว่าถ้าเขาไม่ทำงานให้คุณ คุณมีสิทธิที่จะถอดถอนนะ ตรงนี้ก็อาจจะกระตุ้นให้ตัวแทนทั้งหลายทำงานมากขึ้นก็ได้ คือมันก็มีเรื่องของการเมืองภาคพลเมือง เรื่องของการตรวจสอบ ดิฉันว่าตรงนี้น่าจะสำคัญกว่าคนที่นั่งอยู่ในสภาด้วยซ้ำ”

ที่ต้องเอาเรื่องแบบนี้มาพูดกันอีกทั้งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ก็เพราะอยากจะกระทุ้งเตือนบรรดานักการเมืองทั้งหลายอีกครั้งว่า ประชาชนไม่ได้กินแกลบแทนข้าว อย่าคิดว่าจะส่งใครมาเป็น ส.ส. มาเป็นนักการเมืองก็ได้ แล้วประชาชนจะไม่สนใจ เพราะแต่ละคนที่ถูกส่งเข้ามาเป็นนอมินี ก็ต้องบอกตามตรงว่ายังสอบไม่ผ่าน บางคนถึงกับสาบสูญไปจากความทรงจำ เพราะวันๆ แทบไม่ได้ทำอะไรนอกจากเปิดผ้าคลุมป้าย

ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นแคลนผู้หญิง ตรงกันข้าม นี่เป็นเวทีชั้นเยี่ยมสำหรับพิสูจน์ตัวเองว่า นักการเมืองผู้หญิงมีกึ๋นไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย เพียงแต่พวกคุณ-นักการเมืองหญิง-จะต้องปลดแอกความเป็นนอมินีและปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชนเห็น ...ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้จริงหรือเปล่า เวรกรรมของประเทศ

***********
เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์
รสนา โตสิตระกูล
ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี
พรทิวา นาคาศัย
กำลังโหลดความคิดเห็น