xs
xsm
sm
md
lg

‘การปฏิวัติ’แบบที่ตะวันตกอยากเห็น‘ล้มเหลว’ลงที่อิหร่าน (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

‘Color’ revolution fizzles in Iran
By M K Bhadrakumar
22/06/2009

การประลองกำลังกันในสัปดาห์ที่แล้ว พิสูจน์ให้เห็นว่า ศักยภาพของผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน อาลี คาเมเนอี ในการควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำท่าเหมือนระเบิดตูมตามขึ้นมานั้น แท้ที่จริงแล้วไม่เคยเป็นที่น่าสงสัยข้องใจเลย ดังเห็นได้จากการขัดขวางความพยายามของคู่แข่งคนสำคัญอย่าง อักบาร์ ฮาเชมี รัฟซันจานี ที่จะรวบรวมคณะนักการศาสนาให้มาคัดค้านต่อต้านเขา ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็เล่นเกมได้อย่างเยือกเย็น ไม่เคยถอยหลังออกจากคำมั่นสัญญาของเขาที่ว่าจะคบค้าโดยตรงกับเตหะราน

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**รัฟซันจานีพ่ายแพ้เล่ห์กล**

อย่างไรก็ตาม คาเมเนอียังคงเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้าย อาห์มาดิเนจัดยอมรับอย่างเปิดเผยถึงตำแหน่งในทางอำนาจเช่นนี้ ด้วยการระบุในจดหมายอย่างเป็นทางการฉบับหนึ่งที่เขาส่งไปถึงคาเมเนอี แสดง “ความสำนึกในบุญคุณ” สำหรับการที่คาเมเนอี “ตั้งข้อสังเกตที่เป็นการช่วยเหลือ”เขา ในการเทศนาระหว่างการละหมาดเมื่อวันศุกร์

การประลองกำลังกันในสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่า คาเมเนอีประสบผลในการขัดขวางความพยายามของรัฟซันจานี ที่จะปลุกระดมรวบรวมคณะนักการศาสนาในเมืองกุม (Qom) จุดหัวเลี้ยวหัวต่อบังเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี(18) เมื่อเสียงข้างมากของสมาชิกจำนวน 86 คนในสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) ที่ทรงอำนาจยิ่ง (และมีรัฟซันจานีเป็นประธานสมัชชา) แสดงท่าทีหนุนหลังคาเมเนอีอย่างเปิดเผย

สมัชชาผู้เชี่ยวชาญเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจที่สุดของระบอบปกครองนี้ โดยที่มีอำนาจในการเลือกตั้งและถอดถอนผู้นำสูงสุด ตลอดจนกำกับตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้นำสูงสุด ปรากฏว่ามีสมาชิกราว 50 คนของสมัชชาผู้เชี่ยวชาญร่วมกันออกคำแถลงระบุว่า “พวกศัตรูของอิหร่าน” กำลังวางแผนและบงการอยู่เบื้องหลัง “ความไม่สงบและการจลาจล” สืบเนื่องจากการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยอาศัย “พวกที่ยอมไปรับจ้าง” ศัตรูของอิหร่านเหล่านี้ รัฟซันจานีพ่ายแพ้สงครามแล้วอย่างแน่นอนชัดเจน เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสมัชชาผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ แสดงความเชื่อมั่นว่า “ด้วยการชี้แนะอันเฉียบแหลมของท่านผู้นำ [สูงสุด]” แผนการเพทุบายของพวกศัตรูของอิหร่านจะต้องประสบความพ่ายแพ้

โดยที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเด็ดขาดเช่นนี้เอง คาเมเนอีก็ได้ไปกล่าวเทศนาครั้งประวัติศาสตร์ในการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งเขาปฏิเสธไม่ยอมให้มีการทบทวนใหม่ใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฟซันจานีไม่ได้ปรากฏตัวในพิธีละหมาดคราวนั้น แม้กระทั่งคาเมเนอีก็ยังบอกชัดเจนว่าเขาสนับสนุนอาห์มาดิเนจัด ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าทัศนะมุมมองของคนทั้งสองมีความสอดคล้องใกล้ชิดกันขนาดไหน

สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ คาเมเนอียังได้ระบุชื่อรัฟซันจานีออกมาแม้เขาไม่ได้อยู่ในที่ละหมาด ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นการส่งข้อความที่ดังกึกก้องและชัดเจนกระจ่าง นั่นคือ ความเป็นผู้นำสูงสุดของคาเมเนอีเป็นสิ่งที่จะมาท้าทายไม่ได้ และที่ถือเป็นลางร้ายที่สุดก็คือ ขณะที่คาเมเนอีประกาศอย่างสง่างามว่าจะยกโทษให้รัฟซันจานีสำหรับการทุจริตเป็นการส่วนตัวใดๆ ของเขานั้น เขากลับเปิดกว้างให้แก่การดำเนินคดีตามกฎหมายเอากับสมาชิกในครอบครัวของรัฟซันจานี มาถึงตอนนี้รัฟซั้นจานีจะต้องชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ ของเขาอย่างระมัดระวังยิ่ง เขาย่อมจะต้องคำนึงถึงดาบเพชฌฆาตที่แขวนลอยอยู่เหนือศีรษะเหล่าสมาชิกในครอบครัวของเขา ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสะสมทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลจากพฤติการณ์ทุจริตเสื่อมโทรมนานา

นอกจากนั้น คาเมเนอียังไม่ได้พยายามที่จะแสดงความคิดเห็นขัดแย้งอย่างชัดเจน กับข้อกล่าวหาร้ายแรงที่อาห์มาดิเนจัดหยิบยกขึ้นมาระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ข้อกล่าวหาเหล่านี้ระบุว่ารัฟซันจานีสมคบคิดกับระบอบปกครองซาอุดีอาระเบียเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของเขา ประธานาธิบดีอิหร่านย่อมไม่สามารถบ่งบอกกล่าวโทษอันฉกาจฉกรรจ์เช่นนี้ออกมาได้หรอก หากไม่ได้รับแจ้งข้อมูลเงื่อนงำจากฝ่ายข่าวกรอง ซึ่งก็อยู่ในความกำกับดูแลของท่านผู้นำสูงสุดนั่นเอง

พอถึงวันเสาร์(20) สมัชชาผู้เชี่ยวชาญได้ก้าวต่อไปอีกก้าวหนึ่ง ด้วยการแสดง “ความสนับสนุนอย่างแข็งขันหนักแน่น” ต่อคำเทศนาของคาเมเนอี สมัชชายังเรียกร้องให้ทั่วประเทศเคารพเชื่อฟังการชี้แนะของคาเมเนอี และในวันวันเสาร์นั้นเอง กองบัญชาการกองทัพอิหร่าน และสมาคมครูสอนศาสนาแห่งเมืองกุม ตลอดจนเสียงทรงอิทธิพลอีกมากมายในระบอบปกครอง ต่างออกมาแสดงการหนุนหลังอย่างเปิดเผยต่อคามาเนอี พวกที่เรียกกันว่านักการศาสนาหัวปฏิรูปที่ผูกพันธมิตรอยู่กับคาตามี ก็ยังเปลี่ยนความคิดและประกาศยกเลิกแผนการจัดการเดินขบวนในวันเสาร์

ดังนั้น ความเป็นจริงอันหนักแน่นจึงมีอยู่ว่า บรรดาอำนาจอันน่าเกรงขามของคาเมเนอีไม่ได้ถูกท้าทายอะไรทั้งนั้น เขาสามารถปล่อยให้การเดินขบวนของพวกชนชั้นกลางผู้ติดตามมูซาวีดำเนินต่อไปจนกว่าจะหมดแรง เนื่องจากเขามีอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะควบคุมสถานการณ์ในภาพรวม นั่นก็คือ แม้กระทั่งว่าการประท้วงอาจจะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง –ซึ่งดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากมูซาวีกำลังพบว่าตนเองอยู่ในจุดที่หนักหนาสาหัสมากๆ แล้ว—นั่นก็จะยังไม่อาจบ่อนทำลายลบล้างอำนาจรัฐได้

อย่างที่ตอเฮรีพูดเอาไว้ “พวกที่เรียกกันว่าเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่าน’ นั้น ไม่ได้ตระหนักรับรู้กันเลยว่า มูซาวีคือลูกบัลลูนที่ภาคส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางอิหร่านสูบลมเข้าไป เพื่อเป็นการแสดงความโกรธกริ้วของพวกตน ไม่เพียงต่ออาห์มาดิเนจัด หากแต่ต่อระบอบปกครองของชาวโคไมนีทั้งมวล พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีอะไรเลยในประวัติผลงานที่ผ่านมาของมูซาวี ... ที่จะทำให้เขามีเสน่ห์ดึงดูดใจมากกว่าอาห์มาดิเนจัด”

ในท้ายที่สุดของที่สุดทั้งหลาย ประชาคมระหว่างประเทศควรที่จะถอนหายใจด้วยความโล่งอกว่า ขณะที่ละครการเมืองอันสลับซับซ้อนและยุ่งเหยิงอย่างยิ่งเรื่องนี้กำลังคลี่คลายออกมานั้น จอร์จ ดับเบิลยู บุช ไม่ได้นั่งอยู่ในทำเนียบขาวที่กรุงวอชิงตันอีกแล้ว บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบันสามารถที่จะเข้าอกเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ และดำเนินนโยบายที่มีการขบคิดพิจารณาและชั่งน้ำหนักมาเป็นอย่างดี อีกทั้งยึดมั่นอย่างกว้างๆ กับนโยบายดังกล่าว ถึงแม้ปรากฏแรงกดดันแสดงความไม่พอใจจากพวกอนุรักษนิยมก็ตามที

คำแถลงต่างๆ ของเขาไม่ได้แม้กระทั่งตั้งคำถามอย่างอ้อมๆ ถึงสิทธิความชอบธรรมของอาห์มาดิเนจัดที่จะนำพาประเทศชาติ อย่าว่าแต่จะแสดงความข้องใจต่อคามาเนอีเลย นอกจากนั้นโอบามาก็ไม่ได้เอาตัวเองไปสนับสนุนการเรียกร้องของมูซาวีที่จะให้จัดการเลือกตั้งใหม่ หากจะพูดให้กระจ่างขึ้นแล้ว ก็ต้องบอกว่าเขาวางตัวเองให้ออกห่างจากมูซาวี สิ่งที่แน่นอนชัดเจนที่สุดก็คือ ไม่มีสักครั้งเดียวที่โอบามาพูดข่มขู่ว่าจะถอนข้อเสนอของเขาที่จะคบค้าพัวพันโดยตรงกับอิหร่านในอนาคตอันใกล้นี้

ขณะเดียวกัน โอบามายังเพิ่งดำเนินการอย่างสุขุมในการปรับเปลี่ยนพวกมือทำงานด้านอิหร่านในคณะรัฐบาลของเขาให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ขณะที่กำลังจะเริ่มนับถอยหลังเพื่อเริ่มการเจรจาโดยตรง ทั้งนี้เขาได้โยกย้าย เดนนิส รอสส์ ไปอยู่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษด้านอ่าวเปอร์เซียและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ แทนที่จะแต่งตั้งให้เขาเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษดูแลเรื่องอิหร่าน ในแบบเดียวกับตำแหน่งงานของ จอร์จ มิตเชลล์ ซึ่งดูแลครอบคลุมเรื่องปาเลสไตน์และอิสราเอล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเตหะรานย่อมยินดีต่อการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ เมื่อพิจารณาถึงทัศนะแบบสายเหยี่ยวของรอสส์ มาถึงตอนนี้ มันจะเป็นสิ่งถูกต้องเลยถ้าหากโอบามาขอร้องให้ ริชาร์ด โฮลบรูก ผู้แทนพิเศษดูแลเรื่องอัฟกานิสาถนและปากีสถาน เพิ่มเติมดูแลรับผิดชอบเรื่องอิหร่านด้วย

เป็นที่กระจ่างชัดว่า ฝ่ายอิหร่านมองเห็นแล้วในเรื่องที่คำแถลงต่างๆ ของตัวโอบามา ยังคงใช้ท่าทีระมัดระวังที่จะลดน้ำหนักให้เบาบางลง ถึงแม้วิทยุเสียงอเมริกาอาจจะเข้าไปก้าวก่ายพัวพันกับความปั่นป่วนวุ่นวายคราวนี้ด้วย ดังที่เตหะรานกล่าวหาก็ตามที เมื่อวันเสาร์ตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน มานูเชห์ร มอตตอกี (Manouchehr Mottaki) เปิดฉากโจมตีเล่นงานต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซง ก็เอ่ยชื่อของอังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี ทว่ายกเว้นไม่พูดถึงสหรัฐฯ (หรืออิสราเอล) และในหมู่ประเทศยุโรปนั้น เตหะรานก็เล็งปืนเขม็งไปยังอังกฤษ

มอตตอกีกล่าวว่า กองกำลังอังกฤษในอิรักได้ฝึกอบรมพวกก่อวินาศกรรมและนำคนเหล่านี้แทรกซึมเข้ามายังอิหร่าน แต่กระทั่งถึงตอนนั้น เขาก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในตัวเองของเตหะราน จากการที่เขาเลือกเล่นงานด้วยวิธีพูดจาเสียดสีล้อเลียน โดยบอกว่า มันถึงเวลาแล้วที่ลอนดอนควรต้องลืมเลือนคติพจน์ของตนที่ว่า “ในดินแดนจักรวรรดิอังกฤษนั้นพระอาทิตย์ไม่เคยตกดินเลย”

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
  • ‘การปฏิวัติ’แบบที่ตะวันตกอยากเห็น‘ล้มเหลว’ลงที่อิหร่าน (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น