xs
xsm
sm
md
lg

นายพลวังเปา: ‘พันธมิตร’ในยุคสงครามเย็น-‘ตัวป่วน’ในยุคนี้ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Cold War ally, modern-day nuisance
By Brian McCartan
10/01/2011

ชุมชนชาวม้งในสหรัฐอเมริกา อาจจะรู้สึกเศร้าโศกอาลัยกับการมรณกรรมของนายพล “วังเปา” บุรุษผู้มีศักยภาพมากที่สุดที่จะเป็นสัญลักษณ์ของ “สงครามลับ” ของซีไอเอในประเทศลาว ในฐานะที่เขาเป็นผู้บัญชาการของกองกำลังฝ่ายต่อต้านชาวม้ง ทว่าสำหรับทางการทั้งในวอชิงตัน, กรุงเทพฯ, และเวียงจันทน์ พวกเขาน่าที่จะพากันถอนหายใจด้วยความรู้สึกโล่งอกอย่างเงียบๆ มากกว่า วังเปาเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งของความเป็นปรปักษ์ต่างๆ ในยุคสงครามเย็น อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะธำรงรักษาความเป็นปรปักษ์เช่นนั้นเอาไว้ด้วย ขณะที่มันได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคแถบนี้และในสหรัฐอเมริกา ปรารถนาที่จะนำมากลบฝังแล้วลืมเลือนไปเสีย

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**การต่อต้านที่หดตัวลงเรื่อยๆ**

จากการที่ต้องพลัดถิ่นลี้ภัยอยู่ในต่างแดน วังเปายังได้จัดตั้งองค์การ แนวร่วมสามัคคีปลดปล่อยประชาชาติลาว (United Lao National Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า ULNF) หรือรู้จักกันในชื่อว่า “Neo Hom” ซึ่งก็เป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดความสนใจปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวม้งในลาว รวมทั้งเป็นการรวบรวมความสนับสนุนให้แก่การต่อต้านของชาวม้งที่ยังคงดำเนินต่อไป ถึงแม้การต่อต้านดังกล่าวนี้อยู่ในสภาพหดตัวลงเรื่อยๆ จนเหลือจำนวนนักรบสภาพทรุดโทรมอ่อนล้าพร้อมครอบครัวของพวกเขา ในระหว่างหลายร้อยคนจนถึง 1,000 คนเท่านั้น ผู้คนเหล่านี้ยังคงอยู่ตามเขตภูเขาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของลาว การที่พวกเขาทำการสู้รบต่อไปส่วนหนึ่งก็เพื่อเอาชีวิตรอด แต่อีกส่วนหนึ่งยังเนื่องมาจากคำขอของกลุ่มชาวม้งกลุ่มต่างๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งคอยกระตุ้นสนับสนุนพวกเขาขณะที่ตนเองใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างแดนในฐานะผู้พลัดถิ่น

กลุ่มเหล่านี้บางกลุ่มมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวังเปา ขณะที่อีกหลายๆ กลุ่มไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขา พวกนักวิจารณ์ภายในชุมชนชาวม้งเองตั้งข้อสังเกตด้วยอารมณ์ขันปนเยาะหยันว่า มีการจัดหาจัดส่งโทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อสื่อสารระบบผ่านดาวเทียมให้แก่ “ชาวม้งในป่า” เหล่านี้ เพื่อคอยรายงานสถานการณ์ของพวกเขาให้บรรดาผู้สนับสนุนในสหรัฐฯได้รับทราบ ทว่าชาวม้งในป่าเองกลับอยู่ในภาวะขาดอาหารอย่างร้ายแรงและสวมใส่เสื้อผ้าที่อยู่ในสภาพผ้าขี้ริ้ว ขณะที่ต้องทำการสู้รบในสงครามที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นซึ่งพวกเขาไม่สามารถวาดหวังได้เลยว่าจะได้รับชัยชนะ

ในปี 2001 วังเปาทำท่าเหมือนจะผ่อนปรนจุดยืนของเขาให้แข็งกร้าวน้อยลง เมื่อเขาออกมาประกาศอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่าสนับสนุนให้ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯกับลาวได้รับการยกระดับให้กลับคืนสู่สภาพปกติ พวกผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าท่าทีเช่นนี้มุ่งหมายที่จะบรรเทาผ่อนเพลาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อบรรดาอดีตผู้สนับสนุนของเขาที่ยังคงอยู่ในลาว ซึ่งเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยืดเยื้อ ในปี 2003 เขาสร้างเซอร์ไพรซ์ให้แก่พวกผู้สนับสนุนเขาอีกครั้ง ด้วยการแถลงว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหาหนทางเพื่อเจรจาต่อรองอย่างสันติกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาว

ภาพลักษณ์ของวังเปาต้องแปดเปื้อนอยู่หลายครั้งหลายคราวจากข้อกล่าวหาที่ว่า ในการทำกิจกรรมเพื่อระดมหาทุนสนับสนุนจากบรรดาชุมชนชาวม้งนั้น เขาและผู้นำชาวม้งคนอื่นๆ ได้ชักส่วนกำไรเข้าพกเข้าห่อส่วนตัว ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้อยู่ในลักษณะที่เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่ออกจะว่างเปล่าว่าวันหนึ่งข้างหน้าพวกเขาจะได้เดินทางกลับลาว แล้วสมาชิกของชุมชนชาวม้งก็มักจะได้รับการขอร้องให้บริจาคเงินทุนเพื่อกองกำลังต่อต้านกองเล็กๆ ที่ยังสู้รบอยู่ในป่า ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากองทุนเหล่านี้ได้ถูกชักออกมาเข้ากระเป๋าวังเปาบ้างหรือไม่ และหากมี คิดเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี เป็นที่แน่ชัดว่ามีผู้ช่วยคนสนิทของเขาบางคนได้ผลประโยชน์เหล่านี้

ถึงแม้เผชิญกับความขัดแย้งไม่ลงรอยต่างๆ ดังกล่าว แต่ตลอดชั่วชีวิตของวังเปาก็ยังคงอยู่ในฐานะผู้นำที่ได้รับความเคารพนับถือจากชุมชนชาวม้ง อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของเขาได้เสื่อมโทรมลงอย่างสำคัญทีเดียวในช่วงปีหลังๆ มานี้ มนตร์เสน่ห์อาลัยอาวรณ์ถึงความหลังในดินแดนมาตุภูมิลาว กำลังมีแรงดึงดูดน้อยลงมาก สำหรับชาวม้งที่ถือกำเนิดและเติบโตในสหรัฐฯ และทุกวันนี้คนเหล่านี้กำลังกลายเป็นคนส่วนข้างมากในชุมชนชาวม้งที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว

ในท่ามกลางชุมชนชาวม้งพลัดถิ่นที่แตกแยกกันออกเป็นหลายเสี่ยง กลุ่มของวังเปาทำงานหนักมากทีเดียวเพื่อสถาปนาตัวเองให้กลายเป็นปากเสียงของประชาชนชาวม้ง อย่างไรก็ตามเสียงนี้กำลังสูญเสียความกึกก้องหนักแน่นไปเสียแล้ว ขณะที่คนรุ่นสงครามเวียดนามหายหน้าหายตาไปจากเวทีเรื่อยๆ และบรรดาทหาร, สายลับ, นักการทูต, ตลอดจนนักหนังสือพิมพ์ซึ่งรู้จักวังเปา และเคยทำงานกับเขาในระหว่างสงคราม ต่างก็พากันเกษียณอายุหรือถึงแก่กรรมไปไม่ขาดสาย

อันที่จริงแล้ว ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ วังเปาและชาวม้งเหล่านี้ถูกมองถูกพิจารณาในวอชิงตัน ในฐานะที่เป็นเครื่องถ่วงรั้งอันน่าอับอาย ซึ่งกีดขวางไม่ให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ลาวได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เห็นได้ชัดเจนมากจากการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ในช่วงไม่นานมานี้ว่า สหรัฐฯนั้นปรารถนาที่จะนำเอาอดีตมากลบฝัง แล้วหาทางสานสายสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับเวียงจันทน์ เพื่อเป็นการถ่วงดุลอิทธิพลจีนที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคแถบนี้ รวมทั้งในลาวด้วย

ท่าทีเช่นนี้ดูเหมือนจะปรากฏออกมาให้สาธารณชนพบเห็น จากกรณีที่อัยการสหรัฐฯได้ยื่นฟ้องกล่าวโทษ วังเปา พร้อมด้วยชาวม้งอีก 9 คน และอดีตนายทหารอเมริกันอีกคนหนึ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2007 สืบเนื่องจากบทบาทของพวกเขาที่ใช้ดินแดนสหรัฐฯมาวางแผนกโลบายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของลาว การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายสหรัฐฯที่เรียกว่า รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางของสหรัฐฯ (Federal Neutrality Act) ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่าทางการสหรัฐฯจงใจวางแผนใช้สายลับเข้าปฏิบัติการหลอกล่อ จนทำให้ทราบชัดเจนหนักแน่นว่า วังเปาและสมัครพรรคพวกกำลังพยายามที่จะหาซื้ออาวุธต่างๆ ซึ่งรวมทั้งจรวดยิงต่อสู้อากาศยานแบบ “สติงเกอร์” (Stinger) ด้วย เพื่อจะได้ลักลอบขนส่งผ่านประเทศไทยไปให้แก่พวกก่อความไม่สงบชาวม้งในลาว

แต่การจับกุมวังเปาคราวนั้นได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงทั้งในแคลิฟอร์เนีย, มินเนโซตา, วิสคอนซิน, มิชิแกน, และ นอร์ทแคโรไลนา พวกผู้สนับสนุนตลอดจนเพื่อนมิตรที่เคยทำงานกับเขาในลาว ต่างเน้นย้ำถึงการรับใช้สหรัฐฯที่เขาเคยทำมาในอดีต นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ชี้ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาคราวนี้เป็นการระบุถึงสิ่งที่สายของทางการล่อหลอกสร้างขึ้นมา โดยที่ปฏิ่บัติการหลอกล่อเช่นนี้น่าที่จะเป็นการกระทำหลอกลวงให้ติดกับอย่างผิดกฎหมายด้วย

น่าสังเกตว่ามีการตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯมีเจตนารมณ์มาหลายสิบปีแล้วที่จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในเรื่องเกี่ยวกับการระดมหาทุนของชาวม้งเพื่อสนับสนุนพวกผู้ก่อความไม่สงบที่ตั้งฐานอยู่ในลาว อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาต่อตัววังเปานั้นได้ถูกเพิกถอนออกไปจนได้ในเดือนกันยายน 2009 หลังจากเผชิญแรงกดดันหนักหน่วงทีเดียวทั้งจากชาวม้งและจากพวกผู้สนับสนุนที่เป็นชาวอเมริกันทรงอิทธิพล แต่กระนั้นก็ยังคงมีชาวม้งอื่นๆ อีก 2 คนถูกจับกุมในคราวเดียวกัน และมีอีกทั้งหมด 12 คนที่ยังอาจถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตถ้าหากศาลพิพากษาว่าพวกเขากระทำความผิดจริง

จากการที่เขาแสดงตัวอย่างเปิดเผยในเรื่องเกี่ยวกับสงครามลับของซีไอเอ ตลอดจนเรื่องที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในศึกคราวนั้น วังเปาจึงกลายเป็นบุคคลที่มีปัญหาทั้งสำหรับฝ่ายสหรัฐฯและฝ่ายไทย กรุงเทพฯนั้นให้การสนับสนุนอย่างเงียบๆ ต่อกลุ่มต่อต้านชาวม้งหลายๆ กลุ่มในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 แต่หลังจากนั้นก็ได้ถอนการสนับสนุน รวมทั้งได้สั่งห้ามไม่ให้วังเปาเดินทางเข้าประเทศไทย สืบเนื่องจากการที่เขายังคงมีอิทธิพลเหนือประชากรผู้ลี้ภัย และมีศักยภาพที่จะเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นให้แก่พวกผู้ก่อความไม่สงบชาวม้ง

ในเวลานี้ไทยและลาวต่างปรารถนาที่จะหันไปรวมศูนย์ให้ความสนใจกับเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายมากกว่า ในเดือนธันวาคม 2009 ไทยได้บังคับให้ผู้อพยพชาวม้งจำนวนหลายพันคนออกจากศูนย์พักพิงบ้านห้วยน้ำขาว เพื่อเดินทางกลับลาว ศูนย์พักพิงแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 เพื่อรองรับชาวม้งที่อ้างว่าต้องหลบหนีการถูกลงโทษจากทางการลาว เนื่องจากพวกเขาถูกกล่าวหาว่าอดีตนักรบของวังเปาและซีไอเอ ศูนย์พักพิงดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความน่าอับอายทางประวัติศาสตร์สำหรับทั้งสองประเทศ และก็เป็นเครื่องถ่วงรั้งประการหนึ่งในการสานสายสัมพันธ์ระหว่างกันให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2009 วังเปาประกาศว่าเขาพร้อมแล้วที่จะเดินทางกลับไปยังลาวเพื่อเปิดการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลลาว แต่ท่าทีตอบสนองจากทางรัฐบาลก็คือ เขาได้ถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว และถ้าเขาเดินทางกลับก็จะถูกนำตัวมาลงโทษดังกล่าวนั้น วังเปาจึงได้ประกาศในเวลาไม่นานหลังจากนั้นว่าเขาจะไม่ไปลาวแล้ว

พวกที่มุ่งกล่าวร้ายบอกว่า การประกาศของเขาเป็นเพียงการสร้างเรื่องน่าตื่นเต้นเอิกเกริกเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นเพิ่มพลังให้แก่พวกที่เคารพบูชาเขา โดยที่เขาเองไม่เคยมีความตั้งใจที่จะกลับไปลาวแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ภายหลังจากมีการแถลงข่าวการถึงแก่กรรมของเขาแล้ว เมื่อถูกสำนักข่าวเอเอฟพีสอบถามความคิดเห็น โฆษกของรัฐบาลลาวได้ตอบว่า “เขาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ดังนั้นเราจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทั้งนั้น” เวียงจันทน์มีความมุ่งมั่นมานานแล้วที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับชาวม้งของตนเป็นการภายใน และอ้างว่าประสบความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียว บ่อยครั้งพวกเจ้าหน้าที่ลาวจะชี้ว่าชาวม้งส่วนใหญ่ต่างพำนักอาศัยอย่างสันติในลาว และมีชาวม้งจำนวนมากด้วยซ้ำที่ต่อสู้อยู่กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสมัยสงคราม พวกเขายังชี้ด้วยว่ามีชาวม้งจำนวนไม่น้อยดำรงตำแหน่งต่างๆ อยู่ในรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นางปานี ยาทอตู้ (Pany Yathotou) ซึ่งเป็นสตรีชาวม้งที่ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกรมการเมือง (politburo) ของพรรค และดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาแห่งชาติ พวกเขาบอกว่าเหล่านี้คือข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จของการบูรณการคนม้งในประเทศลาว

การถึงแก่มรณกรรมของวังเปาอาจจะเป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าอาลัยสำหรับชุมชนชาวม้งในสหรัฐอเมริกา ทว่าสำหรับในวอชิงตัน, กรุงเทพฯ, และเวียงจันทน์ น่าที่จะมีการถอนหายใจอย่างเงียบๆ ด้วยความโล่งใจเสียมากกว่า วังเปาเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งของความเป็นปรปักษ์ต่างๆ ในยุคสงครามเย็น อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะธำรงรักษาความเป็นปรปักษ์เช่นนั้นเอาไว้ด้วย
ขณะที่มันได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคแถบนี้ปรารถนาที่จะนำมากลบฝัง เพื่อที่จะได้ก้าวต่อไปสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจที่กระตุ้นส่งเสริมการค้าขาย อย่างไรก็ดี ความทรงจำเกี่ยวกับนายพลวังเปาจะยังยืนยงยืนยาวอยู่ในชุมชนชาวม้งต่างๆ ในสหรัฐฯ และในหมู่นักรบกลุ่มเล็กๆ ณ พื้นที่เขตเขาอันห่างไกลในประเทศลาว ที่ยังคงดำเนินการต่อสู้ซึ่งตัววังเปาเองได้เคยทุ่มเทเอาไว้

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมล์ที่ brianpm@comcast.net
กำลังโหลดความคิดเห็น