xs
xsm
sm
md
lg

กลอุบายของของ‘รัฟซันจานี’หวนกลับมาเล่นงานตัวเอง (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Rafsanjani’s gambit backfires
By M K Bhadrakumar
15/06/2009

เบื้องหลังฉากของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านคราวนี้ ก็คือสงครามตัวแทนที่คุกรุ่นมานานระหว่างผู้นำสูงสุด อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี กับ ผู้อาวุโสเก่าแก่แห่งวงการเมืองอิหร่าน อดีตประธานาธิบดี อักบาร์ ฮาเชมี รัฟซันจานี และจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของ มีร์ ฮอสเซน มูซาวี ครั้งนี้ ก็อาจหมายถึงจุดจบแห่งชีวิตการงานอันอึกทึกครึกโครมของ “ฉลามร้าย” อันเป็นฉายาที่รัฟซันจานีได้มา ในฐานะเป็นนักไล่ล่าเหยื่อแห่งวงการเมือง ตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ของการปฏิวัติอิหร่าน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

การเมืองของอิหร่านไม่เคยเลยที่จะถอดรหัสทำความเข้าใจกันได้อย่างง่ายดาย ความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นรายรอบการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันศุกร์(12) ก็เป็นปริศนาที่ยังไขไม่ค่อยจะออก สำหรับประดานักถอดรหัสผู้กระตือรือล้นที่สุดซึ่งพยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อสแกนหาความกระจ่างให้จงได้ มีร่องรอยและเส้นทางที่ผิดๆ จำนวนมากมายเหลือเกิน จนดูเป็นเรื่องยากลำบากที่จะแปลความหมายให้ออกว่า ใครคือคู่ต่อสู้ที่แท้จริง และเดิมพันทางการเมืองที่กำลังช่วงชิงกันอยู่นั้นคืออะไรกันแน่

ในเหตุการณ์คราวนี้ ผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) คือผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ ขณะที่ผู้อาวุโสเก่าแก่แห่งวงการเมืองอิหร่าน อักบาร์ ฮาเชมี รัฟซันจานี (Akbar Hashemi Rafsanjani) ประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน หรือว่าในที่สุดแล้วมันก็ถึงคราวปล่อยม่านปิดฉากการงานอาชีพอันอึกทึกครึกโครมของ “ฉลามร้าย” (Shark) อันเป็นฉายาที่รัฟซันจานีได้รับมาในท้องน้ำอันหฤโหดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Majlis) ซึ่งเขาเคยแหวกว่ายอย่างไม่เกรงอันตราย ในฐานะของการเป็นนักไล่ล่าเหยื่อทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ของการปฏิวัติอิหร่าน ด้วยตำแหน่งประธานของสภาแห่งนั้น

จากคะแนนอันสูงลิ่ว (64%) ที่ประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจัด (Mahmud Ahmedinejad) กวาดมาได้ ย่อมทำให้เราปรารถนาเหลือเกินที่จะพูดว่า รัฟซันจานีช่างเหมือนกับเจ้าวาฬสเปิร์มยิ่งใหญ่ผู้เต็มไปด้วยความดุร้ายเจ้าเล่ห์ และความทรหด ในนวนิยายระดับตำนานเรื่อง “โมบี้ ดิ๊ก” (Moby Dick) ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ และเวลานี้รัฟซันจานีผู้กำลังบาดเจ็บเป็นแผลลึกจากฉมวก ก็กำลังจมดิ่งลงสู่ความเย็นเยือกของท้องทะเลแห่งการเมืองอิหร่าน ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว คุณย่อมไม่มีทางที่จะพูดเช่นนั้นได้อย่างมั่นอกมั่นใจหรอก

คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในสหรัฐฯ สามารถที่จะทำการศึกษาเปรียบเทียบโดยอาศัยการมองทะลุผ่านการเลือกตั้งของอิหร่านคราวนี้ และบางทีอาจจะคาดการณ์ได้ถึงกระแสการทำลายล้างที่จะเกิดตามมาในทันทีที่มีการแก้เผ็ดเอาคืน ดังนั้น วอชิงตันจึงทำถูกต้องแล้วที่ใช้ท่าทีแบบลอยตัว และวางเฉยแบบรอบคอบระมัดระวัง แต่มาถึงตอนนี้ก็คือมาถึงส่วนที่ยากลำบากของเส้นทางนี้แล้ว นั่นก็คือ การต้องเดินหน้าเข้าไปคบค้ากับราชสำนักที่คาเมเนอีเป็นเจ้าเป็นใหญ่สามารถชี้นิ้วสั่งการได้ตามใจ

กลับมาพูดเรื่องการเลือกตั้งอิหร่านกันอีกที ก่อนอื่นเลย คือความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้งคราวนี้ มีร์ ฮอสเซน มูซาวี (Mir Hossein Mousavi) ผู้เป็นปรปักษ์สำคัญที่สุดของอาห์มาดิเนจัดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นใครมาจากไหน? สามารถพูดได้ว่า เขาคือปริศนาที่ถูกห่อหุ้มด้วยความลี้ลับอีกชั้นหนึ่งโดยแท้ เขาสร้างความประทับใจให้แก่ชาวอิหร่านที่เป็นคนหนุ่มสาวและชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ในฐานะที่เป็นนักปฏิรูปและผู้ต้องการไปสู่ความทันสมัย ทว่าตอนที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของอิหร่านระหว่างปี 1981-89 นั้น มูซาวีคือพวกอนุรักษนิยมแข็งกร้าวอย่างไม่มีการปิดบังอำพราง เป็นที่ชัดเจนว่า สิ่งที่เราพบเห็นในระหว่างการรณรงค์หาเสียงแบบไฮเทคของเขาคราวนี้ เป็นมูซาวีที่แตกต่างไปอย่างเดิมมากๆ ราวกับว่าเขาทุบตัวเองทิ้งไปอย่างละเอียดประณีต จากนั้นแล้วก็ประกอบตัวเองขึ้นมาใหม่

นี่คือคำพูดของมูซาวีตอนที่เขาให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1981 เกี่ยวกับวิกฤตตัวประกัน 444 วัน ที่พวกนักปฏิวัติหนุ่มชาวอิหร่านเข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯและคุมขังเหล่านักการทูตชาวอเมริกันเอาไว้:

“มันเป็นการเริ่มขั้นที่สองของการปฏิวัติของพวกเรา หลังจากเรื่องนี้แล้วเราจึงได้ค้นพบอัตลักษณ์ความเป็นอิสลามอย่างแท้จริงของเรา หลังจากนี้แล้วเราจึงเกิดความสำนึกขึ้นมาว่า เราสามารถที่จะมองนโยบายของพวกตะวันตกอย่างไม่กลัวเกรง และวิเคราะห์มันด้วยวิธีที่พวกเขากำลังประเมินค่าเราอยู่ตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา”

มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เขาได้มีส่วนในการก่อตั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah)ในเลบานอนขึ้นมา อาลี อักบาร์ โมห์ตาชามี (Ali Akbar Mohtashami) ผู้เป็นเสมือนนักบุญอุปถัมภ์ของพวกฮิซบอลเลาะห์ เคยทำงานเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลของเขา มูซาวียังพัวพันกับข้อตกลงอิหร่าน-คอนทรา (Iran-Contra) ในปี 1985 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนยื่นหมูยื่นแมวกับคณะรัฐบาลโรนัลด์ เรแกน โดยที่สหรัฐฯจะจัดหาอาวุธให้แก่อิหร่าน ส่วนเตหะรานก็จะช่วยเหลือให้มีการปล่อยตัวชาวอเมริกันที่ถูกฮิซบอลเลาะห์จับตัวเอาไว้ในกรุงเบรุต เรื่องที่ดูตลกอย่างขันไม่ออกก็คือ มูซาวีในตอนนั้นช่างเป็นขั้วตรงกันข้ามกับรัฟซันจานีเสียยิ่งกระไร และหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่รัฟซันจานีกระทำในปี 1989 ภายหลังรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี ก็คือการขับไล่ไสส่งมูซาวี ทั้งนี้รัฟซันจานีนั้นไม่มีเวลาให้กับแนวความคิดต่อต้านการเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกของมูซาวี หรือสัญชาตญาณชิงชังตลาดซื้อขายของเขา

หลักนโยบายการหาเสียงของมูซาวีคราวนี้ มีลักษณะผสมผสานกันอย่างน่าแปลกใจ ระหว่างแนวทางการเมืองต่างๆ และพวกเจ้าของผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่ ทว่ากลับมาเข้าร่วมสามัคคีกันได้ด้วยภารกิจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือ เพื่อยึดอำนาจระดับต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงของประธานาธิบดีมาให้ได้ ภารกิจอันคลุ้มคลั่งดังกล่าวนี้เอง จึงได้รวบรวมเอาพวกที่เรียกกันว่านักปฏิรูปซึ่งสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมูฮัมหมัด คาตามี (Mohammad Khatami) และพวกอนุรักษนิยมสุดขั้วของระบอบปกครองอิหร่าน เข้าไว้ด้วยกัน รัฟซันจานีคือนักการเมืองคนเดียวในอิหร่านที่สามารถนำเอาฝักฝ่ายที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยดังกล่าวเหล่านี้มาอยู่ด้วยกันได้ เขาพากเพียรทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งกับคาตามีเพื่อไปสู่จุดหมายเช่นนี้

ถ้าหากเรายกไว้ไม่พูดถึง “ฝูงชนชาวกุชชี่” (Gucci crowd) ทางตอนเหนือของกรุงเตหะราน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีความสำคัญอะไรมากนัก แม้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าได้สร้างสีสัน, ชีวิตชีวา, และความสนุกสนานให้แก่การรณรงค์หาเสียงของมูซาวี ก็จะพบว่าแกนกลางของบรรดากลุ่มก้อนทางการเมืองของเขานั้น ประกอบไปด้วยพวกเจ้าของครอบครองผลประโยชน์ต่างๆ ผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งกำลังพยายามต่อสู้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อแย่งยึดอำนาจจากระบอบปกครองที่นำโดยคาเมเนอี ในด้านหนึ่ง กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ต่างคัดค้านอย่างรุนแรงต่อนโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจภายใต้อาห์มาดิเนจัด ซึ่งคุกคามอำนาจควบคุมเหนือภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการค้ากับต่างประเทศ, การศึกษาภาคเอกชน, และการเกษตร

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบเรื่องราวของอิหร่านมากนัก คงพอที่จะพูดสรุปให้ฟังได้ว่า กลุ่มตระกูลรัฟซันจานี เป็นเจ้าของอาณาจักรทางการเงินอันกว้างใหญ่ในอิหร่าน, รวมไปถึงการค้ากับต่างประเทศ, การเป็นผู้ครอบครองที่ดินมากมาย, และเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอิหร่าน เครือข่ายดังกล่าวนี้ซึ่งรู้จักกันในนามว่า อาซาด (Azad) ปรากฏว่ามีถึง 300 สาขากระจายไปทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่เพียงเป็นตัวสร้างเงินทองมากมาย แต่ยังสามารถช่วยทำให้ทีมรณรงค์หาเสียงของมูซาวีได้ผู้ปฏิบัติงานผู้กระตือรือร้นที่เป็นพวกนักศึกษาในจำนวนราว 3 ล้านคน

วิทยาเขตและหอประชุมของเครือข่ายอาซาด ยังเป็นสถานที่จัดการชุมนุมรณรงค์หาเสียงของมูซาวีในต่างจังหวัด อันความเป็นพยายามที่จะทำให้การหาเสียงของมูซาวีเข้าไปถึงคนยากจนในชนบท ซึ่งด้วยจำนวนอันมหึมาของคนเหล่านี้จึงกลายเป็นขบวนผู้ออกเสียงขนาดใหญ่โต โดยที่ผ่านมาเป็นฐานทางการเมืองอันสำคัญมากของอาห์มาดิเนจัด วิธีการทางการเมืองของรัฟซันจานีนั้นจะมุ่งสร้างเครือข่ายอันกว้างขวางในระดับบนสุดทุกระดับของโครงสร้างแห่งอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรอย่าง สภาผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (Guardian Council), สภาที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุด (Expediency Council), คณะนักการศาสนาแห่งเมืองกุม (Qom), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ฝ่ายตุลาการ, ข้าราชการ, ตลาดกรุงเตหะราน, และแม้กระทั่งผู้คนจำนวนหนึ่งในแวดวงใกล้ชิดกับคาเมเนอี ทั้งนี้เขาระดมเอาอิทธิพลกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมาใช้อย่างเต็มที่

จากการที่รัฟซันจานีจับขั้วกับคาตามี ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานให้แก่หลักนโยบายทางการเมืองของมูซาวี ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นด้านการปฏิรูปและส่วนที่เป็นด้านอนุรักษนิยม การแข่งขันแบบมีผู้สมัคร 4 คนคราวนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่าจะทำให้ไม่มีใครได้ชัยชนะเด็ดขาด และบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 19 มิถุนายน ระหว่างผู้ที่ได้เสียงเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสอง ทั้งนี้คิดกันว่า ผู้สมัครที่เป็นอดีตผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guards Corps หรือ IRGC) โมห์เซน เรไซ (Mohsen Rezai) ซึ่งเคยทำงานอยู่ใต้รัฟซันจารีตอนที่เขาเป็นประธานาธิบดี จะเป็นผู้เบียดแย่งคะแนนเสียงบางส่วนจากพวกผู้ปฏิบัติงานของไออาร์จีซี รวมทั้งพวกหัวอนุรักษนิยมคนสำคัญๆ

เช่นเดียวกับโครงการแบบ “นักปฏิรูป” ของ เมห์ดี คาร์รูบี (Mehdi Karrubi) ผู้สมัครคนที่ 4 ก็คาดหมายกันว่าจะดึงเสียงบางส่วนจากอาห์มาดิเนจัด เนื่องจากเขาเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของเขาโดยอิงอยู่กับหลักการด้านความยุติธรรมในสังคม เป็นต้นว่าแนวความคิดที่ได้รับความนิยมกันอย่างสูงมาก ในเรื่องการกระจายรายได้จากน้ำมันให้แก่ประชาชนโดยตรง แทนที่จะใส่เข้าไปในงบประมาณรัฐบาล

กลอุบายของรัฟซันจารีคือการพยายามใช้วิธีต่างๆ เพื่อยืดการเลือกตั้งไปจนมีการแข่งขันในรอบสอง ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่ามูซาวีจะสามารถกวาดเก็บเสียง “ต่อต้านอาห์มาดิเนจัด” มาได้ มีการประมาณการกันว่าอาห์มาดิเนจัดจะได้คะแนนในรอบแรกอย่างมากที่สุดราว 10-12 ล้านเสียง จากจำนวนผู้ที่ออกไปใช้สิทธิกันจริงๆ ประมาณ 28-30 ล้านคน (โดยที่มีผู้สิทธิออกเสียงทั้งสิ้นอยู่ที่ 46.2 ล้านคน) และดังนั้นหากสามารถลากการเลือกตั้งไปจนถึงรอบสองได้ มูซาวีก็จะเป็นผู้ได้ประโยชน์เต็มๆ เนื่องจากเสียงที่ลงให้แก่เรไซ และคาร์รูบี นั้น โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเสียง “ต่อต้านอาห์มาดิเนจัด”

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ‘กลอุบายของของ‘รัฟซันจานี’หวนกลับมาเล่นงานตัวเอง (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น