เอเอฟพี - ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา กล่าวหาว่า ซีไอเอ หรือสำนักงานสืบราชการลับกลางของสหรัฐฯ และยุโรปเป็นผู้อยู่เบื่องหลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในอิหร่าน ทั้งยังย้ำท่าทีให้ความสนับสนุนประธานาธิบดีมะห์มุด อะห์มาดิเนจัด ซึ่งได้รับการเลือกตั้งให้ครองอำนาจอีกสมัย
ชาเวซ ซึ่งพยายามบ่มเพาะความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ระบุว่า “มือพวกจักรวรรดิ” แห่งสำนักงานสืบราชการลับกลางสหรัฐฯ และจากยุโรปอยู่เบื้องหลังการประท้วงที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน จนนำมาสู่การนองเลือดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 17 คน
“ผู้คนอยู่บนท้องถนน บางคนตาย พวกเขามีพลแม่นปืน และเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้คือซีไอเอและมือของผู้ล่าอาณานิคมจากประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ” “นั่นคือความเห็นของผมเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอิหร่าน” ซาเวซกล่าว นอกจากนี้ เขายังระบุว่า ประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มาดิเนจัด ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเขามั่นใจว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเขามีความรู้เรื่องการเมืองของอิหร่านเป็นอย่างดี
ชาเวซออกมาให้ความเห็นดังกล่าวเมื่อคืนวันพุธ (24) ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมของกลุ่มผู้นำเอียงซ้ายในละตินอเมริกาในเมืองมาราเคย์ ใจกลางประเทศเวเนซุเอลา ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอิหร่านก็กล่าวว่าเช่นเดียวกันว่า ซีไอเอเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงในกรุงเตหะราน และก่อนหน้านี้ ชาเวซก็เคยกล่าวทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์แสดงความสนุบสนุนอะห์มาดิเนจัด โดยเขากล่าวเรียกร้องให้โลกเคารพอิหร่าน เพราะมีความพยายามที่จะบ่อนทำลายความเข้มแข็งของการปฏิวัติอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธรัฐบาลเวเนเซุเอลาประกาศว่า เวเนซุเอลา และสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจที่จะแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตต่อกัน นับเป็นการยุติความบาดหมางทางการทูต ซึ่งเคยมีการขับทูตตอบโต้กันเมื่อดือนกันยายนปีที่ผ่านมา
ส่วนความเคลื่อนไหวในอิหร่านนั้น เมห์ดี คาร์รูบี ประธานสภาหัวปฏิรูปของอิหร่าน ซึ่งได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ออกมาประกาศยกเลิกการไว้ทุกข์แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงที่ประธานาธิบดีอะห์มาดิเนจัดได้อำนาจอยู่ต่อไปอีก 4 ปี ซึ่งกำหนดในเช้าวันนี้ (25) เนื่องจากไม่สามารถหาสถานที่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีแผนที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า
การตัดสินใจยกเลิกพิธีไว้ทุกข์เกิดขึ้น หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมาตำรวจปราบจลาจลและนักรบอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ออกมาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนที่พยายามมารวมตัวกันนอกรัฐสภาในกรุงเตหะราน ตามคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งยังเห็นด้วยว่า ตำรวจได้จับตัวผู้ที่อยู่แถวนั้นก่อนที่จะสลายไปตามถนนใกล้เคียง ทั้งนี้ ยังมีรายงานว่าได้ยินเสียงปืนดังขึ้นด้วย
ด้าน อยาตอลเลาะห์ ฮอสเซน อาลี มอนตาเซี นักการศาสนาที่เชื่อว่าจะได้เป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านต่อจากอยาตอลเลาะห์ คาเมไนอี ออกมาเตือนรัฐบาลที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนัก และเขาได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น
ส่วนประชาคมโลกก็แสดงความกังวลกับสถานการณ์ในอิหร่านอย่างยิ่ง ซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ที่ทำให้ระบอบอิสลามขึ้นสู่อำนาจ ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่เชิญนักการทูตอิหร่านให้มาร่วมงานเลี้ยงวันชาติสหรัฐฯ ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เพื่อตอบโต้อิหร่านที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง