xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอิหร่านยังออกมาประท้วงแม้เกิดเหตุรุนแรง-ถูกสลายอีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองกำลังปฏิวัติอิหร่านปฏิบัติการสลายการชุมนุม
เอเอฟพี - ผู้ประท้วงราว 1,000 คน ยังคงออกมาชุมนุมในกรุงเตหะรานเมื่อวันจันทร์(22) ฝ่าฝืนคำเตือนของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านที่จะสลายการชุมนุมอีก ขณะที่รัฐบาลกำลังต่อสู้กับวิกฤตความขัดแย้งเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่ามีตำรวจและเจ้าหน้าที่อาสามัครราว 300 ถึง 400 นาย เตรียมพร้อมสำหรับเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงที่รวมตัวกันอยู่ ณ จตุรัสฮาฟท์อิทีร์

ต่อมาพยานผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าตำรวจปราบจลาจลได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงที่ฝ่าฝืนคำเตือนของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม โดยมีรายงานว่าตำรวจที่สวมหมวกป้องกันและถือตะบองได้ยิงแก๊สน้ำตาออกไปอย่างน้อย 7 รอบและจับกุมผู้ประท้วงได้มากกว่า 60 คน

คำเตือนมีขึ้นหลังจากสถานีวิทยุของรัฐกล่าวว่ามีประชาชนอย่างน้อย 457 คนถูกจับกุมในเหตุปะทะบนท้องถนนในกรุงเตหะรานเมื่อวันเสาร์(20) ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ทำให้ยอดรวมมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยแล้ว 17 รายในเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น

มีร์ ฮุสเซน มูซาวี ผู้นำฝ่ายค้านซึ่งเป็นแกนนำในการประท้วงต่อต้านสิ่งที่เขาเรียกร้องการเลือกตั้งขี้โกงที่ส่งผลให้มะห์มูด อะห์มาดิเนจัด คืนสู่อำนาจ ได้เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนรวมตัวกันชุมนุมต่อไปแต่ขอให้อดกลั้นเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือดมากไปกว่านี้

สภาผู้ปกครองของอิหร่าน องค์การตรวจตราการเลือกตั้งของประเทศยอมรับว่ามีคะแนนของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนไม่ตรงกันอยู่บ้าง แต่ยืนกรานว่าคะแนนที่ผิดพลาดดังกล่าวไม่กระทบต่อผลที่ออกมา ขณะที่ฝ่ายค้านก็ยืนยันไม่ขอให้นับคะแนนอีกครั้งแต่เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ไปเลย

นับตั้งแต่ความยุ่งเหยิงเริ่มต้นขึ้น กองกำลังความมั่นคงของอิหร่านไปลงมือปราบปรามผู้ชุมนุม ผู้ประท้วงที่รู้จักกันในฐานะนักปฏิรูปชื่อดัง ผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์หลายคนถูกจับกุม

สื่อมวลชนต่างชาติถูกห้ามทำข่าวการชุมนุม โดยอิหร่านสั่งห้ามสื่อต่างชาติทุกสำนัก ออกไปรายงานข่าวการประท้วงนอกสถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ชาวอิหร่านได้ใช้เครือข่ายสังคมทางอินเตอร์เน็ตรายงานข่าวนี้ออกไปยังทั่วโลก

บรรดาผู้นำทั่วโลกส่งสัญญาณเตือนและแสดงความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆเกี่ยวกับความไม่สงบที่เขย่าความมั่นคงของประเทศอิสลามแห่งนี้ ทว่าบรรดาผู้นำของเตหะรานกล่าวโทษการเข้าไปแทรกแซงของชาติตะวันตก -- โดยเฉพาะสหรัฐฯและอังกฤษ -- และกล่าวหาสื่อมวลชนต่างชาติเป็นกระบอกเสียงของผู้ก่อจลาจลที่สร้างความเศร้าหมองแก่ภาพลักษณ์ของประเทศ

กระทรวงต่างประเทศของอิหร่านเล็งเป้าหมายที่บีบีซีและวอยซ์ออฟอเมริกา โดยบอกว่าพวกเขาคือตัวแทนของอิสราเอลที่มีเป้าหมายทำลายความเป็นปึกแผ่นของประเทศ คุกคามอำนาจอธิปไตยและหวังแบ่งแยกอิหร่าน พร้อมกับมีคำสั่งขับไล่ผู้สื่อข่าวบีบีซีออกนอกประเทศ

สหภาพนักศึกษา 4 แห่ง ก็มีแผนชุมนุมบริเวณด้านนอกสถานทูตอังกฤษในวันอังคาร(23) เช่นกัน เพื่อประท้วงการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของรัฐบาลอังกฤษ

สำนักข่าวฟาร์นิวส์อ้างคำสัมภาษณ์ของแอสเมล์ ทาห์มูเรสซี แกนนำนักศึกษา ที่เตือนว่าอาจกรณี "4พฤศจิกายน" อีกครั้ง โดยหนนั้นนักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯในเตหะรานหลังเกิดการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ขณะที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอให้รัฐบาลลดระดับความสัมพันธ์กับทางอังกฤษลง

สภาผู้ปกครองของอิหร่าน ซึ่งเคยบอกว่าอาจพิจารณานับคะแนนใหม่บางส่วน บอกว่าผลการสืบสวนเบื้องต้นพบว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งใน 50 จาก 366 เขตเลือกตั้งมีมากกว่าผู้ออกมาใช้สิทธิ์ แต่ทางโฆษกกล่าวว่าไม่พบความผิดปกติและชี้ว่าการนับใหม่ก็จะไม่ส่งให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไปจากเดิม

เดวิด มิลิแบนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของอิหร่านโดยระบุว่าอังกฤษและประเทศในยุโรปตะวันตก รวมทั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการประท้วง พร้อมระบุว่า เป็นเพราะความไม่ซื่อตรงต่อประชาชน ของทางการอิหร่านเองที่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

นอกจากนั้น อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมัน แถลงที่เบอร์ลินวันอาทิตย์(21) เรียกร้องให้ทางการอิหร่านยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม และขอให้มีการนับคะแนนใหม่โดยเร็วซึ่งถือเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจตะวันตกชาติแรกที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

แมร์เคิลระบุว่าทางการอิหร่านจะสามารถกู้ภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของตนในสายตาประชาคมโลกกลับคืนมาได้ ก็ต่อเมื่อยินยอมให้มีการนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาใหม่ทั้งหมด และต้องเป็นการนับคะแนนภายใต้การสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่นานาชาติ
หน่วยความมั่นคงของอิรักขี่จักรยานยนต์กวาดล้างผู้ประท้วงตามท้องถนน
กำลังโหลดความคิดเห็น