ไฟแนนเชียลไทมส์/รอยเตอร์ - ขุนคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติกลุ่ม จี 7 เสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันเสาร์ (14) โดยประกาศตอกย้ำความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการรับมือวิกฤตโลก และยืนยันพันธสัญญาในการร่วมมือกันเพื่อใช้เครื่องมือทางนโยบายทั้งหมดที่มีอยู่
แถลงการณ์สุดท้ายของการประชุม 2 วัน ที่กรุงโรม, ประเทศอิตาลี คราวนี้ ออกมาคล้ายหลักการทั่วไปมากกว่ามาตรการริเริ่มใหม่ๆ พร้อมออกตัวว่าการดำเนินการตอบโต้ต่างๆ ของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 7) เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลารอคอย กว่าที่จะบังเกิดผล นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวอย่างรุนแรงอยู่เกือบตลอดปีนี้
ผู้แทนบางคน โดยเฉพาะจากเยอรมนี แสดงความเสียดายเป็นการส่วนตัว ที่ จี 7 ไม่ได้ออกคำเตือนที่ชัดเจนต่ออันตรายของลัทธิกีดกันการค้า ตัวอย่างเช่น ไม่มีการพูดถึงแผนอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์ของฝรั่งเศส หรือการปล่อยให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงของอังกฤษ
สำหรับจุดยืนของ จี 7 ต่อจีนนั้น แถลงการณ์สุดท้ายมีการแสดงความยินดีกับมาตรการกระตุ้นทางการคลัง และการยึดมั่นว่า จะปรับไปสู่กลไกอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นขึ้นของปักกิ่ง ท่าทีของ จี 7 เช่นนี้ถือมีความละมุนละม่อมขึ้นมากเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งที่แล้วในวอชิงตันเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ จี 7 เรียกร้องให้จีนปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น
นักการทูต ชี้ว่า น้ำเสียงที่เบาลงครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อดึงจีนไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลัง จี 20 ในกรุงลอนดอนเดือนหน้า
อลิสแตร์ ดาร์ลิง ขุนคลังอังกฤษ กล่าวถึงการประชุมสองวันที่โรมครั้งนี้ว่า เป็นการปูทางเพื่อไปสู่ซัมมิต จี 20
ขณะเดียวกัน การปรากฏตัวครั้งแรกในที่ประชุม จี 7 ในฐานะรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ของ ทิม ไกธ์เนอร์ ดูเหมือนสร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมประชุมที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอเยียวยาระบบการเงินสหรัฐฯ ซึ่งเน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ไกธ์เนอร์ แถลงว่า สหรัฐฯ จะรีบออกแบบแนวทางที่ครอบคลุม และประกาศมาตรการใหม่ที่สำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤตสินเชื่อที่อยู่อาศัยในเร็ววันนี้ และกล่าวว่า โลกกำลังเผชิญภาวะการเติบโตชะลอตัวอย่างกว้างขวางและรุนแรงกว่าที่เคยพบเมื่อหลายทศวรรษก่อน พร้อมเรียกร้องมาตรการที่เด็ดขาดและยั่งยืนจากรัฐบาลและธนาคารกลางประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ดี ขุนคลังอเมริกันเลี่ยงที่จะตอบคำถาม ว่า สหรัฐฯ เชื่อว่า บางประเทศไม่พยายามมากพอในการรับมือกับปัญหานี้ใช่หรือไม่ โดยย้ำเพียงว่า คณะรัฐบาล บารัค โอบามา ได้ดำเนินการในอัตราความเร็วที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อคืนวันศุกร์ (13)
ไกธ์เนอร์ เสริมว่า เขารับรู้ถึงความกังวลเกี่ยวกับนโยบาย “ซื้อสินค้าสหรัฐฯ” (Buy American) และย้ำว่า โอบามา ยังคงยึดมั่นในการคงนโยบายการลงทุนเสรี
ทั้งนี้ ในกฎหมายแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านสภาทั้งสองของสหรัฐฯไปแล้ว และประธานาธิบดีโอบามาเตรียมจะลงนามในวันอังคาร (17) นี้ ยังคงมีมาตราที่กำหนดให้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในแผนนี้ ต้องซื้อเหล็กกล้าที่ทำในอเมริกา ถึงแม้มีการลดทอนน้ำหนักให้อ่อนลงกว่าในร่างฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในตอนแรก
ก่อนหน้าการประชุมที่กรุงโรมคราวนี้ รัฐมนตรีคลังของ จี 7 หลายรายได้พูดเตือนถึงผลร้ายจากการรื้อฟื้นลัทธิกีดกันการค้าแบบเดียวกับที่ใช้ในทศวรรษ 1930 จึงทำให้คาดหมายกันว่าเรื่องนี้ควรเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือครั้งนี้
ทว่า ในแถลงการณ์สุดท้ายกลับกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยภาษาที่ค่อนข้างเบา ว่า “จี 7 ยังคงมุ่งมั่นหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันการค้า ซึ่งรังแต่จะทำให้ภาวะชะลอตัวยิ่งรุนแรงขึ้น และหลีกเลี่ยงการเพิ่มอุปสรรคการค้า รวมถึงดำเนินการเพื่อให้มีข้อสรุปที่รวดเร็วและครอบคลุมสำหรับการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา”
รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวย้ำว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศจะลงมือดำเนินมาตรการที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อแก้ไขวิกฤตการธนาคารของประเทศตน โดยที่จะต้องมีการขาดทุนและระบุสินทรัพย์เน่าเสีย “มันไม่ใช่ขนาดเดียวใส่กันได้หมดทุกคน” เขากล่าว และเผยด้วยว่า ในการประชุมมีการใช้เวลาอภิปรายมากที่สุดก็ในเรื่องนี้แหละ
นอกจากนี้ ยังมีการให้ความสำคัญกับมาตรการปฏิรูปกฎระเบียบการธนาคารและตลาดการเงินระยะกลาง ที่ กุยลิโอ ทรีมอนตี รัฐมนตรีคลังอิตาลี เรียกว่า “ระเบียบโลกใหม่”
ด้าน เพียร์ สไตน์บรูก รัฐมนตรีคลังเมืองเบียร์ ย้ำความจำเป็นในการเตรียม “ยุทธศาสตร์ทางออก” เพื่อรับมือการไหลท่วมของสภาพคล่อง และหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อที่อาจก่อตัวขึ้นในอนาคต
โชอิชิ นาคากาวะ ขุนคลังแดนปลาดิบ พยายามชี้ถึงความสำคัญของคำเตือนของจี 7 ต่อความผันผวนอย่างล้นเกิน และการเคลื่อนไหวอย่างไร้ระบบของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีนัยแง่ลบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน
ถึงว่าแถลงการณ์จะใช้คำกว้างๆ ระบุเพียงว่า จี 7 จะยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดเงินอย่างใกล้ชิด และร่วมมือกันตามที่เหมาะสม
มาริโอ ดรากี ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี กล่าวว่า การคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นั้น มีการตั้งสมมติฐานว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ จะมีการออกมาตรการกระตุ้นอันหลากหลาย ซึ่งส่งผลให้เห็นในทันที แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาตรการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ไปถึงขั้นลงมือดำเนินการ