เอเอฟพี - ประธานหน่วยงานระหว่างประเทศที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบการเงินโลก กล่าวเมื่อวันเสาร์ (27) ว่า ระบบการเงินได้กลับกระเตื้องดีขึ้นมากแล้ว แต่ยังไม่หลุดพ้นจากปัญหาโดยสิ้นเชิง
“เราอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจุดก่อนเกิดกรณี เลห์แมน แต่ยังไม่ถึงระดับก่อนหน้านั้น” มาริโอ ดรากี ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเสถียรภาพการเงิน (Financial Stability Board หรือ FSB) กล่าวในการประชุมเอฟเอสบีครั้งแรก โดยพาดพิงถึงการล่มสลายแบบปัจจุบันทันด่วนของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ที่นำไปสู่วิกฤตการเงินและความปั่นป่วนของระบบการเงินและสินเชื่อทั่วโลก
ดรากี ชี้ว่า ในปัจจุบันระบบการเงินโลกมีสัญญาณด้านบวกอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ การที่ธนาคารโดยเฉพาะในสหรัฐฯ สามารถระดมทุนด้วยตนเองเป็นมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเร็วๆ นี้ และกระแสการออกหุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง กระนั้น เขาก็เห็นว่า มีสัญญาณด้านลบเช่นกัน เป็นต้นว่า การปรับโครงสร้างการธนาคารยังไม่แล้วเสร็จเสียที และช่องทางด้านสินเชื่อยังเปราะบาง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปแบบอย่างยั่งยืน
ประธานเอฟเอสบี ยังแสดงความเห็นว่า เมื่อถึงเวลาประเทศต่างๆ ย่อมจะต้องพยายามประสานความร่วมมือกันในยุทธศาสตร์ เพื่อการถอนตัวเลิกใช้มาตรการฟื้นฟูทั้งหลาย แต่เขาย้ำว่า บรรยากาศทางการเงินและเศรษฐกิจในเวลานี้ ยังคงอ่อนแอเกินกว่าจะยุติมาตรการลดดอกเบี้ย แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการอื่นๆ ที่นำออกมาใช่เพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจทรุดต่ำและภาวะสินเชื่อตึงตัว
“คุณต้องแก้ไขระบบการธนาคารให้เรียบร้อย ก่อนที่จะสามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดได้”
เอฟเอสบีนั้น เป็นการขยายตัวจาก “เวทีการประชุมเสถียรภาพการเงิน” (Financial Stability Forum หรือ FSF) โดยที่ได้รับมอบอำนาจเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้บรรดาหน่วยงานกำกับดูแล, ธนาคารกลาง และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ตลอดจนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก เข้ามาร่วมกันกำกับดูแลระบบการเงินโลกแบบถาวร
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่สำคัญ 20 ชาติ (จี20) ได้ตกลงกันว่า ควรยกฐานะของเอฟเอสเอฟให้เป็นเอฟเอสบี ทำหน้าที่พิจารณากฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโลก เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยขึ้นมาอีก