เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่มตัวเลขประเมินยอดความเสียหายของวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกระลอกนี้ สืบเนื่องจากการลดมูลค่าของพวกสินเชื่อที่มีปัญหา โดยขยับขึ้นเป็นมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้นยังคาดด้วยว่า พวกธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐฯและยุโรป จะต้องระดมเพิ่มทุนให้ได้ 875,000 ล้านดอลลาร์จึงจะกลับมีฐานะในระดับเดียวกับก่อนหน้าวิกฤต
ไอเอ็มเอฟระบุว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะอยู่ที่ 4.054 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 2.712 ล้านล้านดอลลาร์เป็นความเสียหายของสินทรัพย์ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ
ส่วนการขาดทุนในสินทรัพย์ที่มีต้นกำเนิดในยุโรปนั้นมีมูลค่าราว 1.193 ล้านล้านดอลลาร์ และสินทรัพย์ที่มีต้นกำเนิดในญี่ปุ่น มีมูลค่าหดหายไปราว 149,000 ล้านดอลลาร์
มูลค่าความเสียหายที่ไอเอ็มเอฟกล่าวถึงนี้ ก็คือจำนวนเงินที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ สูญเสียไปตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต จากการที่มูลค่าของหลักทรัพย์ที่อิงอยู่กับสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น ได้ลดลงไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆกับการหดตัวของเศรษฐกิจโลกครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหกทศวรรษ
การประมาณการนี้ ปรากฏอยู่ในรายงานภาวะเสถียรภาพระบบการเงินโลก (Global Financial Stability Report หรือ GFSP) รอบครึ่งปีฉบับล่าสุด โดยเป็นการศึกษาข้อมูลครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤตการเงินในช่วงกลางปี 2007 ไปจนถึงปี 2010
ในการประมาณการความเสียหายครั้งก่อนๆ ของไอเอ็มเอฟนั้น จะเป็นการคำนวณเฉพาะสินทรัพย์ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ โดยที่การปรับข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม ไอเอ็มเอฟคาดว่าความเสียหายจะอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และก่อนหน้านั้นในรายงาน GSFP ฉบับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ให้ไว้ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกโจมตีมากว่าประเมินต่ำเกินความเป็นจริงไปมาก
"ระบบการเงินโลกยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล ขณะที่วิกฤตขยายตัวออกไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว และภาคการเงินของทั้งประเทศก้าวหน้าและประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ต่างได้รับผลกระทบไปด้วย" รายงาน GFSR ฉบับล่าสุดระบุ
"กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลง ยิ่งกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับงบดุลของธนาคารมากขึ้นอีก เพราะว่ามูลค่าสินทรัพย์ยังคงอ่อนค่าลง ทำให้ธนาคารเผชิญหน้ากับปัญหาเงินกองทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่เพียงพอ และต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นทุกขณะ และไม่สามารถให้สินเชื่อใหม่ ๆได้" รายงานของไอเอ็มเอฟชี้
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ธนาคารจะต้องแบกรับค่าความเสียหายราว 2.47 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 61% ของมูลค่าความสูญเสียทั้งหมด และยังได้ชี้อีกด้วยว่าราวสองในสามของความเสียหายครั้งนี้ ยังไม่ได้ถูกประกาศออกมาสู่สาธารณะชน
"การรับรู้การขาดทุนยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน เงินกองทุนก็ไม่เพียงพอภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวนี้" ไอเอ็มเอฟกล่าว
"สถาบันการเงินอื่น ๆรวมทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญและบริษัทประกัน ก็มีการพัวพันกับสินเชื่อเหล่านี้อย่างสำคัญ" รายงานระบุ
เฉพาะกองทุนบำเหน็จบำนาญในสหรัฐฯเพียงประเทศเดียว อาจจะต้องตัดยอดขาดทุนเป็นเงินถึง 200,000 ล้านดอลลาร์จากการพัวพันกับสินเชื่อมีปัญหาเหล่านี้ นอกเหนือจากความเสียหายในการลงทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ แล้ว
ไอเอ็มเอฟยังได้ชี้ว่า "สัญญาณแรก ๆแห่งการฟื้นตัว" ในระบบการเงินโลกที่กล่าวขวัญกันอยู่ในขณะนี้นั้น ยังต้องการแรงหนุนจาก "ความร่วมมือระหว่างประเทศ นโยบายและปฏิบัติการที่ชัดเจนและไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้พัฒนาการนั้นคงอยู่ต่อไป รวมทั้งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันการเงิน และปรับสถานการณ์ในตลาดทั้งปวงให้กลับเป็นปกติ"
จากการคำนวณของนักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ หากว่าต้องการให้ระบบธนาคารกลับมามีเงินทุนในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤต แบงก์ในสหรัฐฯจำเป็นต้องเพิ่มทุนไม่น้อยกว่า 275,000 ล้านดอลลาร์ และ 600,000 ล้านสำหรับพวกธนาคารในยุโรป
ยิ่งหากต้องการให้กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อกลางทศวรรษ 1990 ในสหรัฐฯจำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน 500,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนในยุโรป 1.2 ล้านล้านดอลลาร์
ไอเอ็มเอฟบอกว่าไม่คัดค้านการยึดธนาคารที่มีปัญหามาเป็นของรัฐ ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่ไอเอ็มเอฟเข้าช่วยเหลือไอซ์แลนด์หลังจากที่รัฐบาลเข้าถือหุ้นใหญ่ธนาคารที่มีปัญหาทางการเงินสามแห่ง อย่างไรก็ตาม รายงานบอกว่าควรจะมีการปรับโครงสร้างธนาคาร แล้วปล่อยให้กลับไปเป็นกิจการภาคเอกชนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้