xs
xsm
sm
md
lg

อิรักบอกกล่าวให้ทหารสหรัฐฯถอนตัวออกไป

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Iraq bids farewell to US arms
By Gareth Porter
19/11/2008

ข้อตกลงด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯกับอิรัก มีเนื้อหากลายเป็นการปิดประตูไม่ให้กำลังทหารสหรัฐฯคงอยู่ในอิรักภายหลังปี 2011 อย่างชนิดหนาแน่นยิ่งเสียกว่าฉบับร่างก่อนหน้านี้ แถมยังติดล็อกเพื่อให้สภาพที่อิรักต้องพึ่งพิงอาศัยกองทัพสหรัฐฯถึงจุดยุติลงโดยรวดเร็วและยากที่จะแก้ไขให้พลิกกลับมาใหม่อีกด้วย สิ่งที่เคยถูกทึกทักเอาว่าเป็นเพียงระบอบปกครองของผู้เป็นบริวาร บัดนี้จึงกลับกำลังเป็นผู้เฝ้ารอคอยจังหวะเวลาอันเหมาะสมในการแสดงสิทธิ์เพื่อเป็นผู้ควบคุมประเทศอย่างแท้จริง

วอชิงตัน – ข้อตกลงสถานะของกองกำลังอาวุธระหว่างสหรัฐฯกับอิรัก (the United States-Iraq Status of Forces Agreement หรือ SOFA) ซึ่งลงนามโดย เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไรอัน คร็อกเกอร์ และ รัฐมนตรีต่างประเทศอิรัก ฮอชยาร์ เซบารี เมื่อวันจันทร์(17) มีเนื้อหาที่เป็นการปิดประตูไม่ให้กำลังทหารสหรัฐฯคงอยู่ต่อไปในอิรักภายหลังปี 2011 อย่างชนิดหนาแน่นยิ่งเสียกว่าฉบับร่างก่อนหน้านี้ แถมยังติดล็อกเพื่อให้สภาพที่อิรักต้องพึ่งพิงอาศัยกองทัพสหรัฐฯถึงจุดยุติลงโดยรวดเร็วและยากที่จะแก้ไขให้พลิกกลับมาใหม่อีกด้วย

ข้อตกลงฉบับนี้เป็นการปิดฉากความมุ่งมาดปรารถนาของคณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่จะสามารถปรากฏตัวทางทหารอย่างเป็นระยะยาวในอิรัก ด้วยจุดมุ่งหมายทั้งเพื่อการสำแดงอำนาจในภูมิภาคแถบนี้จากบรรดาฐานทัพต่างๆ ในอิรัก และทั้งเพื่อธำรงรักษาให้อิรักยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯในทางทหารต่อไป ไม่ว่าจะในด้านการฝึกอบรม, การรับคำแนะนำ, หรือการสนับสนุน

ข้อตกลงนี้จึงเป็นความอับอายขายหน้าอย่างรุนแรงสำหรับคณะรัฐบาลบุช ซึ่งเกือบตลอดฤดูร้อนที่ผ่านมานี้เองยังคงยืนยันในจุดยืนที่ว่า ข้อตกลง SOFA จะต้องเป็นไปตามข้อเรียกร้องของฝ่ายตนที่ว่า การถอนกำลังทหารออกจากอิรักนั้นจักต้องพิจารณาโดย “อิงอยู่กับเงื่อนไขสภาพการณ์ต่างๆ”

แต่แทนที่จะปรับเปลี่ยนถ้อยคำโวหารให้สะท้อนเนื้อหาอันแท้จริงของข้อตกลงดังกล่าวนี้ เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชน(โฆษก)ของทำเนียบขาว แดนา เปริโน ยังคงเดินไปตามแนวทางเดิมในการแถลงเมื่อวันจันทร์(17) โดยบอกว่าข้อตกลงนี้ระบุเพียง “วันเวลาที่มุ่งหมายอยากจะให้เป็นเช่นนั้น” สำหรับการถอนทหารออกจากเขตตัวเมืองใหญ่น้อยของอิรัก ตลอดจนสำหรับการถอนทหารทั้งหมดออกจากประเทศนั้น

แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เธอกล่าวเป็นเพียงความต้องการของคณะรัฐบาลบุช ซึ่งยังปรากฏให้เห็นในร่างข้อตกลงที่เสนอออกมาให้เจรจาต่อรองกันอย่างน้อยก็จนกระทั่งถึงร่างฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม โดยที่ถ้อยคำภาษาในร่างดังกล่าวพูดเอาไว้แต่เพียง “เป้าหมายด้านเวลา” แทนที่จะมีการกำหนดวันเวลาเส้นตายชัดเจนสำหรับการถอนทหาร อีกทั้งยังเปิดทางให้ทั้งสองฝ่าย “ทบทวน” บรรดา “เงื่อนไขสภาพการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอให้อีกฝ่ายหนึ่ง ขยายระยะเวลาหรือลดระยะเวลา” สำหรับการถอนทหารสหรัฐฯออกจากเมืองใหญ่น้อย และสำหรับการถอนออกไปจากอิรักอย่างสิ้นเชิง

ทว่าหลังจากนั้นไม่นานนัก คณะรัฐบาลบุชก็ได้ถอนข้อเรียกร้องเหล่านี้ออกไป บางทีอาจเนื่องจากยอมรับรู้ว่า คณะรัฐบาลของบารัค โอบามา จะดำเนินการถอนทหารอย่างรวดเร็วยิ่งเสียกว่ากำหนดเวลาที่ระบุไว้ในข้อตกลงฉบับนี้อีก

พล.ร.อ.ไมก์ มุลเลน ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ ก็แสดงความสนับสนุนแนวทางของโฆษกทำเนียบขาว ด้วยการแถลงในลักษณะที่ว่า ฝ่ายทหารของสหรัฐฯจะดำเนินการหารือกับฝ่ายทหารของอิรักต่อไป และมันมีความเป็นไปได้ “ในทางทฤษฎี” ที่จะมีการยืดเวลากำหนดเส้นตายสำหรับการถอนทหารออกไปทั้งหมด

แต่การแสดงความคิดเห็นของมุลเลนที่ยังคงตั้งความหวังว่าจะมีการกลับลำเปลี่ยนแปลงคำตัดสินอันชัดเจนในข้อตกลงนี้ เป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นว่าคณะผู้นำของฝ่ายทหารสหรัฐฯ ยังคงห่างไกลสุดกู่ถึงขนาดไหน จากความเป็นจริงทางการเมืองของลัทธิชาตินิยมในอิรัก ตลอดจนแรงต่อต้านการพึ่งพากำลังทหารสหรัฐฯในประเทศนั้น

ร่างฉบับก่อนหน้าฉบับสุดท้าย นั่นคือฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม มีการใช้ถ้อยคำภาษาที่เป็นการเปิดทางอย่างเป็นทางการอยู่จริงๆ ให้สามารถขยายเส้นตายการถอนทหารสหรัฐฯทั้งหมดภายในปี 2011 ให้ยืดยาวออกไปอีก ภาษาที่ใช้ได้ร่างฉบับนั้นเปิดทางให้อิรัก “ขอร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯยังคงกำลังทหารพิเศษเอาไว้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมและในการสนับสนุนกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิรัก” ทว่าจะต้องมี “การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงพิเศษ และลงนามโดยทั้งสองฝ่าย โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมายและทางรัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศ” หรือไม่ก็จะต้องมีการแก้ไขตัวข้อตกลงหลักฉบับนี้กันเลย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกระทำกันในลักษณะใดก็ตามที ก็จะต้องเสนอให้รัฐสภาอิรักลงมติอนุมัติกันก่อนทั้งสิ้น

ทว่าในข้อตกลงฉบับสุดท้าย คณะรัฐบาลบุชได้ตัดมาตราที่บรรจุข้อความทั้ง 2 เรื่องนี้ออกไป ตามการเรียกร้องของรัฐบาลอิรัก โดยที่การเรียกร้องของรัฐบาลอิรัก ก็เป็นผลลัพธ์ของแรงกดดันอันหนักหน่วงจากบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายชิอะห์ของอิรักซึ่งมีความใกล้ชิดกับอิหร่าน ตลอดจนจากการที่ประชาชนอิรักรู้สึกไม่ชมชอบเป็นอย่างมากต่อการใช้กำลังทหารเข้ามายึดครองของสหรัฐฯ

พวกพรรคนิยมอิหร่านเหล่านี้ได้เคยข่มขู่ว่าจะคัดค้านข้อตกลงฉบับนี้ในรัฐสภาอิรัก ถ้าข้อความเหล่านี้ตลอดจนส่วนที่พวกเขาไม่เห็นด้วยอื่นๆ ยังคงไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วตั้งแต่ฤดูร้อนที่ผ่านมาว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะต้องมีการกำหนดให้กองทหารสหรัฐฯถอยออกจากพื้นที่ซึ่งมีประชากรพำนักอาศัยกันอยู่มากภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2009 ทว่าบทแก้ไขที่ถูกบรรจุเข้ามาในเนื้อหาของร่างข้อตกลงฉบับเดือนตุลาคม บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลอิรักกำลังหาทางเร่งรัดกระบวนการดังกล่าวให้เร็วขึ้นอีก ด้วยการกำหนดตารางเวลาให้มีการถ่ายโอนความรับผิดชอบจากกองทัพสหรัฐฯไปให้แก่กองกำลังของอิรักอย่างเต็มที่เรียบร้อยไปเลยตั้งแต่ก่อนหน้าวันเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ในมาตรา 25 ระบุไว้ว่า ทหารหน่วยสู้รบของสหรัฐฯต้อง “ถอนออกไปจากเมืองใหญ่, เมืองเล็ก, และหมู่บ้านทั้งหมด ในทันทีที่กองกำลังของฝ่ายอิรักเข้ารับมอบความรับผิดชอบด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างเต็มที่ในบริเวณเหล่านี้แล้ว” ดังนั้น วันที่ 30 มิถุนายน 2009 ที่กำหนดเอาไว้ในข้อตกลง จึงมิใช่เป็นกำหนดเวลาเร็วที่สุดที่เป็นไปได้สำหรับการถอนทหารของสหรัฐฯเสียแล้ว หากแต่เป็นวันเวลาท้ายสุดสำหรับการดำเนินกระบวนการดังกล่าวให้เสร็จสิ้นไปต่างหาก

เครื่องบ่งชี้ต่อมาถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลอิรักที่จะเร่งรัดกระบวนการลดการพึ่งพากำลังทหารสหรัฐฯ ก็คือถ้อยคำภาษาใหม่ๆ ในร่างฉบับสุดท้าย ซึ่งบ่งชี้ว่าอิรักต้องการให้มีตารางเวลาที่สมบูรณ์แบบ ในเรื่องเกี่ยวกับการถอนทหารสหรัฐฯอย่างเป็นขั้นเป็นตอนออกไปจากอิรัก มาตรา 25 ยังกำหนดให้จัดทำ “กลไกและการดำเนินการต่างๆ เพื่อลดระดับกำลังทหารสหรัฐฯภายในระยะเวลาที่ระบุเจาะจงเอาไว้ ...”

ในข้อตกลงฉบับนี้ ยังมีการระบุห้ามทหารสหรัฐฯออกปฏิบัติการโดยมิได้รับการอนุมัติจากฝ่ายอิรักก่อน ตลอดจนห้ามการกักขังชาวอิรักใดๆ โดยปราศจากคำสั่งของศาลอิรักอีกด้วย มาตรการใหม่ๆ ที่จำกัดความเคลื่อนไหวของกองทหารสหรัฐฯในอิรักอย่างเข้มงวดเหล่านี้ ช่างแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับก่อนหน้านี้ ซึ่งกำลังทหารสหรัฐฯสามารถปฏิบัติการได้ด้วยความมีอิสระเสรีอย่างสมบูรณ์ในทางเป็นจริง

ข้อตกลง SOFA จึงกำลังกลายเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการ ถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่อันน่าจับตา ในเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างมหาอำนาจผู้ยึดครองกับรัฐซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้การพิทักษ์คุ้มครองของมหาอำนาจดังกล่าว สิ่งที่ทำท่าจะเป็นเพียงระบอบปกครองของผู้เป็นบริวารซึ่งไม่มีพิษสงอะไร บัดนี้กลับกลายเป็นระบอบปกครองที่กำลังเฝ้ารอคอยจังหวะเวลาอันเหมาะสมในการแสดงสิทธิ์เพื่อเป็นผู้ควบคุมอย่างแท้จริงเหนือการคงกำลังทหารต่อไปของมหาอำนาจนั้น

ไม่เพียงคณะรัฐบาลบุชและฝ่ายทหารสหรัฐฯเท่านั้น แต่แทบตลอดการเจรจาเพื่อทำข้อตกลง SOFA พวกชนชั้นนำในแวดวงความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯแทบทั้งหมดต่างทึกทักเอาว่า อิรักจะยอมเห็นพ้องให้กำลังทหารสหรัฐฯยังคงดำเนินภารกิจด้านการให้คำปรึกษา, การฝึกฝนอบรม, และการสนับสนุนในอิรักตามที่ฝ่ายทหารสหรัฐฯต้องการต่อไป พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯตลอดจนผู้สนับสนุนภารกิจดังกล่าวนี้ ถึงกับพูดจากันเกี่ยวกับการคงกำลังทหารสหรัฐฯทำหน้าที่ฝึกอบรมและสนับสนุนจำนวนราว 40,000 ถึง 50,000 คน ในอิรักอย่างไม่มีกำหนดถอนออก

พวกผู้สนับสนุนบทบาทเช่นว่านี้มีความเชื่อว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของฝ่ายอิรักเองไม่อาจสู้รบในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบได้ หากไม่มีทหารสหรัฐฯเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องโดยตรง ทว่าการตั้งสมมุติฐานเช่นนี้กลับกลายเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมองผลประโยชน์เชิงสถาบันและผลประโยชน์ทางการเมืองอันคับแคบ มากกว่าจะเป็นการสะท้อนถึงทัศนะของคณะผู้นำอิรักจริงๆ

เจตนารมณ์ของรัฐบาลอิรักที่จะเดินหน้าต่อไปโดยปราศจากความช่วยเหลือที่วอชิงตันเชื่อว่าสำคัญยิ่งสำหรับการอยู่รอดของระบอบปกครองนี้ ดูจะสะท้อนให้เห็นชัดเจนยิ่ง ในเรื่องความแตกต่างกันอย่างลึกล้ำระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลแบกแดด เกี่ยวกับวิธีการรับมือกับพวกผู้ก่อความไม่สงบทั้งที่เป็นชาวสุหนี่และที่เป็นชาวชิอะห์ ระบอบปกครองของอิรักปัจจุบันที่ครอบงำโดยชาวชิอะห์นั้น รู้สึกมีความมั่นใจในความสามารถของตนที่จะจัดการกับการต่อต้านทางทหารของชาวสุหนี่ที่อาจจะเกิดขึ้นมา โดยไม่ต้องอาศัยกำลังทหารสหรัฐฯมาแสดงบทบาทเสมือนคอยป้อนนมเลี้ยงทารก ยิ่งกว่าที่จะต้องรับมือปัญหานี้โดยมีพี่เลี้ยงทหารอเมริกันเสียอีก

นอกจากนั้น ระบอบปกครองของอิรักยังมีความมั่นใจมากกว่าเช่นเดียวกัน ในการรับมือกับปัญหาการต่อต้านแบบชาตินิยมของกลุ่มสนับสนุนมุกตาดา อัล-ซาดร์ ด้วยการแสดงจุดยืนแบบนักชาตินิยมในเรื่องกองทหารสหรัฐฯเสียเลย ยิ่งกว่าที่จะคอยพึ่งพาความช่วยเหลือจากทหารอเมริกัน จากมุมมองของรัฐบาลอิรักแล้ว ข้อตกลงหลายๆ ฉบับที่ฝ่ายตนทำเอาไว้ มุกตาดา อัล-ซาดร์ นักการศาสนาหัวรุนแรงคนสำคัญของฝ่ายชิอะห์ โดยที่มีอิหร่านเป็นตัวกลางนั้น สามารถที่จะอำนวยความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ระบอบปกครองนี้ในรอบปี 2008 ไม่ให้ถูกกลุ่มสนับสนุนซาดร์เล่นงานโจมตี ยิ่งเสียกว่าที่การปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯในเวลาเดียวกันนั้นจะทำให้ได้มากมายหลายเท่านัก

มองกันในแง่ความสำนึกทางภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างมากขึ้น ข้อตกลง SOFA เผยให้เห็นถึงความเป็นจริงทางการเมืองที่ว่า อำนาจทางการทหารของสหรัฐฯในอิรักยังไม่สามารถที่จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นอิทธิพลเหนือประเทศนี้ในระยะยาวไกล ทันทีที่ระบอบปกครองของชาวชิอะห์ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งทางการเมืองและทางศาสตร์กับอิหร่านก้าวขึ้นมาครองอำนาจ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การพึ่งพาอาศัยอำนาจทางทหารของสหรัฐฯจะต้องกลายเป็นเพียงนโยบายชั่วคราว ซึ่งจะถูกลดทอนให้น้อยลงเรื่อยๆ เป็นขั้นๆ ตามที่เงื่อนไขสภาพการณ์เอื้ออำนวยให้

การเจรจาเพื่อทำข้อตกลง SOFA คือการสร้างโอกาสให้สามารถทำให้การลดทอนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันอย่างเป็นทางการขึ้นมา

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น