xs
xsm
sm
md
lg

สงครามอิรักกับโพลหยั่งเสียงในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: อาลี กอริบ

A US war at the polls
By Ali Gharib
11/04/2008

ขณะที่คณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช มักอ้างอยู่เรื่อยว่านโยบายอิรักของพวกเขา ไม่ได้คำนึงถึงผลการหยั่งเสียงประชามติในสหรัฐฯ แต่แล้วจากตัวอย่างที่ปรากฏออกมาในการไต่สวนของรัฐสภาช่วงสัปดาห์นี้ เวลานี้กลับเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้นทุกทีที่จะมองยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯให้เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเป็นการมุ่งทำอะไรทุกอย่างเพื่อลดความรุนแรงลงมา จะได้บรรเทากระแสความไม่พอใจภายในสหรัฐฯที่คัดค้านสงครามคราวนี้

วอชิงตัน – จากการที่ผู้บัญชาการกองกำลังทหารยึดครองอิรัก พลเอก เดวิด เพเทรอัส และ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอิรัก ไรอัน คร็อกเกอร์ ไปให้ปากคำรายงานความก้าวหน้าต่อรัฐสภาอเมริกันในสัปดาห์นี้ อิรักก็ได้ถูกผลักดันให้กลับเข้าสู่ความตระหนักรับรู้ของสาธารณชนสหรัฐฯ รวมทั้งการแบ่งแยกทางการเมืองทั้งหลายทั้งปวงซึ่งปัญหานี้กำลังก่อให้เกิดขึ้น

สิ่งที่คณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช สดุดีถือเป็น “ความสำเร็จ” นั้น ได้ทำให้ความรุนแรงลดระดับลงมาอย่างชัดเจนจริงๆ โดยที่จำนวนพลเรือนล้มตายกันลดน้อยลงมาราวครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากชี้ว่า เมื่อพิจารณาในกรอบที่กว้างยิ่งขึ้นแล้ว ยุทธศาสตร์ของกองกำลังยึดครองของสหรัฐฯในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ –บ่อยครั้งยุทธศาสตร์นี้มักถูกขนานนามว่า “การโหมเพิ่มกำลัง” ทว่าอันที่จริงแล้วมันไปไกลเกินกว่าแค่เรื่องจำนวนทหารที่ถูกส่งเพิ่มเข้าไปในอิรักซึ่งนามเรียกขานนี้บ่งบอก –กลับประสบความล้มเหลว ไม่สามารถคลี่คลายแก้ไขเรื่องความสมานฉันท์ทางการเมืองระหว่างชาวอิรัก อันเป็นสิ่งที่ยุทธศาสตร์นี้มุ่งหมายทำให้บังเกิดขึ้นมา

มายาภาพของสิ่งที่เรียกกันว่า “ความสงบ” –ซึ่งหมายถึงการที่ชีวิตผู้บริสุทธิ์ต้องด่าวดิ้นไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง ได้ลดลงมาเหลือ “แค่เพียง” 600 คนต่อเดือน –ในอิรัก ได้แหลกสลายลงเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ตอนที่การช่วงชิงอำนาจกันภายในหมู่ชาวชิอะห์ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการนองเลือด และเปิดเผยให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของบุชเป็นเพียงพลาสเตอร์ปิดแผล ซึ่งปกคลุมซุกซ่อนบรรดาบาดแผลเน่าเปื่อยแห่งการขัดแย้งบาดหมางกันภายในสังคมของชนชาวอิรัก

“ดูจากเนื้อหาสาระแล้ว นี่คือจุดที่เราอยู่กันจริงๆ ในเวลานี้ ความรุนแรงลดระดับลงเมื่อมองจากเปลือกนอก ทว่ามีอีกมากมายเลยยังกำลังเดือดพล่านอยู่ข้างใต้” ไมเคิล แวร์ ผู้สื่อข่าวให้ซีเอ็นเอ็น และเป็นผู้รายงานข่าวเกี่ยวกับสภาพภายในอิรักเอาไว้อย่างกว้างขวางมาก กล่าวต่อเวทีการประชุมว่าด้วยอิรัก ที่จัดโดย ศูนย์กลางเพื่อความก้าวหน้าของชาวอเมริกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่บุชอ้างว่านโยบายเรื่องอิรักของเขา ไม่ได้คำนึงถึงผลการหยั่งเสียงประชามติในสหรัฐฯ มันก็กลับเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้นทุกทีที่จะมองแง่มุมต่างๆ ของยุทธศาสตร์สหรัฐฯนี้ให้เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเป็นการมุ่งทำสิ่งทุกทุกอย่างเพื่อลดความรุนแรงในปัจจุบัน จะได้บรรเทากระแสความไม่พอใจภายในประเทศที่คัดค้านสงครามคราวนี้ แม้นี่จะเป็นการหน่วงเหนี่ยวความขัดแย้งบาดหมางเอาไว้ต่อไป จนกว่าคณะรัฐบาลชุดใหม่จะขึ้นครองอำนาจในวอชิงตันเดือนมกราคมปีหน้า –และขณะเดียวกัน มันก็กำลังทำให้บุชได้รับความคุ้มกันทางการเมือง เพราะสามารถบอกปัดไม่ต้องเป็นผู้ทำให้การสู้รบขยายตัวมากขึ้นไปอีก จนอาจสั่นคลอนความสงบเรียบร้อยแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่บังเกิดขึ้นภายหลังการเข้ารุกรานอิรักในปี 2003

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเร็วๆ มานี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีอิรัก นูริ อัล มาลิกิ ออกคำสั่งให้กองทหารอิรักเข้าเผชิญหน้ากับกลุ่มต่างๆ จำนวนหนึ่งในกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่ใช้ชื่อว่า กองทัพมาห์ดิ ของ มุกตอดา อัล ซาดร์ นักการศาสนานิกายชิอะห์ที่ต่อต้านอเมริกัน โดยที่ทางสหรัฐฯก็ให้การสนับสนุนทางอากาศด้วย อันที่จริงแล้วคือการเปิดเผยให้เห็นถึงการแตกแยกบาดลึกยิ่งขึ้นอีก ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะแตกสลายของสิ่งซึ่งเคยเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายชิอะห์ ที่รวมตัวเข้าด้วยกันเพียงหลวมๆ และละเอียดอ่อนไหวยิ่ง

“กลุ่มพิเศษต่างๆ” ของกองทัพมาห์ดิ ซึ่งตกเป็นเป้าที่รัฐบาลแห่งชาติของอิรักสั่งให้โจมตีนั้น ทางเพเทรอัสและคณะรัฐบาลบุช เรียกขานว่าเป็นกลุ่มที่ควบคุมบังคับบัญชาโดยพวกอันธพาลและอาชญากรที่อยู่ภายในกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของซาดร์ ทว่าจากการปฏิบัติการขนาดใหญ่โตที่บังเกิดขึ้น ก็ยังคงเป็นสัญญาณแสดงถึงการสู้รบแบบแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายภายในหมู่ชาวชิอะห์ โดยที่มีมาลิกิ และ มุกตอดา เป็นตัวแทนของแต่ละข้าง –เรื่องนี้มีหลักฐานสนับสนุนจากข้อเท็จจริงที่ว่า การเจรจากันซึ่งมีทางอิหร่านเป็นคนกลาง ระหว่าง มุกตาดา และคณะผู้แทนของ 2 พรรคการเมืองฝ่ายชิอะห์ที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลผสมปกครองอิรักเวลานี้ โดยที่พรรคหนึ่งคือพรรคดาวะของมาลิกินั้น ในที่สุดแล้วก็ทำให้ความเป็นปรปักษ์กันยุติลงได้

ทว่าการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในหมู่ชาวชิอะห์เช่นนี้ ยังต้องถือเป็นเพียงส่วนข้างน้อยของความตึงเครียดจากความแตกแยกที่ยังคงแฝงฝังอยู่ภายใน และมีเค้าลางว่าจะกลายเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่โตต่ออนาคตแห่งสันติภาพของอิรัก การปะทะขัดแย้งกันซึ่งๆ หน้าระหว่างพวกนิกายชิอะห์ที่เป็นชนส่วนใหญ่และเป็นผู้ปกครองประเทศตัวหลักในเวลานี้ กับพวกนิกายสุหนี่ ยังคงบังเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ทว่าถูกกองทัพสหรัฐฯคอยเกลี้ยกล่อมให้กดข่มเอาไว้ไม่ให้ปะทุขึ้นมา และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนที่ละเอียดอ่อนที่สุดของยุทธศาสตร์การโหมเพิ่มกำลัง รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งทำให้ระดับความรุนแรงลดลงมา

พวกผู้ก่อความไม่สงบชาวสุหนี่ ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ที่ถูกโค่นล้มลงไปนั้น ในตอนเริ่มแรกเลยได้ต่อต้านการยึดครองของสหรัฐฯด้วยวิธีการต่างๆ ทุกอย่างที่จะทำได้ รวมทั้งการเข้าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรัก ทีแรกพวกเขาหวาดกลัวว่าชาวชิอะห์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศและเคยถูกกดขี่มาในอดีต จะปราบปรามกำจัดพวกเขาในทันทีที่ได้รับมอบอำนาจจากสหรัฐฯ และดังนั้นจึงคว่ำบาตรการเลือกตั้งในหนต้นๆ

การเจรจากับสหรัฐฯในปี 2004 ล้มครืนลงเพราะพวกสุหนี่ปฏิเสธไม่ยอมทำความตกลงกับรัฐบาลแห่งชาติซึ่งมีพวกชิอะต์ครอบงำอยู่ แต่แล้วเมื่อพวกสุหนี่ดูเหมือนจะเหลืออดเหลือทนกับอัลกออิดะห์ที่กำลังสร้างสถานการณ์ยากลำบากขึ้นในดินแดนของพวกเขา โดยที่ไม่สามารถที่จะต่อสู้กับทั้งกลุ่มอัลกออิดะห์, กองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชิอะห์, และสหรัฐฯไปพร้อมๆ กันได้ พวกสุหนี่ก็เลยก่อตั้งกลุ่มต่างๆ ซึ่งเรียกขานกันว่า ซอห์วา –คำภาษาอาหรับที่แปลว่า การตื่น -จากนั้นกลุ่มเหล่านี้เองก็ได้รับการติดต่อทาบทามจากสหรัฐฯ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งใน “การโหมเพิ่มกำลัง” ของอเมริกัน

ทว่านี่ก็เป็นตัวอย่างที่ทรงพลังอีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องที่ว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯได้ไปเพิ่มรอยแตกร้าวระหว่างสุหนี่กับชิอะห์ให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นได้อย่างไร นั่นก็คือ รัฐบาลกลางในกรุงแบกแดดกลับถูกละเลยทิ้งขว้างไปอย่างสิ้นเชิง ในความพยายามที่จะนำเอาพวกซอห์วาเข้ามาร่วมอยู่ในยุทธวิธีต่อสู้การก่อความไม่สงบของสหรัฐฯคราวนี้

“มีการค้นพบข้อตกลงฉบับหนึ่งระหว่างอเมริกากับพวกผู้ก่อความไม่สงบชาวสุหนี่ ซึ่งระบุถึงเงื่อนไขจำนวนมากที่มีการเสนอกันออกมาในตอนเริ่มแรกเลย” แวร์เล่า “แต่ก็อย่างที่แม้กระทั่งโฆษกกองกำลังนานาชาติ [ชื่ออย่างเป็นทางการของกองกำลังยึดครองอิรักที่นำโดยสหรัฐฯ] พลตรี เควิน เบิร์กเนอร์ ก็ยังยอมรับอย่างเปิดเผย นั่นคือ มันเป็นการตกลงกันแบบสองฝ่าย รัฐบาลอิรักนั้นไม่ได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายหนึ่งในข้อตกลงนี้หรอก”

ข้อตกลงฉบับนี้ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบ 90,000 คนถอนตัวออกจากสมรภูมิ และพวกเขาก็ถูกนำมาบรรจุไว้ในบัญชีจ่ายเงินเดือนของทหารสหรัฐฯ –ในอัตรา 300 ดอลลาร์ต่อเดือน -เพื่อให้พวกเขารับบทบาทเป็นผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยต่อต้านอัลกออิดะห์ในเขตพื้นที่ของพวกเขาเอง

“ปัญหาพื้นฐานในอิรักคือพวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นต่างๆ เหล่านี้” นักหนังสือพิมพ์ นีร์ โรเซน กล่าวในเวทีประชุมเดียวกัน “อเมริกันเวลานี้กำลังก่อตั้งกองกำลังอาวุธท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็สนับสนุนพวกเขาและอนุญาตให้พวกเขาติดอาวุธตัวเองและเข้าควบคุมพื้นที่ เห็นได้ชัดเลยว่า นั่นเป็นการทำให้เกิดสถานการณ์ที่น่าหวาดวิตกมาก”

ข้อตกลงที่ทำกับกองทัพสหรัฐฯนี้มีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาว่า ท้ายที่สุดแล้วพวกซอห์วาจะได้รับโอกาสให้เข้ามีส่วนร่วมในการปกครองทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด อีกทั้งจะมีบทบาทนำเพิ่มมากขึ้นในกองทหารตำรวจที่เป็นทางการของอิรัก –ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบันยังคงประกอบด้วยพวกอดีตสมาชิกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของชิอะห์เสียเป็นส่วนใหญ่

สำหรับชาวสุหนี่จำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงตามที่มีการสัญญาไว้เหล่านี้ ช่างมาถึงเชื่องช้าจนน่าหงุดหงิดผิดหวังเป็นที่ยิ่ง พวกเขามองรัฐบาลกลางด้วยความระแวงสงสัยอย่างมากอยู่แล้ว และกำลังเยาะหยันพวกชิอะห์อาหรับว่าแท้จริงแล้วเป็นคนอิหร่าน หรือไม่ก็เป็นตัวแทนของอิหร่าน -อันเป็นการโหมใส่ไฟความบาดหมางทางเชื้อชาติระหว่างชาวอาหรับกับชาวอิหร่าน โดยที่ชาวอิหร่านนั้นจะเป็นพวกนับถืออิสลามนิกายชิอะห์ เหมือนๆ กับชาวชิอะห์อาหรับ

พวกซอห์วายังไม่ได้รับดอกผลในรูปของอำนาจทางการเมืองที่เป็นทางการซึ่งทรงความสำคัญใดๆ เลย –โดยที่ต้องเฝ้ารอคอยการเลือกตั้งระดับจังหวัดซึ่งกำหนดเอาไว้ในเดือนตุลาคมนี้ ทว่ากำลังทำท่าจะถูกเลื่อนช้าออกไปอีก –นอกจากนั้นพวกเขายังคงต้องพึ่งพาเงินสงเคราะห์จากสหรัฐฯ ไม่ใช่จากรัฐบาลอิรัก โดยที่กองทหารตำรวจอิรักก็ยังไม่ได้มีการดึงเอาพวกเขาเข้ามาร่วมมือด้วยอย่างมีความสำคัญอะไรเลย

“โดยส่วนใหญ่แล้ว รัฐบาลอิรักกำลังใช้ท่าทีไม่อนุญาตให้พวกกลุ่มซอห์วาเข้ามาร่วม และพวกกลุ่มซอห์วาต่างก็รู้สึกผิดหวังไม่พอใจมากเกี่ยวกับเรื่องนี้” เป็นคำบอกเล่าของโรเซน ซึ่งใช้เวลาอย่างยาวนานในอิรักกับพวกกลุ่มซอห์วาเหล่านี้ “พวกเขาอุทธรณ์ว่า เมื่อพวกเขาพยายามที่จะเข้าร่วม พวกเขาก็ถูกรังควาญ และถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นเชลย เหมือนกับเป็นผู้ต้องสงสัย”

ความหงุดหงิดผิดหวังประเภทนี้ ทำให้ “ความสำเร็จ” ของยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในสภาพโซซัดโซเซตรงริมขอบแห่งความเสื่อมโทรมลงสู่ความรุนแรง ซึ่งอาจเร่งให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา ในช่วงเวลาประมาณ 3 ปีแรกของการเข้ายึดครอง สหรัฐฯล้มเหลวไม่สามารถอำนวยให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยที่จะป้องกันไม่ให้สังคมอิรักต้องแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ –และปล่อยให้ย่านชุมชนต่างๆ เกิดการล้างเผ่าพันธุ์ แต่สถานการณ์ในเวลานี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเลวร้ายยิ่งกว่าการนองเลือดแบ่งแยกเชื้อชาตินิกายศาสนาครั้งใดๆ เท่าที่เคยเห็นกันมา นับตั้งแต่ช่วงระยะปีต้นๆ อันโกลาหลอลหม่านภายหลังกรุงแบกแดดแตก

“สถานการณ์อยู่ในสภาพไร้เสถียรภาพอย่างเหลือเชื่อ ประกายไฟชนิดไหนก็ได้สามารถทำให้เกิดความรุนแรงขนาดมหึมาขึ้นมาอีกครั้ง แต่คราวนี้มันจะไม่มีที่ไหนเลยที่จะสามารถวิ่งหนีไปพึ่งพิงได้” โรเซนบอก “จอร์แดนและซีเรียปิดพรมแดนของพวกตนไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยอีกแล้ว ผู้ว่าการใน 11 จังหวัดจาก 18 จังหวัดของอิรักก้ปิดพรมแดนของพวกเขาไม่ต้อนรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เพราะพวกเขารับเอาไว้จนรับไม่ไหวแล้ว”

“ดังนั้นเมื่อการสู้รบเริ่มขึ้นมาอีกครั้ง ประชาชนก็จะไม่มีที่ไหนที่จะสามารถหนีไปพักพิงได้ พวกเขาจะต้องติดแหง็กอยู่ภายในพื้นที่ซึ่งถูกกำแพงล้อมไว้จนรอบของพวกเขาเอง” เขากล่าว

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น