xs
xsm
sm
md
lg

กษัตริย์ซาอุดีจัดประชุมระหว่างศาสนาที่มาดริด

เผยแพร่:   โดย: ศรีราม เชาเลีย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

A leap of faith for Saudi King
By Sreeram Chaulia
21/07/2008

กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงจัดการประชุมซึ่งมีนักคิดทั้งที่เป็นมุสลิม, คริสต์, พุทธ, ฮินดู, ซิกข์, และยิว เข้าร่วมพูดจากัน ณ กรุงมาดริดเมื่อกลางเดือนนี้ ด้วยความมุ่งหมายให้เป็นรายการเบิกโรงของการสนทนาระหว่างผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อแตกต่างกันครั้งสำคัญชนิดที่ไม่เคยมีการจัดกันมาก่อน ความริเริ่มของพระราชาธิบดีซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ วาดหวังไว้ว่าจะช่วยบรรเทาอคติระหว่างศาสนาต่างๆ ซึ่งกำลังแผ่กระจายกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม น่าสงสัยอยู่ว่าการสนทนาระหว่างผู้นำทางศาสนาสองสามร้อยท่านเหล่านี้ จะมีความสามารถจริงๆ หรือ ที่จะก่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจระหว่างประชาคมต่างๆ ซึ่งยังติดแหง็กอยู่ในพื้นที่สงคราม ตลอดจนอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม การประชุมระหว่างชาวมุสลิม, คริสต์, ยิว, พุทธ, ฮินดู, และซิกข์ แบบที่ไม่เหมือนกับการพูดจาที่ได้เคยจัดกันมาก่อน ได้เปิดฉากขึ้นในกรุงมาดริด ประเทศสเปน โดยที่มีกษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงเป็นประธานเปิด จุดมุ่งหมายของการประชุมนี้ ได้แก่การเชื่อมประสานรอยร้าวของความแตกแยกระหว่างศาสนาต่างๆ ที่กำลังแผ่กว้าง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่มเพาะให้เกิดความรุนแรงขึ้นในโลกปัจจุบัน วาระการหารือเช่นนี้นับว่าสอดคล้องเหมาะสมมาก เนื่องจากศาสนากำลังกลายเป็นแหล่งที่มาสำคัญแหล่งหนึ่งของความขัดแย้งที่บังเกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้

การประชุมมาดริดประสงค์ที่จะให้เกิดรูปธรรมของ “การสนทนาระหว่างผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อแตกต่างกัน” (inter-faith dialogue) ซึ่งกำลังกลายเป็นเสมือนยากลางบ้านในยุคสมัยของเรา เพื่อไว้ใช้เยียวยาอคติทางศาสนาที่กำลังอยู่ในสภาพพุพองกลัดหนอง กษัตริย์อับดุลเลาะห์ตรัสเรียกการประชุมคราวนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ “ประวัติศาสตร์” และอันที่จริงมันก็มีสิ่งที่บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอยู่สองสามอย่างเหมือนกัน ซึ่งสามารถหยิกยกขึ้นมาเป็นเครดิตได้ รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าพวกนักคิดชาวยิวหลายคนได้รับพระราชทานเชิญจากพระราชาธิบดีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำแข็งแห่งความเย็นชาได้ละลายไปแล้วอย่างน้อยก็บางส่วน

ก่อนหน้านี้ กษัตริย์อับดุลเลาะห์ได้เสด็จไปเยือนสมเด็จพระสันตปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ถึงสำนักวาติกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 นับเป็นการพบปะหารือครั้งแรกเท่าที่เคยปรากฏ ระหว่างพระประมุขนิกายศาสนาชาวคริสต์ กับพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ซาอุด แนวความคิดในเรื่องการสนทนาระหว่างผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อแตกต่างกันอย่างชนิดมุ่งให้ปรากฏผลยั่งยืน ก็บังเกิดขึ้นจากการที่พระสันตปาปาเบเนดิกต์และกษัตริย์อับดุลเลาะห์ ทรงมีพระราชดำริต้องตรงกันนั่นเอง

ภายหลังจาก อุซามะห์ บิน ลาดิน ประกาศเปิดแนวรบทำสงครามกับ “อารยธรรมยิว-คริสต์” (Judeo-Christian civilization) ตลอดจนความอลหม่านวุ่นวายในกรณีการ์ตูนหยามหยันศาสดามุฮัมหมัดในเดนมาร์ก ความริเริ่มของพระราชาธิบดีซาอุดีอาระเบียในมาดริดคราวนี้ คือการตอบโต้อย่างตรงเป้า ต่อแนวโน้มของการด่าทอโจมตีกันไปมา ตลอดจนการสร้างความเคืองแค้นระหว่างศาสนาต่างๆ ท่านผู้พิทักษ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลามพระองค์นี้ กำลังทรงดำเนินการในขั้นตอนที่อาจช่วยบรรเทาความเดือดดาลโกรธกริ้วของบรรดาคนผู้ซึ่งมองเห็นว่า ความขัดแย้งด้วยอาวุธที่กำลังปรากฏอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโลกอยู่ในเวลานี้นั้น คือสนามรบย่อยๆ ของ “การขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างอารยธรรมต่างๆ” (clash of civilizations)

อย่างไรก็ตาม การประชุมมาดริดครั้งนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะลบล้างโมหคติแห่งการต่อต้านยิวและการหวาดระแวงอิสลาม ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในสังคมของชาวมุสลิมและของชาวยิว ออกไปได้อย่างสิ้นเชิง ดังเห็นได้จากการที่ไม่มีผู้นำชาวยิวที่เป็นชาวอิสราเอลแม้แต่คนเดียว ปรากฏอยู่ในรายชื่อบุคคลทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมรวม 288 ท่านที่ได้รับพระราชทานเชิญให้เข้าร่วมรายการนี้ ดังนั้น ความหวาดผวาขยะแขยงอย่างที่สุดซึ่งพวกประเทศมุสลิมอนุรักษนิยมในตะวันออกกลางจะรู้สึกกัน ถ้าหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชาวอิสราเอล ก็จึงยังคงมิได้รับการแก้ไขคลี่คลาย

กรณีที่ช่วยเตือนความจำเกี่ยวกับโมหคติดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี ได้แก่ การลงสมัครแข่งขันเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) คนต่อไป ของรัฐมนตรีวัฒนธรรมอียิปต์ ฟารุก ฮอสนี กรณีดังกล่าวนี้ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้เองได้เผยให้เห็นรูปโฉมที่เลวร้ายที่สุดของอคติระหว่างศาสนาที่แตกต่างกันซึ่งกำลังปกคลุมภูมิภาคแถบนี้ เริ่มตั้งแต่ทางการเทลอาวีฟได้ยื่นคำประท้วงอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าไม่สามารถยอมรับให้ฮอสนีเป็นผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้ เนื่องจากเขาเคยประกาศว่า “ผมจะขอเผาพวกหนังสือของอิสราเอลด้วยตัวเองเลย ถ้าหากผมพบว่ามันมีอยู่ในห้องสมุดไม่ว่าที่ไหนในอียิปต์”

ฮอสนีพยายามแก้ต่างให้ตัวเอง ด้วยการอธิบายถึงบริบทแวดล้อมคำพูดอันชวนให้เกิดความขัดแย้งดังกล่าวของเขา พร้อมกับเสนอที่จะเดินทางไปเยือนอิสราเอล อันถือเป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับชาวมุสลิมในตะวันออกกลางจำนวนมาก ปรากฏว่าปัญญาชนอิสลามิสต์ชาวอียิปต์หลายสิบคน ได้แสดงปฏิกิริยาด้วยการวิพากษ์โจมตีฮอสนีอย่างรุนแรง ว่ากำลัง “ยอมจำนนอย่างไร้ศักดิ์ศรีต่อความต้องการของอิสราเอล เพียงเพื่อหวังให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น” เมื่อตกอยู่หว่างกลางพวกสุดโต่งสองข้าง การเข้าแข่งขันของฮอสนีเพื่อชิงตำแหน่งงานสำคัญของยูเอ็นคราวนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมีความหวังอยู่มาก จึงกลับตกอยู่ในสภาพเสมือนกำลังถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย

การที่ซาอุดีอาระเบียจัดการประชุมสนทนากันระหว่างศรัทธาความเชื่อที่แตกต่างกันเช่นนี้ ควรที่จะทำให้เกิดความระแวงสงสัยกันอย่างมากเหมือนกัน สืบเนื่องจากราชอาณาจักรแห่งนี้มีประเพณีปฏิบัติอันยาวนาน ในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทั้งด้านศีลธรรม, การเงิน, การทูต, และการทหาร แก่พวกกลุ่มอิสลามิสต์ที่สุดโต่ง การที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียส่งเสริมสนับสนุนหลักคำสอนอิสลามของสำนักวาห์ฮาบี (Wahhabi) ที่เน้นความเกลียดชัง คือสิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่ความสามัคคีปรองดองกันระหว่างศาสนาต่างๆ ยิ่งเสียกว่าพลังทางเทววิทยาอื่นใดทั้งนั้น

แหล่งที่มาสำคัญของศาสนาอิสลามแบบไร้ขันติธรรมอีกแหล่งหนึ่งนั้น ได้แก่สำนักดีโอบันดี (Deobandi) ซึ่งเป็นสำนักที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่พวกตอลิบาน และเหล่านักรบญิฮาดที่เป็นพันธมิตรของพวกเขาในเอเชียใต้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ดารุล อูลูม ดีโอบันด์ ในภาคเหนือของอินเดีย ได้ออกฟัตวา (คำตัดสินทางศาสนาที่ถือว่ามีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม) ที่ระบุว่า การก่อการร้ายและความรุนแรงอันไม่เป็นธรรมทั้งหลาย คือการกระทำที่ไม่ใช่อิสลาม การจัดประชุมที่มาดริดของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ อาจจะด้วยทรงมีพระราชประสงค์ในทำนองเดียวกัน นั่นคือการสาธิตให้เห็นว่า ราชอาณาจักรที่เป็นป้อมปราการแห่งลัทธิวาห์ฮาบี กำลังจะผลัดใบใหม่แล้ว

แต่เหตุการณ์เฉกเช่นการประชุมมาดริด เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับเป็นสิ่งของตัวอย่างตั้งโชว์ ดังนั้น คุณค่าที่แท้จริงยังสมควรที่จะต้องวินิจฉัยตัดสินกันในท้ายที่สุด ด้วยการพิจารณาในประเด็นที่ว่า ซาอุดีอาระเบียได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศอันแท้จริงของตน ซึ่งมุ่งประคบประหงมพวกสุดโต่งหรือเปล่า

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายถล่มโจมตีสหรัฐฯในวันที่ 11 กันยายน 2001 ก็มีแรงกดดันจากฝ่ายตะวันตกต่อกษัตริย์ฟาฮัด พระราชบิดาที่เสด็จสวรรคตแล้วของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ ให้พระองค์ทรงเร่งทำให้ราชอาณาจักรของพระองค์เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาที่จะเลิกลัทธิเคร่งครัดจารีต (fundamentalism)

กษัตริย์ฟาฮัดนั้นทรงถูกหลายๆ ฝ่ายมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเอาต์ซอร์ส (outsourcing) การก่อการร้าย โดยที่พระองค์ทรงเกลี้ยกล่อมให้พวกอิสลามิสต์ชาวซาอุดีผู้ร้อนรุ่ม อย่าได้สร้างความยุ่งยากอะไรขึ้นในบ้าน แต่ถ้านอกพรมแดนของประเทศออกไปแล้ว จะทำกิจกรรมอะไรขนาดไหนก็ทำได้ตามใจชอบ เจ้าชาย บันดาร์ บิน สุลต่าน เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ถล่มโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ในนครนิวยอร์ก ได้เคยแสดงท่าทียอมรับเรื่องนี้อยู่มากทีเดียว เมื่อเขากล่าวว่า “เราไม่เคยวิตกกังวลอะไรเลยเกี่ยวกับผลกระทบขององค์การเหล่านี้ [องค์การอย่างเช่นอัลกออิดะห์] ที่จะมีต่อประเทศของเรา”

การที่ประชาคมชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ตั้งแต่โมร็อกโกไปจนถึงอินโดนีเซีย ต่างก็มีความเคารพและคร้ามเกรงอย่างลึกซึ้งต่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย ทำให้เป็นเรื่องง่ายดายที่คณะเผยแพร่ศาสนาแบบอิสลามิสต์ของประเทศนี้ จะแทรกตัวเข้าไปจนถึงกระทั่งซอกมุมอันสุดไกล พวกเขาสร้างมัสยิดและฝึกอบรมอิหม่ามในท้องถิ่น แต่ก็หว่านเมล็ดของขบวนการนิยมความรุนแรงในท้องถิ่นอย่างลับๆ ไปด้วย จักรวรรดิเสมือนจริงแห่งนักรบญิฮาดของซาอุดี จึงกำลังถูกก่อตั้งขึ้นอย่างช้าๆ พร้อมด้วยผลร้ายซึ่งติดตามมาอันพึงทำนายได้ นั่นคือ ความเสียหายของความสามัคคีปรองดองระหว่างศาสนาต่างๆ และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

การที่คำว่า อิสลามกลายเป็นมีความหมายไปในเชิงลบในหลายๆ บริเวณของโลก จึงเป็นเรื่องที่ซาอุดีอาระเบียควรจะต้องร่วมส่วนรับผิดชอบด้วย การจัดประชุมมาดริดยังไม่ใช่เป็นการแก้ไขความผิดพลาดที่เพียงพอ เว้นแต่กษัตริย์อับดุลเลาะห์จะทรงมีการปฏิบัติให้ปรากฏ และนำระบอบการปกครองของพระองค์ ตลอดจนพวกผู้มั่งคั่งจากการคุมกิจการน้ำมันในราชอาณาจักรของพระองค์ ถอยห่างจากโรงเรียนและแหล่งหลบภัยของลัทธิอิสลามิสต์แบบสุดโต่ง

แต่ปัญหาในทางภูมิรัฐศาสตร์สำหรับทางการริยาด ที่ทำให้ยังไม่อาจดำเนินการปฏิรูปอย่างเต็มที่ได้ ก็คือ การที่ต้องแข่งขันกับอิหร่านซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชิอะห์ และก็กำลังให้เงินทุนสนับสนุนการต่อสู้ของพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถของอิหร่านในการทำลายกำแพงด้านนิกาย จนสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้ายชาวสุหนี่อย่างเช่น พวกฮามาส และพวกนักรบญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (Palestinian Islamic Jihad) ถูกซาอุดีอาระเบียมองว่าเป็นสัญญาณที่น่าวิตก เนื่องจากเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการสูญเสียพลังดึงดูดที่เคยมีเหนือเขตอิทธิพลของตนเอง ริยาดยังไม่เคยใช้ความพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงพวกชิอะห์เคร่งจารีต ด้วยความยืดหยุ่นอย่างมโหฬารแบบเดียวกับที่เตหะรานกระทำอยู่เลย

ระหว่างสงครามอิสราเอล-เฮซบอลเลาะห์เมื่อปี 2006 รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้แต่แสดงความหงุดหงิดไม่พอใจ ต่อการที่ตนเองกำลังมีบทบาทลดน้อยลงทุกที และกล่าวประณาม “กลุ่มต่างๆ ที่อยู่ภายในเลบานอน ตลอดจนพวกที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มเหล่านี้ [ซึ่งก็คือเฮซบอลเลาะห์และอิหร่าน]” ที่ไม่ได้ “ปรึกษาหารือและประสานงานกับประเทศอาหรับต่างๆ” ตราบเท่าที่ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านยังคงอยู่ในสภาพที่เหมือนต้องซ้อมชกโชว์ต่อหน้ากระจกอยู่เช่นนี้ ในทัศนะของริยาดแล้ว การเลิกอุปภัมภ์พวกอิสลามิสต์ผู้เร่าร้อนกระตือรือร้น ก็จะเหมือนกับการฆ่าตัวตายเท่านั้นเอง ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าการจัดกิจกรรมอันใหญ่โตที่มาดริดคราวนี้ เป็นความครึกโครมที่ดูจะเปล่าผล

ขนาดของผู้เข้าร่วมสนทนากันแบบที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์ทรงเป็นประธานอยู่ที่สเปนคราวนี้ ก็ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาเหมือนกัน ผู้นำและชนชนนำทางศาสนาจำนวนสองสามร้อยท่าน ชุมนุมกันอยู่ที่พระราชวังบนภูเขาทางด้านตะวันตกของกรุงมาดริด ย่อมยากที่จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความเข้าอกเข้าใจกันอย่างแท้จริงในระดับประชาคมและระดับท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งกำลังเกิดการสู้รบกัน และในสังคมที่กำลังรุมเร้าด้วยปัญหา

การที่ชาวมุสลิม, ยิว, คริสต์, ฮินดู, และพุทธ ซึ่งเป็นสามัญชนธรรมดาทั้งหลาย จะสามารถอยู่ร่วมกันได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานในลักษณะคณะกรรมการสันติภาพ ตลอดจนหน่วยอาสาสมัครของพลเมือง ที่มาจากหลายๆ ฝ่ายผสมกันและอิงอยู่กับระดับรากหญ้า ซึ่งสามารถที่จะลดระดับความตึงเครียด และผ่อนคลายความเข้มข้นของการต่อสู้และความไม่สงบลงมา ทว่าในจุดที่เกิดความรุนแรงจนควบคุมไม่ได้จำนวนมาก ยังคงขาดแคลนแม้กระทั่งการปฏิบัติการร่วมกันอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อป้องกันหรือจำกัดวงให้ความตึงเครียดอยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นักรัฐศาสตร์ อาชูโทช วาร์ชนีย์ (Ashutosh Varshney) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อมีสถาบันอาสาสมัครตามแบบของท่านคานธีที่สมาชิกมาจากผู้คนซึ่งมีศรัทธาความเชื่อหลายหลาก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสหภาพแรงงาน, สมาคมธุรกิจ, ชมรมอ่านหนังสือ, องค์การทางวิชาชีพ, องค์การนอกภาครัฐบาล ฯลฯ ก็สามารถที่จะป้องกันเมืองใหญ่บางแห่งของอินเดียให้รอดพ้นจากการจลาจลและการสังหารหมู่ระหว่างชาวฮินดู-ชาวมุสลิมได้ ขณะที่เมืองใหญ่ของอินเดียซึ่งปราศจากสถาบันภาคประชาสังคมดังกล่าวในระดับประชาคม ไม่สามารถหลีกหนีการนองเลือดอันน่าสะพรึงกลัวซึ่งอ้างว่ากระทำในนามของพระผู้เป็นเจ้า ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกครั้งแล้วครั้งเล่าได้

การติดต่อสื่อสารและการเคลื่อนไหวของผู้คนในยุคสมัยใหม่ ทำให้ทุกๆ สังคมในโลกเวลานี้ ต่างก็อยุ่ในสภาพที่เป็นสังคมหลายหลากวัฒนธรรม แม้กระทั่งรัฐประชาชาติแบบคลาสสิกในยุโรป ที่ตอนเริ่มแรกเสกสร้างกันขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมเพียงหนึ่งเดียว ปัจจุบันก็ยังมีชนกลุ่มน้อยที่มีศรัทธาความเชื่อแตกต่างออกไปเข้าไปพำนักอาศัยกันเป็นจำนวนมากพอดูเสียแล้ว

การแยกตัวออกไปอยู่โดดเดี่ยวจึงเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ หนทางเดียวที่จะทำให้ศาสนาต่างๆ ของโลกสามารถอยู่ร่วมกันในภูมิประเทศที่เสมือนเป็นอ่างปลาเล็กๆ ไปเสียแล้ว ก็คือ การใช้ความอดทนในการอบรมบ่มเพาะบรรดาสถาบันที่เป็นการผสมผสานของความคิดศรัทธาความเชื่อหลายหลากนานา ณ ระดับล่างสุดของพีระมิด

ศรีราม เชาเลีย เป็นนักวิจัยว่าด้วยกิจการระหว่างประเทศ ณ วิทยาลัยพลเมืองศึกษา แมกซ์เวลล์ (Maxwell School of Citizenship) มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ นิวยอร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น