xs
xsm
sm
md
lg

‘บุช’ บีบ ‘อิรัก’ ไม่ให้เรียกร้องสหรัฐฯ ถอนทหาร

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

You need Uncle Sam, Iraq told
By Gareth Porter
25/07/2008

เพื่อต่อสู้ตอบโต้กับการเรียกร้องของแบกแดด ที่ต้องการให้กำหนดตารางเวลาในการถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรัก คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช และบรรดาผู้นำทางทหารของอเมริกัน จึงกำลังออกมาตอกย้ำอย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาว่า อิรักจะต้องถือเอาเรื่องการพึ่งพากำลังทหารสหรัฐฯต่อไปอย่างไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในด้านความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง ทว่าการสวนกลับอย่างฉับพลันเช่นนี้อาจจะสายไปเสียแล้ว เพราะยุคแห่งการที่อิรักต้องพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯนั้นกำลังจบสิ้นไปแล้ว

วอชิงตัน – แทนที่จะแสดงท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามการเรียกร้องของนายกรัฐมนตรี นูริ อัล-มาลิกี แห่งอิรัก ที่ต้องการให้กำหนดตารางเวลาสำหรับการถอนทหารสหรัฐฯ คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช และเหล่าผู้นำทางทหารของอเมริกัน กลับยังคงดำเนินการกดดันระบอบการปกครองที่อยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของพวกเขามาตลอด ให้ต้องยอมน้อมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการปรากฏตัวทางทหารในประเทศนี้ต่อไปเป็นระยะเวลายาวนาน

การที่สหรัฐฯวางท่าทีแข็งขืนไม่ยอมตามการเรียกร้องให้ถอนตัวออกไปของฝ่ายอิรัก คือการตอกย้ำให้เห็นว่า ความสามารถในการเข้าใช้ฐานทัพทางทหารต่างๆ ในอิรักเป็นระยะเวลายาวนาน ได้กลายเป็นเรื่องทรงความสำคัญเพียงใด สำหรับฝ่ายทหารของอเมริกันตลอดจนระบบราชการทางด้านความมั่นคงแห่งชาติโดยรวมของสหรัฐฯ

ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว คณะรัฐบาลบุชพยายามตอบสนองต่อข้อเรียกร้องให้ถอนทหารของมาลิกี ด้วยการถือเป็นเพียงความมุ่งมาดปรารถนาอันห่างไกล ซึ่งสหรัฐฯไม่จำเป็นจะต้องยอมรับรองเห็นชอบ

ข่าวสารในเชิงตอบโต้ ได้ถูกส่งผ่านถ่ายทอดไปสู่อิรัก จากส่วนต่างๆ และจากแหล่งต้นกำเนิดหลายหลากนานาของสหรัฐฯ รวมทั้งจากอดีตผู้บัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ (Central Command หรือ CENTCOM) วิลเลียม ฟอลลอน โดยที่สาระสำคัญของข่าวสารในเชิงตอบโต้เหล่านี้ก็คือ อิรักจะต้องถือเรื่องการพึ่งพากำลังทหารสหรัฐฯต่อไปอย่างไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งในด้านความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง อย่างไรก็ตาม ข่าวสารที่ทรงความสำคัญยิ่งกว่านั้น ซึ่งสหรัฐฯมุ่งที่จะบ่งบอกอย่างอ้อมๆ ในคราวนี้ ก็คือ สหรัฐฯยังคงมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจควบคุม และดังนั้นสหรัฐฯนี่แหละ ไม่ใช่รัฐบาลอิรักเลย ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องนี้

จุดนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันเป็นครั้งแรกๆ โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กอนซาโล กัลเลกอส ผู้กล่าวย้ำอย่างตรงไปตรงมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯเกี่ยวกับการถอนทหารใดๆ ก็ตามที “จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสภาพการณ์”

มีสัญญาณที่แสดงว่า ไม่เพียงแต่คณะรัฐบาลบุชเท่านั้น ทางฝ่ายทหารของสหรัฐฯก็กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลอิรัก ให้ยุติข้อเรียกร้องเรื่องถอนทหารอเมริกันด้วยเช่นกัน ดังเห็นได้จากบทความที่ฟอลลอนเขียนลงในหน้าบทบรรณาธิการ-ความเห็น ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้เหล่าผู้นำอิรักยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในเรื่องสิทธิที่จะสามารถเข้าใช้ฐานทัพทหารต่างๆ ของอิรักได้ในระยะยาว

ฟอลลอน เคยถูกมองเสมือนกับเป็นวีรบุรษ ในสายตาของพวกปรปักษ์ต่อต้านนโยบายในตะวันออกกลางของคณะรัฐบาลบุช จากการที่เขาถูกบังคับให้พ้นตำแหน่งผู้บัญชาการ CENTCOM เพราะแสดงจุดยืนที่ต่อต้านการใช้ท่าทีก้าวร้าวรุกราน ทว่าเขากลับแสดงความเห็นไว้ในบทความดังกล่าวนี้ ด้วยวิธีใช้ความก้าวร้าวอย่างสุดขั้ว มาคัดค้านข้อเรียกร้องให้ถอนทหารของอิรัก บทความชิ้นนี้น่าสนใจมากไม่เพียงเพราะมีการใช้ท่าทีปฏิบัติต่อรัฐบาลอิรักอย่างถือว่าต่ำต้อยกว่าเท่านั้น หากยังมีการใช้น้ำเสียงแบบวางอำนาจให้รัฐบาลอิรักต้องหมอบราบปฏิบัติตามอีกด้วย

ฟอลลอนไม่แยแสเอาเลยต่อแนวความคิดที่ว่า อิรักสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยทหารสหรัฐฯมาเป็นผู้บงการควบคุมในขั้นท้ายสุด “รัฐบาลอิรักนั้นมีความกระหายที่จะแสดงให้เห็นถึงอำนาจอธิปไตยของตน” ฟอลลอนเขียนเอาไว้เช่นนี้ “แต่เหล่าผู้นำของพวกเขาก็ยอมรับด้วยเช่นกันว่า ยังจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่อิรักจะสามารถเข้าดูแลควบคุมความมั่นคงปลอดภัยอย่างเต็มที่ได้”

ฟอลลอนยืนยันว่า “รัฐบาลอิรักจำเป็นต้องยอมรับว่า ตนเองยังจะต้องพึ่งพาอาศัยกองทหารอเมริกันต่อไป ถึงแม้การพึ่งพานี้จะค่อยๆ ลดน้อยลงไปก็ตามที” และในย่อหน้าก่อนจะถึงย่อหน้าสุดท้าย เขาก็ถึงกับเรียกร้องเลยว่า “การแสดงท่าทีทางการเมืองที่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์ระยะสั้นนั้นจะต้องยุติลงเสียที”

เห็นได้ชัดเจนว่า ฟอลลอน ซึ่งเวลานี้เกษียณอายุจากกองทัพแล้ว กำลังปฏิบัติตนเสมือนเป็นผู้แสดงแทนบรรดาผู้บัญชาการทหารของสหรัฐฯ ที่ถ้าหากออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณชน ด้วยจุดยืนอันแข็งกร้าวต่อข้อเรียกร้องให้ถอนทหารของอิรักถึงขนาดนี้ ย่อมจะถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเหมาะสม

ทว่าอดีตผู้บังคับบัญชากำลังทหารสหรัฐฯทั้งหมดในภูมิภาคตะวันออกลางผู้นี้ ก็ดูจะเหมือนๆ กับบรรดาเพื่อนร่วมงานของเขาที่ยังรับราชการอยู่ในกองทัพ นั่นคือมีความเชื่อว่าสหรัฐฯสามารถที่จะขู่กรรโชกรัฐบาลมาลิกีได้ นอกจากนั้นจากบทความของเขายังบ่งชี้ให้เห็นถึงการทึกทักเอาตามใจว่า สหรัฐฯนั้นมีทั้งสิทธิและอำนาจที่จะริบเอาผลประโยชน์แห่งชาติของอิรักไป เพื่อดำเนินการสร้างอาณาจักรทางทหารของอเมริกันขึ้นในตะวันออกกลาง

ในฐานะผู้บัญชาการ CENTCOM ฟอลคอนก็คงต้องตระเตรียมวางแผนด้วยข้อสมมุติฐานที่ว่า กองทัพสหรัฐฯจะยังคงสามารถเข้าใช้ฐานทัพทหารต่างๆ ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถานได้ในอีกหลายๆ ปีต่อไปจากนี้ เรื่องเช่นนี้มีร่องรอยปรากฏให้เห็น จากรายงานข่าวในวอชิงตันโพสต์ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงแห่งชาติและข่าวกรองของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ วอลเตอร์ พินคัส บอกว่า กองทัพบกสหรัฐฯได้ยื่นของบประมาณจำนวน 184 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าหลายๆ โรงไว้ใช้ในฐานทัพหลักๆ 5 แห่งของตนในอิรัก

พินคัสรายงานว่า ฐานทัพ 5 แห่งนี้ อยู่ในบัญชีรายการ “ฐานทัพและจุดสนับสนุนแห่งท้ายๆ ที่กองทหาร, เครื่องบิน, และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จะถูกนำมารวมกันตามจุดเหล่านี้ ในกรณีที่สหรัฐฯต้องลดการปรากฏตัวทางทหารลงไป”

การสร้างโรงไฟฟ้าเช่นนี้ จะมีความจำเป็นก็ต่อเมื่อมีกองทหารสหรัฐฯขนาดใหญ่เข้าไปตั้งประจำอยู่กันเป็นระยะยาวในฐานทัพ 5 แห่งที่ยังเหลืออยู่เหล่านี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ารายการดังกล่าวได้ถูกตัดออกจากร่างกฎหมายการก่อสร้างของฝ่ายทหารประจำปีงบประมาณ 2008 เสียแล้ว พินคัสได้อ้างคำพูดของแหล่งข่าวในรัฐสภาผู้หนึ่งที่ชี้ว่า การสร้างโรงไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องใช้เวลา 2 ปีขึ้นไปจึงจะสำเร็จเสร็จสิ้น

แต่แผนการที่จะรักษาฐานทัพสำคัญๆ หลายๆ แห่งในอิรักเอาไว้เช่นนี้ น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการขนาดใหญ่กว่านั้นอีก ที่ตัวฟอลลอนเองได้เคยวางแผนจัดทำมา โดยแผนการดังกล่าวนี้ มุ่งเตรียมการสำหรับการที่สหรัฐฯจะต้องมีฐานทัพภาคพื้นดินอย่างถาวรหลายๆ แห่ง ในย่านตะวันออกกลางและเอเชียกลาง

ฟอลลอนได้เคยเปิดเผยเอาไว้ระหว่างให้ปากคำต่อรัฐสภาเมื่อปีที่แล้วว่า ฐานทัพอากาศบากรัม ในอัฟกานิสถาน ถูกจัดให้เป็น “ชิ้นส่วนแกนกลางของแผนแม่บทของ CENTCOM ที่ว่าด้วยความสามารถที่จะเข้าไปให้ถึงตลอดจนการปฏิบัติการ ในภูมิภาคเอเชียกลางในอนาคต”

ขณะที่ฟอลลอนกำลังเขียนบทความของเขาดังกล่าวข้างต้น คณะรัฐบาลบุชก็กำลังวางแผนจัดให้มีการประชุมผ่านทางจอวิดีโอ ระหว่างบุชกับมาลิกี โดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามุ่งหวังที่จะอาศัยการประชุมนี้เพื่อตะล่อมให้มาลิกีที่กำลังส่งเสียงโวยวาย ยอมเปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่องการถอนทหารสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมคราวนั้น ทางทำเนียบขาวกลับพบว่า มีความจำเป็นยิ่งกว่าที่จะต้องปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า มาลิกีได้ปฏิเสธไม่ยอมถอยหลัง แม้เมื่อเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากตัวบุชก็ตามที

ทำเนียบขาวได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งอ้างว่า ผู้นำทั้งสองได้เห็นพ้องกันถึงการกำหนด “ขอบเขตทางด้านเวลาทั่วๆ ไป สำหรับการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่มุ่งมาดปรารถนา” ทั้งนี้ คำแถลงดังกล่าวระบุถึงเป้าหมายเหล่านี้ว่า มีอาทิ การโอนอำนาจควบคุมไปให้แก่กองกำลังรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาวอิรักเองให้มากขึ้น และ “การลดกำลังทหารสู้รบของสหรัฐฯที่อยู่ในอิรักลงมาอีก” –ทว่าไม่ใช่การถอนทหารออกไปจนหมดสิ้น

แต่คำแถลงฉบับนี้ของทำเนียบขาวกลับถูกเปิดโปงอย่างรวดเร็ว ว่าเป็นการตีความผิดๆ อย่างโจ่งแจ้ง ต่อจุดยืนของมาลิกี ดังที่ อาลี ดับบัฟ โฆษกของมาลิกิยืนยันว่า “ขอบเขตทางด้านเวลา” ที่บุชกับมาลิกิเห็นพ้องกันนั้น ไม่เพียงครอบคลุมเรื่อง “การโอนอำนาจความรับผิดชอบทางด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างเต็มที่ให้แก่กองกำลังของฝ่ายอิรัก เพื่อที่จะได้ลดกองกำลังของฝ่ายอเมริกัน” เท่านั้น หากยังเพื่อ “เปิดทางให้สหรัฐฯถอนตัวออกไปจากอิรัก” อีกด้วย

ซาดิก ริคาบี ที่ปรึกษาคนหนึ่งของมาลิกี ยังบอกกับวอชิงตันโพสต์ว่า มาลิกีกำลังยืนกรานว่าจะต้องมีการกำหนดกรอบเวลาอันเจาะจงแน่นอนสำหรับแต่ละขั้นตอนของการถอนตัวออกไปของสหรัฐฯ รวมทั้งการถอนกำลังทหารออกไปอย่างหมดสิ้นด้วย

ตัวนายกรัฐมนตรีอิรักเองยังได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร แดร์ สปิเกล ของเยอรมันเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม โดยที่เขากล่าวว่า ตารางเวลาให้ถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักภายใน 16 เดือนของวุฒิสมาชิก บารัค โอบามา ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทางพรรคเดโมแครต “จะเป็นกรอบเวลาอันถูกต้องเหมาะสมสำหรับการถอนทหาร โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อย” เรื่องนี้เท่ากับเป็นการทิ้งระเบิดลูกใหญ่ของรัฐบาลอิรัก เพื่อตอบโต้ต่อความพยายามของคณะรัฐบาลบุชที่จะกดดันพวกเขาในประเด็นปัญหาฐานทัพ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฌอน แมคคอร์แมค ได้กล่าวย้ำในการแถลงข่าวของเขาเมื่อวันอังคาร(22)ว่า ประเด็นปัญหานี้จะต้องตัดสินใจ ด้วย “ข้อสรุปซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ร่วมกันของบรรดาชาติที่มีอธิปไตย”

คำพูดเช่นนี้มีนัยอย่างค่อนข้างชัดเจนว่า คณะรัฐบาลบุชถือว่าตนเองมีอำนาจยับยั้งข้อเรียกร้องใดๆ ก็ตามที่จะให้สหรัฐฯถอนทหาร รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงความตั้งใจที่จะพยายามข่มขู่มาลิกี

ทั้งนี้ คณะรัฐบาลบุชและฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะยังคงยึดมั่นกับภาพมายาที่ว่า การที่มีกองทหารสหรัฐฯปรากฏตัวอยู่ในอิรัก ยังคงหมายถึงการมีความสามารถที่จะเข้าควบคุมทางการเมืองอย่างทรงประสิทธิภาพ ต่อเหล่าบริวารของตนในแบกแดด

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของระบอบการปกครองมาลิกีมีความเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การที่นายกรัฐมนตรีผู้นี้ปฏิเสธอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่เดินตามแผนการของพลเอก เดวิด เพรเทอัส ที่จะให้เปิดยุทธการร่วมระหว่างอิรักกับสหรัฐฯในเมืองบาสรา เมืองใหญ่ทางภาคใต้ของอิรัก เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นอย่างแรงกล้าว่า ยุคสมัยแห่งการที่อิรักต้องพึ่งพาอาศัยสหรัฐฯนั้นได้จบสิ้นลงแล้ว

ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มพลังการเมืองต่างๆ ของชาวชิอะห์ไม่ว่าจะมีแนวทางโน้มเอียงไปทางใดก็ตามที ตลอดจนอยาโตลลาห์ อาลี ซิสตานี ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวชิอะห์ ล้วนแล้วแต่มีความเห็นพ้องอย่างแข็งขันเป็นฉันทามติในประเด็นปัญหานี้ ดังนั้น ถ้าหากคณะรัฐบาลมาลิกียอมถอยหลังกลับเมื่อเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ ก็มีแต่จะเป็นการจุดชนวนวิกฤตทางการเมืองขึ้นมาเท่านั้น

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น