เอเอฟพี - ราคาน้ำมันร่วงอีกเมื่อวันพุธ (19) โดยน้ำมันดิบเบรนท์ขยับลงจ่อ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์พลังงานที่อ่อนแอและปัญหาวิกฤตสินเชื่อกดดันตลาด ขณะที่นักวิเคราะห์คาดช่วงเดือนเศษที่เหลือนี้อาจทรุดลงแตะระดับ 43 ดอลลาร์ ด้านตลาดหุ้นดิ่งเหวดาวโจนส์ ร่วง 400 กว่าจุด ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่ง
ที่ตลาดนิวยอร์ก สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตงวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 77 เซนต์ ปิดที่ 53.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเคยร่วงไปที่ 53.30 ดอลลาร์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2007
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนมกราคม ปรับตัวลงเล็กน้อย 12 เซนต์ ปิดที่ 51.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังดิ่งลงต่ำสุดระหว่างวัน 50.61 ดอลลาร์ ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง
ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงมากกว่า 2 ใน 3 นับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดเหนือ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม สืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้เหนี่ยวรั้งอุปสงค์ทางพลังงาน
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ตกต่ำได้รับแรงสนับสนุนจากรายงานสต๊อกน้ำมันของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯสัปดาห์ล่าสุด ที่แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ถดถอยในชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯระบุว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา การบริโภคน้ำมันโดยเฉลี่ยลดลง 7.0 เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อ 1 ปีก่อน โดยเฉพาะการบริโภคน้ำมันอากาศยานดิ่งลงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
บริษัทหลักทรัพย์ซีเอฟซี เซย์มัวร์ ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (19) ว่า น้ำมันดิบในอนาคตอาจลดลงไปแตะระดับ 43-44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนเด้งกลับขึ้นมาตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้า “เราเชื่อว่าราคาน้ำมันจะลงลงไปจนกว่าจะปรากฏอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯอยู่ในเส้นทางสิ้นสุดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว”
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่งเมื่อวันพุธ (19) หลังจากข้อมูลเผยให้เห็นถึงความเสื่อมลงอย่างรุนแรงของชาติเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดในโลกและทางเฟดยอมรับว่าอเมริกาเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอยระยะยาว
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ดิ่งลง 427.47 จุด (5.07 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 7,997.28 จุด ถือเป็นครั้งแรกที่ดาวโจนส์ปิดตลาดต่ำกว่า 8,000 จุด นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2003
ส่วนดัชนีแนสแดก ร่วงลง 96.85 จุด(6.53 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,386.42 จุด ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ 14 เมษายน 2003 ขณะที่ เอสแอนด์พี 500 ก็ลดลง 52.54 จุด (6.12 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 806.58 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่งเช่นกัน