xs
xsm
sm
md
lg

สหายในวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Companions in crisis
By Shawn W Crispin
24/10/2008

ความเห็นที่ว่าในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจเจ้าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สร้างเส้นทางเศรษฐกิจที่ฉีกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป นั้นดูเหมือนเป็นความเห็นที่โง่เขลา เพราะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือมูลค่าตลาดและค่าเงินต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พากันตกต่ำ กระนั้นก็ตาม บทเรียนที่ได้ประสบจากวิกฤตการเงินเอเชียอาจจะช่วยค้ำให้ไทยและประเทศอื่นๆ ยืดหยัดในเสถียรภาพที่ดี

กรุงเทพฯ - เมื่อประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย แห่งฟิลิปปินส์ ประกาศในเดือนนี้ว่า บรรดาหน่วยงานด้านการให้สินเชื่อระหว่างประเทศกำลังเตรียมความช่วยเหลือมูลค่าหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรองรับหากภูมิภาคแห่งนี้ต้องเดือดร้อนด้วยผลกระทบจากความระส่ำในตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกาและยุโรป การณ์ปรากฏว่าฝ่ายต่างๆ พากันผวาว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้ตัวว่ากำลังจะเดือดร้อนและจึงตั้งต้นตั้งรับวิกฤตการเงินที่อาจเวียนมาอีกรอบแบบคราวหายนะปี 1997-98

ด้านธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างชิ่งออกห่างจากคำกล่าวอ้างของอาร์โรโย โดยที่เจ้าของวาจานั้น ออกมาพูดภายหลังว่า การประกาศดังกล่าวของตนเป็นไปในครู่ยามแห่ง“ความตกตื่นที่มากเกิน” กระนั้นก็ตาม สัญญาณต่างๆ ที่ปรากฏในทางขัดแย้งกัน ได้สร้างคำถามขึ้นว่า ข้างในของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟนั้นประเมินกันอย่างไรในเรื่องศักยภาพทางเศรษฐกิจการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอันที่จะรับมือกับภาวะถดถอยของโลกที่กำเนิดขึ้นจากซีกฝั่งตะวันตก

เมื่อประเมินดูฐานะของภาคธุรกิจในภูมิภาคนี้ จะเห็นว่ามีการปลดภาระหนี้ออกไปค่อนข้างสูงมาก ฐานะของธนาคารพาณิชน์จัดว่าฟื้นตัวขึ้นมาเรียบร้อย ส่วนฐานะของภาครัฐยิ่งดูดีเพราะมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูง ทั้งนี้ สัดส่วนของหนี้ภาคเอกชนต่อจีดีพีของประเทศนับวันแต่จะลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับจากปี 2001 เป็นต้นมา โดยจะมียกเว้นก็เพียงในกรณีของอินโดนีเซียเท่านั้น

ดังนั้น ความวิตกต่างๆ นานาอาจจะดูผิดฝาผิดตัวไปไม่มากก็น้อย นอกจากนั้น หน่วยงานด้านการจัดเรตติ้งสินเชื่อระหว่างประเทศต่างบอกว่า แบงก์ในภูมิภาคนี้แบกความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยจากปัญหาหลักทรัพย์ที่ผูกอยู่กับหนี้ซับไพรมเป็นพิษที่สร้างความเสียหายใหญ่โตแก่งบดุลของสถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐฯ และยุโรป

กระนั้นก็ตาม กองทุนต่างชาติพากันเตลิดออกจากตลาดต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอัตราที่รวดเร็วและร้อนแรง เพื่อขนเม็ดเงินกลับบ้านไปหนุนฐานะของตนในตลาดหลัก ส่งผลให้ราคาหุ้นและค่าเงินของประเทศย่านนี้ตกต่ำหัวปักหัวปำ เท่าที่ผ่านมาในรอบปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ถูกกดดันจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติจนเสียหายทั่วหน้า ตลาดหุ้นของอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ทรุดไปมากกว่า 50%, 46% และ 45% ตามลำดับ ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าการที่ตลาดหุ้นในเอเชียตกต่ำลงจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี เป็นเพราะตลาดเหล่านี้หมดศักยภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของโลกเดินหน้าแล้ว

แม้รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติแพ็กเก็จอุ้มสถาบันการเงินเป็นมูลค่าถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ และแม้ความกังวลจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสหรัฐฯ อาจจะเร่งพิมพ์แบงก์ออกมาแก้ปัญหาภาระหนี้อันมหาศาลมหัศจรรย์ แต่การณ์กลับปรากฏว่าค่าเงินสารพัดสกุลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเดินหน้าอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เศรษฐกิจของสิงคโปร์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการค้าได้ถึงแก่ภาวะถดถอยเรียบร้อยแล้ว ขณะที่อินโดนีเซียต้องยุติการทำการของตลาดหลักทรัพย์หลังจากที่หุ้นในตลาดถูกกระหน่ำขายทิ้งจนระส่ำกันไปเป็นเวลา 3 วันในเดือนนี้ อันเป็นมาตรการแทรกแซงตลาดที่ทางการหวังว่าจะช่วยฟื้นความมั่นใจของนักลงทุน

ส่วนใหญ่แล้วความหวั่นวิตกถูกขับเคลื่อนโดยข้อเท็จจริงที่ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในบรรดาประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมุ่งหน้าไปตอบสนองอุปสงค์ของโลกตะวันตก รวมถึงพวกรายใหญ่อย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนมากกว่า 20 ของจีดีพีประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ในการนี้ วาณิชธนกิจอย่างเครดิตสวิสประมาณการไว้เมื่อปีที่แล้วว่า ในทุกๆ 10% ที่อุปสงค์จากสหรัฐฯ ลดลง การเติบโตของจีดีพีสิงคโปร์จะหายไป 0.9% และการเติบโตของจีดีพีมาเลเซียกับฟิลิปปินส์จะหายไปรายละ 0.8%

การวิเคราะห์ฉบับเดียวกันนั้นยังประเมินด้วยว่า ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม (ตามลำดับของขนาด) จะได้รับผลกระทบจากฝั่งตะวันตกนั้นน้อยกว่า เพราะในระยะที่ผ่าน ประเทศต่างๆ ในย่านนี้ได้เพิ่มความหลากหลายให้แก่ตัวเองในด้านของแหล่งส่งออก ซึ่งรวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังจีน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้อานิสงส์จากการส่งสินค้าขั้นกลางไปจีน แล้วจีนก็ไปต่อยอดก่อนจะส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป

ทางด้านของค่ายยูบีเอส อีกหนึ่งวาณิชธนกิจเจ้าดังของโลก ได้ศึกษาแนวโน้มเหล่านี้ก่อนจะทบทวนประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2009 ของประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปรับลดประมาณการลงแบบทั่วกระดาน ได้แก่ การลดประมาณการการเติบโตของจีดีพีสิงคโปร์ลงเหลือแค่ 1.5% จากประมาณการเดิมที่ 4.8% มาเลเซียเหลือ 3% จากเดิม 4.8% ฟิลิปปินเหลือ 3.5% จาก 4.5% ไทยเหลือ 4% จาก 4.7% และอินโดนีเซียเหลือ 4.7% จาก 5.6% ในการนี้ อินเดียเป็นประเทศเดียวของเอเชียที่ยูบีเอสทำนายว่าการเติบโตจะเดินหน้าขยายตัว

ขณะที่ตลาดการเงินต่างๆ ของโลกถูกกระชากไปมาระหว่างตัวเลขบวกเพิ่มกับลดหายในแต่ละวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิได้มีฉนวนป้องกันภยันตรายจากวิกฤตของสหรัฐฯ กับยุโรปดั่งที่พวกนักวิเคราะห์และนักลงทุนจำนวนมากคาดหวังกัน ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมากหน้าหลายตาทำนายไว้ว่า ด้วยภาคการเงินที่ปลดภาระหนี้ไปค่อนข้างสูงมาก และด้วยพลังการเติบโตอันรวดเร็ว บรรดาประเทศและระบบเศรษฐกิจต่างๆ ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถ “ฉีกคู่” - ฉีกตัวจากความเป็นคู่เป็นคู่ตาย” ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เชื่อกันมากว่าจะมีการเติบโตชะลอตัว

**ความคาดหวังสำหรับระยะกลาง **

ในมุมมองของตลาดการเงิน สภาพการณ์ที่จะเกิดการ “ฉีกคู่” นั้น เห็นได้ชัดว่ายังไม่สามารถ กระนั้นก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ระดับภูมิภาคจำนวนหนึ่งยังเชื่อว่าอาการขายทิ้งหุ้นและเงินอย่างชนิดที่ไม่เสียดมเสียดายกันเลยในระยะที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องของการตื่นขายมากกว่า และความตื่นตระหนกแบบนั้นมิได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางการเงินและทางเศรษฐกิจซึ่งค่อนข้างจะแข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งในสังกัดของสถาบันการเงินข้ามชาติให้ประมาณการว่า สำหรับระยะกลางนี้ เมื่อความหวาดผวาต่อภาวะความเสี่ยงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มบรรเทาเบาตัวลง ทุนจะไหลกลับ “เพราะภูมิภาคแห่งนี้เป็นแห่งเดียวที่ปราศจากความระส่ำในตลาดการเงินอย่างที่เห็นกันทางซีกโลกตะวันตก”

นักเศรษฐศาสตร์รายเดียวกันทำนายว่าเมื่อเม็ดเงินไหลกลับเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มันจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นนานเป็นหลายปี ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่ว่า สหรัฐฯ ยังต้องผ่าน “กระบวนการขายสินทรัพย์ไปล้างหนี้กันเป็นปีๆ” เพื่อชำระสะสางความเละเทะทางการเงิน มันจะเป็นการรัดเข็มขัดอย่างแน่นตึงซึ่งจะ“นำไปสู่อัตราการขยายตัวต่ำและอัตราผลตอบแทนบางเบาอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

ณ ขณะนี้ อุปสงค์ภายในเอเชียล้วนๆ จะไม่มหาศาลเพียงพอที่จะค้ำจุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของโลกก็มีลางว่าจะไถลร่วงลงสู่ภาวะถดถอย กระนั้นก็ตาม การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยไปยังตลาดเกิดใหม่โตไวอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยนั้น ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีตัวกันสะเทือนแบบชนิดที่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วจะเอื้อให้โลกฟื้นตัวกลับขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วมากกว่าที่เคยเป็นในคราววิกฤตขนาดมหึมาประมาณนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

สำหรับแง่มุมด้านความอ่อนแอภายในตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย พวกประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดได้ว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ซึ่งมีหนี้สินรุงรัง ปากีสถานซึ่งมีสภาพคล่องฝืดตึง ตลอดจนหลายๆ ประเทศย่านยุโรปตะวันออกที่สร้างหนี้เพื่อการขยายเศรษฐกิจไว้อย่างมหาศาล พวกนักเศรษฐศาสตร์บอกว่าประเทศที่โดดในเชิงของจุดความเสี่ยงสูงนั้นมีเพียงอินโดนีเซียกับเวียดนาม ซึ่งเมื่อเทียบกับบรรดามิตรสหายในภูมิภาคแล้วอินโดนีเซียจะเห็นภัยปรากฏในด้านของสินเชื่อภาคเอกชนกับการลงทุน ส่วนเวียดนามซึ่งพึ่งพิงมากเกินกับเงินลงทุนต่างชาติก็คาดกันว่าจุดแข็งตรงนี้จะแผ่วไป

นักคราะห์บอกว่าไทยดูเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่ดีที่สุดในเชิงการเงิน เพราะแบงก์พาณิชย์ของไทยมีการแบกภาระความเสี่ยงอยู่ในระดับจำกัดมากในส่วนที่เกี่ยวกับกับตราสารต่างชาติที่นำหนี้จดจำนองซับไพรมไปรวมอยู่ในการขายตราสารแบบแพ็กเก็จ แต่ช่วงเกือบ 3 ปีแห่งปัญหาการเมืองในประเทศ ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน พร้อมกับจำกัดการขยายตัวด้านสินเชื่อซึ่งเคยฉูดฉาดรวดเร็วแบบที่ได้เห็นกันมาแล้วในที่ต่างๆ อาทิ เกาหลีใต้

กระนั้นก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความวุ่นวายทางการเมืองจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไปอีกนานเพียงใด เมื่อตัดสินจากโปรไฟล์ด้านหนี้ภาครัฐ พบว่าประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีเงื่อนไขด้านเครื่องมือทางการคลังอีกมากที่จะเพิ่มสภาพคล่องภายในระบบเพื่อช่วยผ่อนปรนแรงกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจแท้จริง การลดภาษี หรือการหั่นดอกเบี้ย ในการนี้ เป็นที่คาดกันว่าประเทศใหญ่ๆ ในภูมิภาคนี้จะรณรงค์เพื่อปรับลดระดับหนี้ภาครัฐลงให้ต่ำกว่า 45% ของจีดีพีภายในปี 2009 และไทยคงจะทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ คือน่าจะปรับต่ำลงไปถึง 25% ตามประมาณการของค่ายยูบีเอส ซึ่งพัฒนาการวิเคราะห์จากการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของภาครัฐ

กระนั้นก็ตาม คาดกันว่าสภาพการณ์ทางการเมืองในหลายๆ ประเทศจะย่ำแย่ลง ไม่ว่าภาครัฐจะสามารถพาเศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างรวดเร็วเพียงใด และไม่ว่าภาครัฐจะดำเนินการด้วยมาตรการทางการคลังเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจได้สำเร็จมากน้อยเท่าไร สำหรับในประเทศไทยและมาเลเซียซึ่งมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเร่งดำเนินการคว่ำฝ่ายบริหารอย่างเอาจริงเอาจัง กระแสการต่อต้านและการวิพากษ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน อาจบั่นทอนศักยภาพของรัฐบาลในการออกกฎหมายใช้มาตรการทางการคลัง ตลอดจนการลงมืออัดฉีดระบบด้วยงบประมาณพิเศษกันจริงๆ จังๆ

ทั้งนี้ การต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องเป็นช่องทางผ่านให้รัฐบาลอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นปริมาณมหาศาล จะเป็นเงื่อนไขที่ยิ่งทวีความซับซ้อนแก่ความพยายามของภาครัฐ

ในมาเลเซีย กลุ่มแรงงานซึ่งนำโดยฝ่ายค้านได้ออกโรงกระหน่ำโจมตีแผนของรัฐบาลที่จะอัดฉีดงบประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์ เข้าไปค้ำจุนตลาดหุ้นในประเทศ โดยมีการชี้ว่าการอัดฉีดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์เชิงการเมืองแก่บริษัทที่มีสายสัมพันธ์อยู่กับรัฐบาล

ในอินโดนีเซียก็เช่นกันที่อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคในการดำเนินมาตรการด้านการคลัง เพราะอินโดนีเซียเริ่มเข้าสู่ฤดูเลือกตั้งซึ่งจะมีปัจจัยสับสนทางการเมืองสูงมาก ขณะที่พรรครัฐบาลเดินเกมหาเสียงเพื่อชนะเลือกตั้งอีกรอบหนึ่งด้วยประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชั่น

ที่แน่ๆ คือการเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังในทุกหนแห่ง จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งทีเดียวกว่าที่จะสร้างผลเป็นรูปธรรมให้เห็นกับตาได้ ในช่วงยังไม่แน่ไม่นอนนั้น นักลงทุนข้ามชาติมีแนวโน้มจะดำรงตนอยู่ในภาวะถนอมตัวออกจากความเสี่ยง และจอดเม็ดเงินไว้ในบ้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มดีดตัวกลับขึ้นไป สัญญาณแรกๆ อันบ่งชี้ถึงความยืดหยุ่นน่าจะปรากฏให้เห็นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคที่มีการล้างหนี้ออกไปสูงมาก กับเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคที่ได้เรียนรู้จักประสบการณ์อันขมขื่นที่สหรัฐฯ กับยุโรปกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการโต๊ะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียไทมส์ ออนไลน์ สามารถติดต่อเขาได้ที่ swcrispin@atimes.com
กำลังโหลดความคิดเห็น