xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะของโอบามามีความหมายอย่างไรต่อไทย-ในสายตาของอเมริกันคนหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

What Obama means to Bangkok
By Shawn W Crispin
6/11/2008

กับบรรดาพันธมิตรเก่าแก่เฉกเช่นประเทศไทยนี่แหละ ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา จำเป็นจะต้องสมานซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่ชำรุดทรุดโทรมลงไป และฟื้นฟูเกียรติภูมิของวอชิงตันในฐานะที่เป็นพลังของคุณธรรมความดีแห่งระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มพูนยกระดับเครดิตความน่าเชื่อถือที่กำลังป้อแป้มากของอเมริกา และก็เพื่อยับยั้งทัดทานความได้เปรียบในช่วงหลังๆ นี้ของจีน โดยเมื่อว่ากันเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว การทำคะแนนเพิ่มขึ้นมาของจีนส่วนใหญ่ก็มาจากการเสียแต้มของสหรัฐฯนั่นเอง

กรุงเทพฯ – ลูกโป่งแตกดังโป้งกันสนั่น ขณะที่ลูกปาเศษกระดาษสีปลิวโปรยปราย พร้อมๆ กับเสียงเชียร์ของผู้คนอึงคะนึงกึกก้อง เมื่อมีการประกาศว่า บารัค โอบามา ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯอเมริกา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯคือผู้อุปถัมภ์การจัดงานคราวนี้ ซึ่งมุ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงคุณสมบัติแห่งความยืดหยุ่นตัวของระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงจังหวะเวลาที่ผู้เป็นพันธมิตรมาเก่าแก่อย่างประเทศไทย กำลังพบว่าระบบประชาธิปไตยแต่ในนามของตนเองกำลังตกอยู่ในอันตราย

ต้องเป็นสถานที่เฉกเช่นประเทศไทยนี่แหละ ที่โอบามาจำเป็นจะต้องสมานซ่อมแซมสายสัมพันธ์แห่งความเป็นพันธมิตรทวิภาคี ที่ครั้งหนึ่งเคยแข็งแกร่งทว่าปัจจุบันกลับมึนตึง รวมทั้งยืนยันอีกคำรบหนึ่งถึงความมุ่งมั่นผูกพันของสหรัฐฯที่มีต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตน ตลอดจนเพื่อขัดขวางทัดทานการที่ช่วงหลังๆ มานี้จีนได้ประโยชน์ดอกผลในภูมิภาคแถบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ส่วนใหญ่แล้วความได้เปรียบดังกล่าวบังเกิดขึ้นขณะที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายสูญเสีย

การที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เอาแต่มุ่งรวมศูนย์ความสนใจไปที่ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” เพียงอย่างเดียว โดยที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ถูกถือเป็นเพียงแนวรบแนวที่สองซึ่งทรงความสำคัญทางการทหารลดหลั่นลงมา ได้ทำให้เครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯต้องเสียหายไปอย่างรุนแรง รวมทั้งในสายตาของพันธมิตรทางยุทธศาสตร์รายสำคัญอย่างประเทศไทยด้วย ทางการกรุงเทพฯนั้นถือได้ว่าเป็นผู้เข้าร่วมกับการปฏิบัติการทางทหารของบุชแม้จะอย่างไม่สู้เต็มใจนัก โดยได้จัดส่งทหารหน่วยเล็กๆ เข้าร่วมในกองกำลังพันธมิตรที่อิรัก ขณะที่ยินยอมให้เครื่องบินรบของอเมริกันเข้าใช้ฐานทัพอากาศที่อูตะเภา ในระหว่างเดินทางไปและกลับจากอัฟกานิสถาน

นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีส่วนร่วมในมิติที่ปิดลับและก่อให้เกิดการโต้แย้งกันมาก ของการรณรงค์ทำสงครามต่อสู้การก่อการร้ายของบุชอีกด้วย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของไทยได้ทำงานประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐฯ ณ ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายร่วมแห่งหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2001 ความร่วมมือกันเช่นนั้นได้นำมาซึ่งวิธีปฏิบัติบางอย่างที่มิใช่วิธีของประชาธิปไตย อาทิ การใช้วิธีสร้างความหวาดกลัวและการดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงวิถีทางอันถูกต้องตามกฎหมาย ในการจัดการกับผู้ที่ถูกสหรัฐฯจับกุมคุมขังไว้ อย่างน้อยที่สุดก็ในรายของผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายคนสำคัญคนหนึ่ง นั่นคือ ริดวน อิซามุดดีน ผู้มีนามแฝงว่า ฮัมบาลี

นอกจากนั้นไทยยังทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านผู้เอื้ออารี ในการเอื้อเฟื้อสถานที่จัดตั้งที่กักกันลับๆ แห่งหนึ่งในหลายๆ แห่งของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) โดยในที่กักกันลับๆ นี้เอง ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายซึ่งถูกส่งมาจากประเทศที่สาม ได้ถูกกักกันคุมขัง อีกทั้งดูเหมือนว่าจะถูกทรมาน ณ ค่ายทหารแห่งหนึ่งของไทยด้วย โดยฝีมือพวกสายลับสหรัฐฯที่ตั้งฐานอยู่ในประเทศไทย พวกเจ้าหน้าที่ไทยนั้นยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ ซึ่งได้รับการรายงานข่าวเป็นครั้งแรกในหน้าหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ และต่อมาก็ได้รับการยืนยันอีกจากพวกเจ้าหน้าที่ตลอดจนสื่อมวลชนของสหรัฐฯหลายราย ท่ามกลางการถกเถียงโต้แย้งที่ปะทุขึ้นมา ในเรื่องที่ว่ากันว่าซีไอเอมีการใช้วิธีสอบสวนผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย ด้วยการทำให้นักโทษเข้าใจว่าตัวเองกำลังจะจมน้ำตาย (ดูเรื่อง US and Thailand: Allies in torture, Asia Times Online, January 25, 2008)

นอกจากนั้นยังมีคำถามหลายคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ เกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯในดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งการก่อความไม่สงบของชาวมุสลิมได้ปะทุดุเดือดขึ้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2004 ความขัดแย้งนี้ได้กลับปะทุขึ้นมาอีกครั้งภายหลังมีรายงานหลายกระแสว่า ฮัมบาลีและผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายคนอื่นๆ ได้ไปพำนักหลบภัยอยู่ในดินแดนห่างไกลทางตอนใต้สุดของประเทศไทย ภายหลังถูกกวาดล้างไล่ล่าจนต้องหนีออกจากมาเลเซีย ทั้งนี้หลังจากที่มีการปราบปรามทำลายแผนการซึ่งกล่าวหากันว่าเป็นแผนก่อการร้ายที่มุ่งเล่นงานผลประโยชน์ของสหรัฐฯในสิงคโปร์ ผู้เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์รายสำคัญของสหรัฐฯอีกรายหนึ่งในภูมิภาคแถบนี้

ในเวลานั้นพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายรายได้วิพากษ์อย่างแรงต่อการไร้ความสามารถของไทยในการบริหารจัดการชายแดนของตนเอง และนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้รณรงค์ทำ “สงครามปราบผู้มีอิทธิพล” เมื่อปี 2003 ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าพื้นที่อื่นๆ นั้น อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะเป็นการตอบสนองเป็นบางส่วนต่อแรงบีบคั้นของสหรัฐฯ ที่ให้ไทยควบคุมอาณาบริเวณที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและบ่อยครั้งอยู่ในสภาพไร้ขื่อแปแห่งนี้ให้ได้

สหรัฐฯยืนกรานตลอดมาว่า ความขัดแย้งที่เพิ่มระดับขยายตัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกิจการภายในของไทยเอง และไม่ได้เป็นแนวรบหนึ่งในการรณรงค์ทำสงครามต่อสู้การก่อการร้ายของสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่หลายต่อหลายรายปฏิเสธเรื่อยมาว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯไม่ว่าทางทหารหรือด้านข่าวกรอง ไม่ได้มีส่วนมีบทบาทอะไรในวิธีดำเนินการต่อสู้การก่อความไม่สงบของไทย ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งมีรายงานอยู่เรื่อยถึงเรื่องที่ผู้ต้องสงสัยเป็นพวกหัวรุนแรงหายตัวสาปสูญไปหรือไม่ก็ถูกทรมาน โดยฝีมือของตำรวจและทหารไทย

**พันธมิตรผู้ประพฤติมิชอบ**

การปฏิบัติต่อประเทศไทยในยุคของบุชนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ทั้งสองประเทศมีการติดต่อพัวพันกันทั้งในทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน โดยที่ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นปกติระหว่างกันสามารถสาวย้อนไปไกลถึงกว่า 175 ปี ความสนับสนุนทางทหารจากสหรัฐฯคือเครื่องช่วยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทางการไทยสามารถเอาชนะพวกจรยุทธ์คอมมิวนิสต์ที่หนุนหลังโดยจีนในระหว่างยุคสงครามเย็นได้สำเร็จ และการที่กรุงเทพฯยังคงมีความไม่สบายใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของปักกิ่ง อย่างน้อยก็จวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังคงยืนหยัดอยู่ในวงโคจรทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯอย่างเหนียวแน่น

ไทยยังต้องพึ่งพิงการส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐฯเป็นอย่างมาก ในการขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของตน และแทนที่จะมุ่งผลักดันความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับอภิสิทธิ์ทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจจากวอชิงตัน คณะรัฐบาลบุชกลับมุ่งกระตุ้นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย ให้ร่วมมือประสานงานกับการดำเนินนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีแบบได้รับสิทธิต่างๆ เป็นพิเศษ

แต่ขณะที่คณะรัฐบาลบุชมุ่งอาศัยความเอื้ออารีของไทยเพื่อมุ่งสร้างความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์นั่นเอง ทางด้านจีนก็หาวิธีเปิดช่องทางใหม่ๆ ผ่านการดำเนินนโยบายการทูตแบบ “พลังอ่อน” ซึ่งจะเน้นไปที่ความริเริ่มใหม่ๆ ทางด้านการค้าและการลงทุนทวิภาคี นี่รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี โดยที่สหรัฐฯกลับยังไม่สามารถขจัดเงื่อนไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อจัดทำข้อตกลงทำนองเดียวกันนี้กับไทยออกมาบ้าง ปักกิ่งยังสามารถที่จะอาศัยความมีมิตรไมตรีทางเศรษฐกิจมาเป็นพื้นฐานในการยกระดับสู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ โดยที่สามารถจัดการซ้อมรบทางนาวีแบบทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับจีนขึ้นมาได้ในปี 2005 พวกนายทหารไทยยังได้ไปสังเกตการณ์การซ้อมรบครั้งต่างๆ ของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ตลอดจนซื้อยุทโธปกรณ์ชิ้นใหญ่ๆ ที่ทำจากประเทศจีนอีกด้วย

เจตนารมณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะส่งเสริมสายสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับจีน บังเกิดขึ้นในลักษณะที่สหรัฐฯเป็นผู้สูญเสียโดยตรงในเชิงยุทธศาสตร์ และผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่านี่เป็นเหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้ปฏิกิริยาของวอชิงตันต่อการก่อรัฐประหารของฝ่ายทหารไทยเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยเมื่อเดือนกันยายน 2006 เป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบเชียบ ภายหลังการรัฐประหารได้มีการระงับความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯที่มีจำนวนน้อยนิดอยู่แล้ว แล้วอีกหลายเดือนต่อจากนั้น ทหารสหรัฐฯกับไทยก็ยังคงดำเนินการซ้อมรบร่วมประจำปีที่ใช้ชื่อว่า “คอบรา โกลด์” อันเป็นการซ้อมรบใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย โดยไม่มีการสะดุดหยุดยั้งกันเลย

พวกที่ทำรัฐประหารคราวนั้นหลายต่อหลายคน เป็นผู้ที่ทราบกันดีว่าเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ขณะที่ระหว่างลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณได้เคยไปเยือนจีนอยู่หลายครั้ง ทว่าไม่ได้เดินทางไปสหรัฐฯ ที่เขาเคยไปเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัย

บุคคลวงในรัฐบาลไทยผู้หนึ่งบอกว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อีริก จอห์น ได้แสดงให้ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก รับรู้ว่าการตอบโต้แบบอ่อนๆ ของสหรัฐฯในคราวการรัฐประหารปี 2006 จะกลับกลายเป็นแข็งกร้าวขึ้นมากหากฝ่ายทหารดำเนินการแทรกแซงเพื่อยึดอำนาจและระงับใช้ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ข่าวนี้อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ในอีกด้านหนึ่ง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำคนหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้พูดระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐฯได้สูญเสียความชอบธรรมของตนไปนานแล้ว ในการมาเที่ยวเทศนาสั่งสอนประเทศไทยเกี่ยวกับประชาธิปไตย เมื่อพิจารณาจากความล้มเหลวต่างๆ ทางด้านประชาธิปไตยของสหรัฐฯเองในช่วงหลังๆ นี้

อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ของคนไทย เป็นการตอกย้ำความรับรู้เข้าใจที่ว่า เท่าที่ผ่านมาคณะรัฐบาลบุชได้ใช้ความมีมิตรไมตรีอันมากมายที่คนไทยมีต่อสหรัฐฯไปในทางมิชอบ จากการที่โอบามาได้รับเลือกตั้งคราวนี้ ก็ได้ทำให้เกิดความหวังกันอย่างสูงในประเทศนี้ว่า สหรัฐฯที่หันมามีจิตใจเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและมีลักษณะเน้นใช้กำลังทหารน้อยลง จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อฟื้นฟูทำให้นโยบายการต่างประเทศของตนกลับมีหลักการขึ้นมาใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนกลับไปสู่การมุ่งส่งเสริมทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง

แน่นอนที่ว่า ในภูมิภาคนี้ก็กำลังเริ่มเกิดความกังวลกันว่าสหรัฐฯภายใต้โอบามาอาจจะเดินหน้าไปสู่ลัทธิกีดกันการค้ามากยิ่งขึ้น โดยที่น่าจะมีการนำเอามาตรฐานอันเข้มงวดมากขึ้นทางด้านแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้กับสินค้าตลอดจนการส่งออกอื่นๆ จากภูมิภาคแถบนี้ ทว่าในเมื่อตลาดการเงินสหรัฐฯกำลังพังครืน อีกทั้งการบริโภคของสหรัฐฯก็คาดหมายกันว่าจะหดหายลงไปมาก ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงจัดว่าสุกงอมทีเดียวสำหรับที่สหรัฐฯจะให้คำจำกัดความนโยบายการทูตของตนต่อภูมิภาคแถบนี้กันเสียใหม่

กระทั่งหลังจากช่วงเวลา 8 ปีแห่งความมิชอบต่างๆ ที่ยุคของบุชก่อให้เกิดขึ้นมา หากสหรัฐฯแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นผูกพันกับการส่งเสริมประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่อย่างจริงใจ ก็ยังจะสร้างความได้เปรียบอย่างมีพลังในภูมิภาค เมื่อมีการเทียบเคียงกับจีนที่เป็นเผด็จการ

ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการโต๊ะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ในอดีตเขาเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานในไทยของ ฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว และ เอเชียนวอลล์สตรีทเจอร์นัลอยู่นานปี สามารถติดต่อเขาได้ที่ swcrispin@atimes.com
กำลังโหลดความคิดเห็น