xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิ” แจง “เอเชียไทมส์” ชูแนวคิด “การเมืองใหม่” เพื่อ ปท.ไทย

เผยแพร่:   โดย: ชอว์น ดับเบิลยู คริสพิน

สนธิ ลิ้มทองกุล
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

What Sondhi really wants for Thailand
By Shawn W Crispin
8/09/2008

สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศของเขาไปเรียบร้อยแล้ว เวลานี้เขายังกำลังพยายามที่จะนิยามวิธีการในการทำงานของประชาธิปไตยอันบอบบางและมีข้อบกพร่องของไทยเสียใหม่ ระหว่างที่ขอเวลานอกออกมาจากฝูงชนผู้ประท้วงที่ชุมนุมกันเนืองแน่นขึ้นเรื่อยๆ รอบๆ ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ เขาได้เล่าให้เอเชียไทมส์ออนไลน์ฟัง ถึงสิ่งที่เขามองเห็นเกี่ยวกับ “การเมืองใหม่” พร้อมกับชี้ออกมาด้วยว่า 56 ปีแห่งประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกในประเทศไทย คือ 56 ปีแห่งความปั่นป่วนวุ่นวาย

กรุงเทพ – ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเขาหรือคัดค้านเขา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ทรงอำนาจในด้านสื่อและผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลผู้นี้ ก็ได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของประวัติศาสตร์ไทยไปอย่างมิอาจลบล้างได้แล้ว เวลานี้ที่เขาปักหลักอยู่ ณ สถานที่ประท้วงรอบๆ ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพ เขาก็ยังกำลังพยายามที่จะนิยามวิธีการในการทำงานของประชาธิปไตยอันบอบบางและมีข้อบกพร่องของไทยเสียใหม่

ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นายสนธิเป็นหนึ่งในแกนนำ ได้เคยปูพื้นทำให้ฝ่ายทหารขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2549 ปัจจุบันหลังจากการสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปีนี้ กลุ่มพันธมิตรก็กำลังตั้งจุดมุ่งหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งพวกผู้นำของพันธมิตรอ้างว่าเป็นตัวแทนให้แก่ผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพยายามทำลายล้างการสอบสวนตลอดจนกระบวนการทางกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ เพื่อเล่นงานเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ต้องหลบลี้ไปต่างแดนผู้นั้น

กลุ่มพันธมิตรได้เพิ่มระดับความกราดเกรี้ยวในการประท้วงของพวกตนอย่างไม่คาดหมายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม โดยบุกจู่โจมกระทรวงต่างๆ หลายแห่งรวมทั้งสถานีโทรทัศน์ของรัฐแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาราวครึ่งเดือนหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณกลายเป็นผู้หลบหนีเงื้อมมือความยุติธรรมของไทยไปอยู่ในสหราชอาณาจักร จากนั้นมาผู้ประท้วงกลุ่มนี้ก็ได้ยึดทำเนียบรัฐบาลเอาไว้ และปฏิเสธที่จะถอยออกมาถ้าหากนายสมัครยังไม่ออกจากตำแหน่ง

ต่อมา หลังจากกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเกิดการปะทะกัน ทำให้มีคนตายไป 1 คนและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน นายสมัครก็ได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบันทว่ากลับไม่ปรากฏกำลังทหารให้เห็นตามท้องถนน ภาพข่าวโทรทัศน์ของเหตุการณ์เหล่านี้ ตลอดจนการปะทะนองเลือดครั้งก่อนๆ ระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ ถูกนำเสนอโดยสถานีข่าวโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ของนายสนธิ ให้ได้รับชมกันทั่วประเทศ

เมื่อพิจารณาจากฝูงชนขนาดใหญ่ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ ทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การณ์ก็ดูเหมือนกับว่าภาพข่าวทีวีเหล่านั้น ซึ่งเตือนให้บางคนย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้เข้าปราบปรามพวกเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตที่ผ่านมา กำลังช่วยขยายฐานสนับสนุนให้แก่ขบวนการต่อต้านรัฐบาลขบวนการนี้ ซึ่งพวกชนชั้นกลางในกรุงเทพได้เคยหลีกหนีก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน การที่กลุ่มพันธมิตรเรียกร้อง “การเมืองใหม่” ซึ่งป็นข้อเสนอที่ถูกผู้คนจำนวนมากมองว่ามีลักษณะล้าหลังต่อต้านความก้าวหน้า และต่อต้านประชาธิปไตย ก็กำลังเผชิญกับการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งโดยสื่อภายในประเทศและสื่อต่างประเทศ ตัวนายสนธิเองกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า “การเมืองใหม่” ที่เขามองเห็นนั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น ไม่ใช่การถอยหลังจากประชาธิปไตยเลย

แต่เขาบอกว่า ประชาธิปไตยนั้นจำเป็นที่จะต้องตัดเย็บให้เข้ากับบริบทเฉพาะของประเทศไทย ไม่ใช่หลับหูหลับตาเดินตามเวอร์ชั่นทั่วไปที่ส่งเสริมสนับสนุนโดยฝ่ายตะวันตก ถึงแม้กำลังถูกตั้งข้อหาเป็นกบฎ ตลอดจนเผชิญกับการขู่ฆ่า นายสนธิก็ยังยืนยันว่าพันธมิตรยังคงเป็นขบวนการ “อหิงสา” เขาแอบแวบออกมาจากสถานที่ประท้วง ณ ทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออธิบายให้ นายชอว์น ดับเบิลยู คริสพิน บรรณาธิการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ฟังว่า จริงๆ แล้วเขากำลังต่อสู้กับอะไรและกำลังต่อสู้กับใคร

เอเชียไทมส์ออนไลน์: เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีสมัครออกประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ยังไม่ได้ตอบสนองต่อการเรียกร้องของเขาที่ให้ขับไล่ขบวนการประท้วงของคุณ ทำไมเรื่องจึงออกมาอย่างนี้

สนธิ ลิ้มทองกุล: ผมมีความรู้สึกว่า พล.อ.อนุพงศ์รับสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ...ที่ว่าอย่าทำร้ายประชาชน นี่คือเหตุผลที่ พล.อ.อนุพงศ์ตัดสินใจไม่ขับไล่พวกเรา

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านี้อีกก็คือ นายสมัครบอกให้เขาปิดเอเอสทีวี แล้วพล.อ.อนุพงศ์ปฏิเสธ บอกว่าถ้าผมปิดเอเอสทีวี ผมก็ต้องปิดโทรทัศน์เอ็นบีที [ของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี] ด้วย เพราะทั้งสองสถานีต่างก็ยุยงให้เกิดการจลาจล นั่นจึงเร่งให้นายสมัครต้องรีบออกสิ่งที่เป็นประกาศภาวะฉุกเฉินฉบับที่สองในทางพฤตินัย เพื่อดึงอำนาจทั้งหมดกลับมาอยู่ที่ตัวเขา

เอเชียไทมส์: สถานการณ์เวลานี้มาถึงจุดที่คนจำนวนมากกลัวว่า อาจจะกลายเป็นจุดที่จะเกิดการพลิกผันครั้งใหญ่ที่มีอันตรายมาก มันมาถึงจุดนี้ได้ยังไง

สนธิ: สถานการณ์ได้เลวร้ายลงอย่างมากในระยะหลังๆ มานี้ เมื่อนายสมัครตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าสลายฝูงชน การไล่ทุบตีประชาชนเกิดขึ้นเมื่อเขาอ้างคำสั่งศาลเพื่อมาสลายพวกเรา แต่เขาลืมไปว่าในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลได้กลับคำตัดสินและบอกว่าเราสามารถอยู่ต่อไปได้ แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังคงใช้ไม้ เข้ามาทุบตีผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเรามีหลักฐานที่นำมาแสดงยืนยันได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด

จุดแตกหักนั้นมาจากเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ โดยในวันเดียวกันนั้นเอง พอถึงกลางคืน พวกเขาได้ทุบตีเด็กและผู้หญิง จากนั้นก็มีประชาชนมากขึ้นๆ เริ่มเข้ามาร่วมกับพวกเรา คนเป็นแสนๆ เลย แล้วมีประชาชนสองหมื่นคนตัดสินใจไปล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาล [ในวันที่ 29 สิงหาคม] เพื่อเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างจริงจังว่า ใครเป็นคนทุบตีผู้หญิงและเด็ก

ปรากฏว่าพวกเขากลับยิงแก๊สน้ำตาออกมาขับไล่ประชาชน หลังจากนั้นนายสมัครก็โกหกกันด้านๆ บอกว่าฝูงชนเป็นฝ่ายยิงแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นเรื่องตลกมาก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เขามีภาพยนตร์ข่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า แก๊สน้ำตาถูกยิงจากข้างใน [กองบัญชาการตำรวจนครบาล] และเหตุการณ์อันที่สองคือเมื่อกลุ่มอันธพาลที่รัฐบาลให้การอุปถัมภ์ และนำโดย ส.ส.ของรัฐบาลหลายคน ตลอดจนมีรัฐมนตรีช่วยคมนาคมเข้าร่วมด้วย

พวกเขายกขบวนกันมาอย่างเปิดเผยโดยมีทั้งมีดและไม้เป็นอาวุธ ที่น่าสนใจมากคือพวกเขาได้ว่าจ้างคนจากต่างจังหวัด ประมาณ 15,000 คน ซึ่งเป็นพวกที่คิดว่าถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินี โดยที่ทางนายสมัครอุปโลกน์ขึ้นมา พวกเขาเคลื่อนขบวนกันมาจนถึงที่ๆ เราจัดตั้งเครื่องกีดขวางขึ้นมาป้องกันตัวพวกเราเอง มีภาพยนตร์ข่าว เป็นภาพยนตร์ข่าวของบีบีซี แสดงให้เห็นว่าตำรวจนอกเครื่องแบบคนหนึ่งได้ชักปืนและยิงใส่ฝูงชน และเราก็เห็นมีคนตายไปคนหนึ่ง มีการปะทะกันขนาดใหญ่ และคนของพวกเขาก็ตายไปคนหนึ่ง แล้วมีคนบาดเจ็บราว 50 คน

ดังนั้นทั่วประเทศก็จึงได้เห็นความโหดเหี้ยมของตำรวจ โดยที่นายสมัครคือคนที่เริ่มต้น ออกคำสั่ง และบังคับบัญชา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มีประชาชนจำนวนมากขึ้นๆ นักวิชาชีพมากขึ้น ทั้งครูอาจารย์ หมอ ทนายความ และส่วนสุดท้ายเลย คือนักศึกษามหาวิทยาลัย ในที่สุดได้เข้ามาร่วมกับพวกเรา สี่สิบมหาวิทยาลัยในที่สุดประกาศว่านายสมัครไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไปแล้วที่จะบริหารประเทศ นี่คือล่าที่สุด

…..

สนธิ: ...จุดยืนของเราจึงมั่นคงมาก นายสมัครและรัฐบาลชุดนี้จะต้องออกไปเป็นอันดับแรก ก่อนที่เราจะนั่งลงและเจรจากับใครสักคน

เอเชียไทมส์: เพื่อหาทางจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือ

สนธิ: อะไรก็ได้ เรายินดีที่จะนั่งลงและพูดจากัน แต่ต้องไม่ก่อนที่นายสมัครจะออกไป

เอเชียไทมส์: ในความคิดของคุณ ใครที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถประนีประนอมเป็นที่ยอมรับกันได้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หรือ

สนธิ: ไม่ใช่นายบรรหาร เราไม่ต้องการการเมืองเก่า

เอเชียไทมส์: ทางกลุ่มพันธมิตรของคุณมีการตีความเหตุการณ์ผิดพลาดไปหรือเปล่า ในความเห็นของคุณ

สนธิ: ประชาคมระหว่างประเทศและสื่อมวลชนระหว่างประเทศยากนักที่จะเข้าใจประเด็นปัญหาจริงๆ ในประเทศไทย พวกนักหนังสือพิมพ์ต่างชาติทั้งหมดเลย ... ตั้งคำถามที่เป็นการเยาะเย้ยถากถางอย่างมาก นั่นคือ นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นคุณมีสิทธิอะไรที่จะมายึดทำเนียบรัฐบาล ทำไมคุณไม่ไปจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วมาต่อสู้กับเขาล่ะ

ผมบอกกับพวกเขาว่า นี่คือ “การเมืองใหม่” การเมืองเก่านั้นไม่ได้ให้ช่องทางแก่ประชาชนที่มีความทุกข์ยากเดือดร้อนเพื่อบอกเล่าแก้ไขปัญหาของพวกเขา ไม่ว่าเราจะทำยังไงก็ตาม มันก็จะถูกขัดขวางสกัดกั้นเอาไว้ มีการตั้งข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชั่นต่อรัฐบาลชุดนี้ ทว่ามันก็ต้องอยู่ภายใต้การลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ทั้งๆ ที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนถึงฝีมือของนายสมัคร

จากนั้นนายสมัครก็เพียงแค่ไม่ขอตามคำถามอะไร หลังจากที่เขาถูกซักฟอกอย่างหนักอยู่เป็นเวลาสัก 12 หรือ 14 ชั่วโมง ก็จะพูดว่ามาออกเสียงลงมติกันดีกว่า ถ้าผมชนะโหวต นั่นก็หมายความว่าผมสุจริต อย่างนี้ไม่มีทางเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยหรอก ฝ่ายตะวันตกชอบมองดูประชาธิปไตยแต่เฉพาะรูปแบบของมัน แต่ไม่ใช่ที่เนื้อหาของมันเลย

เอเชียไทมส์: เวลานี้กลุ่มพันธมิตรกำลังโปรโมตสิ่งที่เรียกกันว่า “การเมืองใหม่” ซึ่งดูเหมือนกับว่า 70% ของรัฐสภาจะมาจากการแต่งตั้ง และ 30%มาจากการเลือกตั้ง อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดแบบนี้

สนธิ: เรื่อง 70% 30% เป็นเพียงแบบจำลองสมมุติขึ้นมาให้ถกเถียงกัน สิ่งต่างๆ ทั้งหมดเลยที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้อยู่ในวงจรอุบาทว์ เพราะเรายังคงอยู่ในการเมืองเก่า สิ่งที่ผมกำลังเสนอก็คือ ขอให้มาช่วยกันหาหนทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีความสอดคล้องเหมาะสมกับประเทศไทย ขออย่าได้ถือประชาธิปไตยเป็นอย่างเดียวกับที่คุณไปที่ร้านแมคโดนัลด์ส และสั่งแฮมเบอร์เกอร์ เพราะประชาธิปไตยจะยังคงเป็นสินค้าส่งออกจากตะวันตกอยู่นั่นแล้ว

พวกนักวิชาการที่ร่ำเรียนได้ปริญญามาจากเยอรมนี จากอังกฤษ จากสหรัฐฯ จากฝรั่งเศส มักจะนำเอาสิ่งที่พวกเขาเล่าเรียนมาจากประเทศเหล่านั้นมาผสมผสานกัน และประดิษฐ์สร้างรัฐธรรมนูญนองเลือดที่ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย สิ่งที่ผมกำลังพยายามที่จะบอกก็คือ ขอให้เรามานั่งคุยพูดจากัน หาจุดอ่อนข้อบกพร่องของการเมืองเก่าของเรา เราต้องการให้การเมืองเก่าดำเนินกันต่อไปอย่างนี้ไหม คนส่วนมากจะยอมรับว่าคำตอบคือ “ไม่”

ถ้าอย่างนั้นขอให้มาช่วยกันหาอะไรอย่างอื่นไหม เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 100% อาจจะ 70%[แต่งตั้ง] และ 30%[เลือกตั้ง] ขอให้สังเกตคำว่า “อาจจะ” หรือเราอาจจะควรลดจำนวนส.ส.ลงจาก 480 คน เหลือ 240 คน ซึ่งหมายความว่าเราจะยังคงมีการเลือกตั้งในทุกๆ จังหวัด แต่อาจจะว่า มี ส.ส.สัก 3-4 คนจากทุกๆ จังหวัดก็เพียงพอแล้ว สำหรับส่วนที่เหลือเราอาจหาวิธีใหม่ๆ ในการทำให้มีประชาชนมากขึ้นเข้ามีส่วนร่วมในการเมือง จากทุกๆ ภาคส่วนของสังคม นี่แหละคือการเมืองใหม่

เอเชียไทมส์: คุณคิดว่าการเมืองเก่าบกพร่อง เพราะผู้ออกเสียงในต่างจังหวัดขาดวุฒิภาวะทางการเมือง หรือเพราะพวกเขาขาดตัวบุคคลที่ดีให้เลือกตั้ง

สนธิ: ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดที่อยู่ในชนบท ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพราะใครก็ตามที่อยู่ในรัฐบาลก็มักควบคุมสื่ออยู่เสมอ เหตุผลที่ขบวนการนี้ [พันธมิตร]ประสบความสำเร็จ ก็เนื่องมาจากเอเอสทีวี ถ้าไม่มีเอเอสทีวีแล้ว ก็ไม่มีทางอย่างสิ้นเชิงที่ขบวนการนี้จะเป็นไปได้ เอเอสทีวีคือทีวีช่องเดียวที่มีความกล้าหาญที่จะยืนขึ้นมาและบอกเล่าให้ประชาชนทราบอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำกับประเทศชาติ

รัฐบาลตามความเป็นจริงแล้วก็ได้ใช้อดีตช่อง 11 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นเอ็นบีที เพื่อใช้โฆษณาชวนเชื่อประเด็นต่างๆ พวกเขาโกหกหลอกลวงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในสิ่งที่พวกเขากระทำ และเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ ดังนั้นประชาชนก็เริ่มเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าใครเป็นฝ่ายถูกและใครเป็นฝ่ายผิด แต่เมื่อเวลาผ่านมา ก็มีประชาชนมากขึ้นๆ เข้ามาร่วมกับเรา

ดังนั้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด [ต่อการสร้างประชาธิปไตยในต่างจังหวัด] เราไม่เคยมีสิ่งนี้มาก่อนเลย ไม่เคยมี ประการที่สอง เราต้องหาหนทางที่จะทำให้พวกองค์การพวกคณะกรรมการทั้งหลาย ที่ให้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลในกระบวนการทางการเมือง จะต้องมีความเป็นอิสระเสรีปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องทำได้ยากมาก ยากมากๆ เพราะพวกเขาคอยที่จะซื้อใครต่อใครอยู่เรื่อย

สิ่งต่างๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นมาเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ทำงานของตัวเอง ... และปล่อยให้พวกขี้โกงเข้าไปเป็น ส.ส.ในสภา

เอเชียไทมส์: วิสัยทัศน์ของคุณในเรื่อง “การเมืองใหม่” มีบางมิติเป็นกระจกสะท้อนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่ได้กระทำไปโดยรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้งภายหลังการรัฐประหารปี 2549 อาทิ การเปลี่ยนวุฒิสภาจากที่ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด มาเป็นการเลือกตั้งแค่บางส่วน “การเมืองใหม่”ของคุณอยู่ในแนวทางเดียวกับสิ่งที่พวกเขาส่งเสริมสนับสนุนนี้หรือเปล่า

สนธิ: ขอบอกคุณตามความจริงเลยน่ะ ผมเองก็ยังไม่รู้หรอกว่ารายละเอียดของ “การเมืองใหม่” จะเป็นอย่างไร ผมมีความรู้สึกและทุกๆ คนในขบวนการของเราก็มีความรู้สึกเช่นนี้ด้วย ว่าเราเอือมเต็มทีกับวิถีชีวิตแบบเก่า ขอให้เรานั่งลงและค้นหาวิถีชีวิตแบบใหม่ วิถีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เพื่อที่เราจะสามารถมีสันติภาพอันสถาพรได้ ดังนั้น เราจึงไม่ได้ต้องการให้ทหารเข้ามาแทรกแซงอีกครั้งหนึ่งเลย

ถ้าทหารเข้ามาแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ก็จะเป็นเพราะการเมืองเก่ายินยอมให้ทหารเข้ามา เนื่องจากการเมืองเก่าปล่อยให้พวกที่มีอำนาจครองตำแหน่งอยู่ใช้อำนาจของพวกตนไปในทางมิชอบ เพราะไม่ได้มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่ดี ตลอดจนบางคนในกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล ยังคงสามารถที่จะซื้อได้ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมประชาชนจึงรู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคือง นี่คือเหตุผลที่ทำไมฝ่ายทหารสามารถฉวยเป็นโอกาสและเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น สำหรับผมแล้ว “การเมืองใหม่” จึงจะเป็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

มันจะให้บทบาทแก่ฝ่ายทหารด้วย ผมกำลังพูดถึงบทบาทอันกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งจะนำไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญและในจิตใจของประชาชน นั่นคือ ทหารสามารถที่จะเข้ามาแทรกแซงได้ใน 3 กรณีเท่านั้น ประการแรกสุด เมื่อมีภัยคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ประการที่สอง เมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับอธิปไตยของประเทศชาติ และประการที่สาม เมื่อรัฐบาลที่เป็นอยู่มีการบริหารจัดการอย่างผิดพลาดใหญ่หลวง ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อิสรภาพ และการทุจริตคอร์รัปชั่น

นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้แล้ว ทหารจะต้องไม่มีบทบาทอะไรอื่น ขณะเดียวก็ต้องไม่ปล่อยให้นักการเมืองเข้าไปบงการควบคุมฝ่ายทหาร ทหารควรแยกออกมาจากรัฐมนตรีกลาโหม การแต่งตั้งโยกย้ายทหารทั้งหมดควรตัดสินโดยสภากลาโหม และจากนั้นก็ขึ้นตรงไปถึงพระเจ้าอยู่หัว ถึงตอนนั้นก็ต้องแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์ว่าทรงเห็นด้วยหรือทรงไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งโยกย้ายใหม่นี้ ถ้าทรงไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งโยกย้ายใหม่ที่เสนอไป ก็ทรงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราก็จะแยกพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทรงมีฐานของพระองค์เอง ซึ่งก็คือทหาร

ส่วนคนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ควรมุ่งแต่เรื่องการบริหารจัดการประเทศชาติ

เอเชียไทมส์: ทหารควรมีบทบาทไหมในการแต่งตั้งคนซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่รัฐสภาของ “การเมืองใหม่”

สนธิ: ไม่ควร

...

สนธิ: ผมยังไม่เคยคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ทั้งหมดที่ผมคิดก็คือถ้าคุณชักช้าไปแม้แต่วันเดียว ประเทศชาติก็จะยิ่งแย่ ทั้งหมดที่ผมห่วงก็คือสังคมโดยองค์รวม เพราะผมต้องการสังคมใหม่จริงๆ สังคมใหม่ที่ทุกๆ คนเห็นพ้องกันว่านี่แหละคือวิถีทางที่เราควรมีชีวิตอยู่

ผมหมายความว่าเรามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันอยู่เรื่อยๆ แต่เราไม่เคยถกเถียงกันเลยว่าเราต้องการที่จะถูกปกครองแบบไหน ทันทีที่เราสามารถตกลงเห็นชอบกันได้ อาจจะสัก 12 จุดในเรื่องที่ว่าเราชอบที่จะถูกปกครองแบบไหน เราก็ควรต้องจัดการให้มีการลงประชามติ และถ้ามีสัก 70% หรือ 80% เห็นด้วย เราก็จะร่างรัฐธรรมนูญไปตามแต่ละจุดในเรื่องที่วาเราต้องการที่จะถูกปกครองกันแบบไหน

เอเชียไทมส์: เมื่อตอนที่คุณให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์ออนไลน์ในเดือนเมษายน 2550 คุณได้พูดถึงว่า พวกกลุ่มผลประโยชน์ “ศักดินา” รวมทั้งพวกตระกูลทางด้านการธนาคารที่ลงหลักปักฐานแล้ว ได้ให้ความช่วยเหลือแก่การชุมนุมประท้วงครั้งก่อนๆ ของคุณในปี 2548 และ 2549 คุณยังคงมีโครงข่ายเหล่านี้สนับสนุนในการชุมนุมรอบปัจจุบันอยู่หรือเปล่า

สนธิ: พวกเขายังคงหนุนหลังผมนิดหน่อย ไม่ได้มากมายอะไร แต่การสนับสนุนในคราวนี้เป็นเรื่องน่าสนใจมาก นั่นคือแหล่งสนับสนุนที่เป็นหลักๆ มีอยู่ 2 แหล่ง สำหรับการสนับสนุนทางการเงินนั้น การประท้วงของเราเข้ามาถึงวันที่ 104 แล้ว และผมคิดว่าเราได้รับบริจาคทางการเงินเป็นจำนวนประมาณ 120 ล้านบาท

ทุกสิ่งทุกอย่างต่างก็ได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากเอเอสทีวี ซึ่งเป็นผู้ที่ออกเงินค่าอะไรต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ที่สุด ส่วนเงินทองที่เราได้มานั้น น่าสนใจมากว่าได้มาจากพวกเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มีคนซึ่งยินดีบริจาคเงินแสนบาท สองแสนบาท กระทั่งล้านนึง หรือสองสามล้านบาท แต่ปกติแล้วเงินบริจาคจะมากันประมาณ พันบาท สองพันบาท หรือหนึ่งหมื่นบาท ทั้งหมดมาจากพวกชนชั้นกลาง

มีประชาชนมากันมากขึ้นๆ ๆ ผู้คนจากทั่วทั้งประเทศมาเข้าร่วมกับเรา สิ่งที่น่าสนใจคือพวกเขาเปลี่ยนกะกันมา บางอำเภอส่งคนมา 200 คน แล้วเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาต้องกลับบ้านกลับไปดูแลธุรกิจของพวกเขา ก็จะมีอีก 200 คนมาแทน

บ่อยครั้งที่มีการบริจาคแบบลงขันจากพวกนักธุรกิจระดับท้องถิ่น พวกเขาช่วยกันลงขันเพื่อเช่ารถ จ่ายค่าน้ำมัน และพวกเขาก็มาเข้าร่วมมาอยู่กันค้างคืน สิ่งต่างๆ อย่างนี้ดำเนินมา 104 วันแล้ว นี่คือการประท้วงมาธารอนครั้งยาวนานที่สุดที่โลกได้เคยรู้จักทีเดียว

เอเชียไทมส์: อย่างนั้นก็ไม่มีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ในการบริจาคเงินเพื่อการต่อสู้นี้

สนธิ: ไม่มี ๆ ๆ

เอเชียไทมส์: มีกำลังทหารด้วยที่แอบสนับสนุนอยู่เบื้องหลังขบวนการของคุณที่มุ่งต่อต้านทักษิณเมื่อปี 2548 และ 2549 นับแต่การรัฐประหารปี 2549 ก็มีสัญญาณบ่งชี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า ฝ่ายทหารได้แตกกันเป็นสายแข็งกร้าวและสายกลางๆ การแข่งขันกันภายในฝ่ายทหารเช่นนี้มีบทบาทหรือมีอิทธิพลต่อขบวนการที่กลับมาเกิดใหม่ของคุณอย่างไรบ้าง

สนธิ: สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ขบวนการของเราในคราวนี้ไม่ได้มีการติดต่อใดๆ กับฝ่ายทหารเลย ที่สำคัญเป็นเพราะเราก็แค่ไม่ได้คิดว่าเราควรต้องพึ่งทหาร เพราะเราเชื่ออำนาจของประชาชนแล้วในทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาจากจำนวนคนที่กำลังเข้าร่วมกับเรา ผมคิดว่าเป็นการฉลาดกว่าที่จะยึดมั่นอยู่กับประชาชน

อำนาจของประชาชนที่เรากำลังรวบรวมมาได้นี้ กำลังกลายเป็นพลังที่น่าเกรงขาม แม้กระทั่งสามารถที่จะคุกคามฝ่ายทหารได้ทีเดียว เพราะเราสามารถจริงๆ ที่จะสร้างให้เป็นการปฏิวัติของประชาชนได้ ที่คุณพูดเรื่องการปิดสนามบินทางภาคใต้นะ มันไม่ได้มีการขบคิดวางแผนล่วงหน้ามาก่อนหรอก

เรื่องก็มีแค่ว่าเนื่องจากพวกขาหงุดหงิดผิดหวัง และต้องการทำอะไรบ้างเพื่อช่วยพวกเราในกรุงเทพฯ ประชาชนจึงลงมือปฏิบัติการโดยพวกเขาเอง และขอโทษเถอะ คนเหล่านี้คือคนที่ดูเอเอสทีวี พวกเขาอยู่กันกระจายไปทั่ว

เอเชียไทมส์: แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่ามีตัวบุคคลที่เป็นทหารสายแข็งกร้าว อย่างเช่น พล.อ.พัลลภ [ปิ่นมณี] ซึ่งพูดว่า ถ้า พล.ต.จำลอง แกนนำพันธมิตรคนหนึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหากบฎแล้ว เขาจะเข้ามากุมอำนาจการนำพันธมิตร และเพิ่มความรุนแรงในการประท้วงต่อไป ส่วนแกนนำพันธมิตรอีกคนหนึ่ง คือ นายสมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ ก็พูดบนเวทีประท้วงในสัปดาห์ที่แล้วว่า กองบัญชาการสงครามพิเศษที่ลพบุรี ให้การสนับสนุนทางพันธมิตร

สนธิ: อย่าถืออะไรจริงจังนักเลยกับสิ่งที่พูดกันบนเวที

เอเชียไทมส์: หมายความว่าไม่มีฝ่ายทหารสายแข็งกร้าวที่กำลังหนุนหลังหรือปกป้องคุ้มครองพันธมิตรหรือ

สนธิ: ไม่มีเลย ไม่มีเลย

เอเชียไทมส์: พวกที่วิพากษ์วิจารณ์พูดกันว่า กลุ่มพันธมิตรน่าจะมีแรงขับดันบางส่วนจากผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ อย่างเมื่อการปฏิรูปและการเปิดเสรีพวกสื่อแพร่ภาพกระจายเสียง ได้มีการปฏิบัติให้เป็นจริงในท้ายที่สุดแล้ว คุณก็ย่อมอยากจะได้รัฐบาลซึ่งเป็นพวกที่สนับสนุนผลประโยชน์ของคุณ เรื่องนี้คุณจะตอบว่าอย่างไร

สนธิ: คนที่พูดอย่างนั้นเป็นพวกช่างฝัน ผมหมายความว่า ปู้โธ่ ผมจำเป็นต้องประท้วงอยู่ถึง 104 วันเพื่อให้ตัวผมเองได้ใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงตามที่ต้องการงั้นหรือ ไม่เป็นการดีกว่าหรือที่ผมจะยอมประจบสอพลอรัฐบาลเพื่อให้ได้ทั้งเงินทองทั้งใบอนุญาต ถ้าทำอย่างนั้นอย่างน้อยผมก็ไม่ต้องเสี่ยงชีวิต

นี่ไม่ใช่การประท้วงแค่วันสองวัน นี่เป็นภารกิจ เป็นการต่อสู้เพื่อหลักการในทางปรัชญา มันเป็นอะไรที่คุณต้องทุ่มเทชีวิตให้แก่สิ่งที่คุณเชื่อ มันไม่ใช่อะไรที่คุณทำได้ง่ายๆ เพียงเพราะคุณต้องการใบอนุญาตสำหรับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของคุณหรอก ใครที่พูดอย่างนี้เห็นชัดเจนเลยว่ามีระดับสติปัญญาที่ต่ำมาก

เอเชียไทมส์: การแพร่ภาพถ่ายทอดสดการชุมนุมวันละ 24 ชั่วโมงของคุณผ่านทางเอเอสทีวี น่าจะเป็นการถ่ายทอดที่มีความยุ่งยากซับซ้อนที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นมา ใครคือผู้ที่วางแผนควบคุมอยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ณ สถานที่ชุมนุม

สนธิ: คนที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนี้ก็คือผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคและฝ่ายผลิตของผม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราได้กลายเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็นสถานีทีวีจรยุทธ์ไปแล้ว เราทำได้ดีมากในเรื่องการสู้รบในทุกๆ เงื่อนไขสถานการณ์ ความสามารถเช่นนี้ ซึ่งเรารวบรวมสร้างความเชี่ยวชาญชนิดนี้ขึ้นมาได้ตั้งแต่เมื่อสองสามปีก่อน ได้สอนเราในเรื่องต่างๆมากมายที่ทีวีช่องธรรมดาไม่เคยได้รับ

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คนทำงานของเราที่เอเอสทีวีทั้งหมดเวลานี้ต่างกลายเป็นนักต่อสู้ไปแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ใช่แค่เป็นช่างเทคนิค แต่พวกเขากำลังต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ถ้าคุณยังคงรับฟังข่าวสารเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก และคุณใช้สติปัญญาของคุณในการวิเคราะห์แล้ว คุณก็จะพบว่าคุณกำลังยืนอยู่กับฝ่ายที่ถูกต้อง ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาทำ พวกเขาทำเพื่อความอยู่รอดของสังคม นั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถทำงานหนักเช่นนี้ได้

เอเชียไทมส์: กลุ่มพันธมิตรมีการปะทะกับกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล นายสมัครก็ได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินซึ่งมีจุดมุ่งหมายเป็นพิเศษที่จะขับไล่ขบวนการของคุณ แล้วแกนนำของพันธมิตรทุกคนตอนนี้ต่างเจอข้อหากบฎที่มีโทษหนักถึงประหารชีวิต พวกคุณบริหารจัดการความปลอดภัยส่วนบุคคลของพวกคุณกันอย่างไร

สนธิ: เรามีการรักษาความปลอดภัยอยู่ 2 ประเภท หนึ่งคือประเภทที่เราต้องทำให้กับตัวเราเอง และอีกหนึ่งเป็นการรักษาความปลอดภัยโดยอาสาสมัคร ฝ่ายรักษาความปลอดภัยอาสาสมัครคือคนที่กำลังปิดกั้นประตู [ทำเนียบรัฐบาล] อยู่ตอนนี้ ส่วนการรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลของแกนนำพันธมิตรแต่ละคน เป็นสิ่งที่พวกเขาจัดการกันเอง

อย่างเมื่อผมเดินไปที่ไหนก็ตามภายในทำเนียบรัฐบาล ก็อาจจะมีคน 10 คนอยู่รอบๆ ผม และพวกเขาจะคอยเฝ้าดูทุกๆ คนที่เข้ามาใกล้ผม [สถานที่ประท้วง] เป็นที่เปิดเผย ใครๆ ก็สามารถอำพรางตัวเองและใช้ปืนพกอัตโนมัติยิงใส่ผมได้ แต่ใครที่อยากทำอย่างนั้นจะต้องคิดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เพราะเมื่อคุณยิงแล้ว คุณก็ต้องหาทางวิ่งหนีด้วย ใช่ไหมล่ะครับ

มันไม่มีทางเลยที่ใครจะมายิงผมแล้วก็หลบหนีออกไปจากฝูงชนเหล่านี้ได้ พวกเขาจะต้องถูกฉีกเป็นชิ้นๆ

เอเชียไทมส์: การชุมนุมของคุณต้องใช้จ่ายวันละสักเท่าไหร่

สนธิ: หนึ่งล้านบาทรวมทุกๆ อย่างแล้ว ทั้งค่าดาวเทียม ค่าพนักงาน

เอเชียไทมส์: ใครที่ได้รับเงินและใครที่ไม่ได้

สนธิ: อาสาสมัครจะไม่ได้รับเงิน พวกรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลบางคนได้รับเงิน เพราะพวกเขาเป็นอดีตตำรวจอดีตทหาร พวกเขาเป็นมืออาชีพ

เอเชียไทมส์: ขบวนการของคุณมีการใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์ที่เป็นของพวกฝ่ายซ้าย ของขบวนการนักศึกษาในปี 2516 และ 2519 ซึ่งดึงดูดใจส่วนที่เป็นพวกก้าวหน้าในกลุ่มพันธมิตรของคุณ แต่คุณก็ยังใช้สัญลักษณ์ของรัฐอนุรักษนิยมและชาตินิยมอีกด้วย อาทิ สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพวกขบวนเอียงซ้ายจากยุคทศวรรษ 2510-2520 มองเมิน คุณรอมชอมปรัชญาทั้งสองส่วนที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเหล่านี้ ให้อยู่ภายใต้ร่มธงของพันธมิตรได้อย่างไร

สนธิ: เป็นเพราะนายสมัครกับ พ.ต.ท.ทักษิณ พวกเขาเลวมากๆ พวกเขาเป็นพวกที่แย่ที่สุด แม้กระทั่งพวกที่เคยเมินพระมหากษัตริย์ [ในทศวรรษ 2510-2520] ก็ยังคิดว่าถึงตอนนี้เราควรช่วยสถาบันพระมหากษัตริย์ดีกว่า

เอเชียไทมส์: คุณเห็นความขัดแย้งที่ดูน่าขันไหมในข้อเท็จจริงที่ว่า นายสมัครซึ่งคนจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นเครื่องมือในการปราบปรามนักศึกษาเอียงซ้ายอย่างนองเลือดในปี 2519 เวลานี้กำลังต่อสู้ในนามของการรักษาประชาธิปไตย ขณะที่ขบวนการที่หนุนหลังโดยฝ่ายก้าวหน้าของคุณ กำลังสนับสนุนให้เคลื่อนห่างออกไปจากประชาธิปไตยแบบที่รู้สึกกันอยู่ในทุกวันนี้

สนธิ: มันขึ้นอยู่ที่ว่าคุณจะนิยามประชาธิปไตยอย่างไร คุณกำลังพูดถึงประชาธิปไตยตามแนวคิดแบบตะวันตก ผมกำลังพูดถึงอะไรบางอย่างที่ทุกๆ คนมีส่วนร่วม ผมไม่ได้คัดค้านการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ผมกำลังพูดในตอนนี้ก็คือ ประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานอยู่บนการเลือกตั้ง 100% อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ขอให้เรามาค้นหทางหนทางใหม่ เพราะเรามีประชาธิปไตยตะวันตกมา 56 ปีแล้ว และก็เป็น 56 ปีที่เลวร้าย และเราไม่เคยมีสันติสุขที่สถาพรเลย

ขอให้ช่วยกันหาหนทางทำให้ประเทศนี้เคลื่อนไปอีกครั้ง และเคลื่อนไปบนพื้นฐานที่มั่นคง มั่นคงอยู่เบื้องหลังประชาชน ทำให้ทุกๆ คนมีความสุขที่พวกเขามีส่วนแบ่งอันยุติธรรม ขนมเค้กที่วางบนโต๊ะนั้นสำหรับให้ประชาชนตัดแบ่งกัน ขอให้เกิดสถานการณ์แบบทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ ขออย่าให้ชิ้นใหญ่ที่สุดต้องไปเข้าปากพวกนักการเมือง และชิ้นเล็กกว่าจึงตกเป็นของประชาชน ด้วยข้ออ้างว่าเป็นประชาธิปไตย

เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงก็คือขณะนี้เลย ประชาชนกำลังพูดกันเกี่ยวกับการเมืองใหม่แล้วในเวลานี้ ประชาชนมีความคิดเห็นเป็นล้านๆ อย่างเกี่ยวกับการเมืองใหม่ เราจำเป็นที่จะต้องคัดกรองความคิดเห็นล้านๆ อย่างทั้งหมดเหล่านี้ แล้วทำให้ตกผลึก และทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่มีรายละเอียดอันสำคัญ แล้วคอยดูว่าการเมืองใหม่หมายถึงอะไรกันแน่ และมันแตกต่างจากการเมืองเก่าอย่างไร และส่วนไหนของสิ่งใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่า

เอเชียไทมส์: นั่นไม่ใช่ทำกันไปแล้วระดับหนึ่งด้วยรัฐธรรมนูญก้าวหน้าปี 2540 ซึ่งนิยมเรียกขานกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” และถูกยกเลิกไปภายหลังการรัฐประหารปี 2549 หรือ

สนธิ: มันสามารถที่จะมีอะไรมากกว่านั้นอีก มีการเข้าร่วมของสาธารณชนมากกว่านั้นอีก ทั่วทั้งประเทศจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญปี 2540 จะดูเป็นแบบบนลงล่างไปเลย เมื่อเปรียบเทียบกับ “การเมืองใหม่” และบทบาทของประชาชน

เอเชียไทมส์: คุณมุ่งหวังที่จะถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไร ในฐานะผู้นำสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรใช่ไหม

สนธิ: ผมไม่ต้องการอย่างนั้นหรอก ผมขอพูดกับคุณอย่างจริงใจเลยนะ ผมเกลียดวันที่ผมต้องเดินเส้นทางสายนี้ ขอให้ทำกันให้เสร็จและสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา จากนั้นผมก็จะหายตัวไป ผมจะไม่รับตำแหน่งอะไร ผมไม่มีความสนใจเรื่องอย่างนั้น

แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล และมีคณะกรรมการชุดใหม่ที่ทำหน้าที่ปฏิรูปและกำกับตรวจสอบประเทศโดยที่มีอำนาจหน้าที่จริงๆ ถ้าผมได้รับเชิญและมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ผมก็จะทำมันในฐานะที่เป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำให้แก่ประเทศไทย ผมจะขอแสดงบทบาทดังกล่าวนั้น

ชอว์น ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติต่อเขาได้ที่ swcrispin@atimes.com
กำลังโหลดความคิดเห็น