xs
xsm
sm
md
lg

รายละเอียดร่างข้อตกลงอิรักเผยความสิ้นท่าของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Details of Iraq pact reveal US debacle
By Gareth Porter
23/10/2008

ร่างสุดท้ายของข้อตกลง“สถานะของกองกำลัง” ซึ่งเป็นสัญญากำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการคงทหารสหรัฐฯเอาไว้ในอิรัก กำลังเผยให้เห็นความพ่ายแพ้อย่างน่าตื่นตะลึงของทางการวอชิงตัน เนื้อหาในร่างดังกล่าวนี้ นอกจากสหรัฐฯต้องยอมให้มีการกำหนดเส้นตายถอนทหารอเมริกันออกไปจากอิรักอย่างชัดเจนนั่นคือภายในปี 2011 แล้ว ยังต้องให้ทหารและพวกผู้รับเหมาที่ทำงานให้อเมริกันต้องอยู่ใต้กฎหมายของอิรักอีกด้วย ทว่าแม้กระทั่งการยินยอมอ่อนข้อให้เช่นนี้แล้ว ก็ยังไม่น่าจะเป็นที่พึงพอใจของพวกกลุ่มชิอะห์ผู้ต่อต้านการยึดครอง ที่นำโดย มุกตาดา อัล ซาดร์

วอชิงตัน – ร่างสุดท้ายของข้อตกลง“สถานะของกองกำลัง” (Status of Forces agreement) ระหว่างสหรัฐฯกับอิรัก อันเป็นสัญญากำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการคงทหารสหรัฐฯเอาไว้ในอิรัก กำลังแสดงให้เห็นความปราชัยอย่างหมดรูปสิ้นท่าของนโยบายของคณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช ยิ่งเสียกว่าที่เคยขบคิดกันไว้ก่อนหน้านี้เสียอีก

เนื้อหาในร่างสุดท้าย ซึ่งลงวันที่ 13 ตุลาคมฉบับนี้ ไม่เพียงกำหนดเส้นตายอันชัดเจนไม่มีคลุมเครือว่ากำลังทหารหน่วยสู้รบทั้งหมดของสหรัฐฯจะต้องถอนตัวออกไปภายในปี 2011 หากยังระบุเงื่อนไขต่างๆ จนยากลำบากสุดๆ ที่กำลังทหารไม่ใช่หน่วยสู้รบของอเมริกันจะได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อไปในอิรักเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการฝึกอบรมและการสนับสนุน ภายหลังจากกำหนดเส้นตายถอนกำลังสู้รบปี 2011 ดังกล่าว

ยิ่งกว่านั้น กระแสคัดค้านของพวกชิอะต์ต่อสัญญาฉบับนี้ โดยมองว่ามีเนื้อหาละเมิดอธิปไตยของอิรัก ก็ทำให้แม้กระทั่งข้อตกลงซึ่งวอชิงตันต้องยอมอ่อนข้อให้มากขนาดนี้แล้ว ยังอาจจะไม่ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาอิรัก ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพรรคชิอะห์ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล, องค์กรสูงสุดของผู้รู้ทางศาสนาฝ่ายชิอะห์ในอิรัก, ตลอดจนขบวนการอันทรงอำนาจที่นำโดย มุกตาดา อัล-ซาดร์ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้สามารถระดมผู้ประท้วงจำนวนแสนๆ คนออกมาต่อต้านคัดค้านสัญญาฉบับนี้ ต่างล้วนแล้วแต่กำลังเรียกร้องให้ฉีกทิ้งหรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มขึ้นอีกกันทั้งนั้น

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอิรักเมื่อวันอังคาร (21) รัฐมนตรีหลายคนก็ได้แสดงการคัดค้านต่อร่างสุดท้ายดังกล่าวนี้ และโฆษกรัฐบาลผู้หนึ่งออกมาแถลงว่า จะไม่ส่งร่างให้รัฐสภาพิจารณาหากยังคงเนื้อความดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทว่ารัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ รอเบิร์ต เกตส์ บอกกับสำนักข่าวถึง 3 แห่งในวันอังคารนั้นเองว่า ช่องทางที่จะมีการเจรจาต่อรองกันต่อไปอีกนั้น “ถูกปิดตายสนิทมาก” เสียแล้ว

ถ้ารัฐสภาอิรักไม่ได้มีการรับรองข้อตกลงฉบับนี้ ก็หมายความว่ากองทหารสหรัฐฯในอิรักอาจจะต้องจำกัดตัวอยู่แต่เฉพาะในค่ายของพวกตน ทันทีที่อำนาจซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติ หมดอายุลงไปในวันที่ 31 ธันวาคม

สัญญาณอันชัดเจนที่สุดในร่างสุดท้ายของข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจการเจรจาต่อรองของสหรัฐฯได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ อยู่ตรงที่สหรัฐฯยินยอมยกเลิกข้อเรียกร้องที่จะมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในทางศาลและกฎหมาย ครอบคลุมพวกผู้รับเหมาสหรัฐฯและลูกจ้างของพวกเขา ตลอดจนครอบคลุมกำลังทหารสหรัฐฯ ในกรณีซึ่งมีคดี “ความผิดทางอาญาที่ร้ายแรงและโดยเจตนา” ขึ้นมาบริเวณนอกค่ายพักและนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ สหรัฐฯไม่เคยยอมให้ประเทศอื่นๆ มีขอบเขตอำนาจทางศาลและทางกฎหมายครอบคลุมเหนือกองทหารของตน ในการทำข้อตกลงสถานะของกองกำลังฉบับก่อนๆ ในอดีตที่ผ่านมา

ทว่ากระทั่งการอ่อนข้อให้เช่นนี้ก็ใช่ว่าเพียงพอที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่กระแสต่อต้านการยึดครอง ที่กำลังระอุพลุ่งพล่านอยู่ในหมู่พรรคการเมืองฝ่ายชิอะห์ทั่วหน้า สำหรับเหล่านักการเมืองสุหนี่ยังมีการแสดงทัศนะต่อสัญญาฉบับนี้อย่างมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวน้อยกว่า ขณะที่พวกเคิร์ดถึงกับให้ความสนับสนุนข้อตกลงกันทีเดียว

พวกผู้วางนโยบายของคณะรัฐบาลบุชไม่ได้เคยจินตนาการเลยเมื่อตอนที่การเจรจาเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ว่าฐานะต่อรองของพวกเขาในประเด็นการคงทหารสหรัฐฯ จะแปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นอ่อนปวกเปียกได้ถึงเพียงนี้ ในเมื่อเป็นการเจรจาต่อรองกับระบอบปกครองในแบกแดดที่เป็น “บริวาร” ของพวกเขาเองแท้ๆ

ในเวลานั้นพวกเขามีความมั่นอกมั่นใจว่า จะสามารถสร้างความชอบธรรมอย่างถูกกฎหมายให้แก่การคงทหารสหรัฐฯเอาไว้ในอิรักเป็นเวลาอีกหลายๆ สิบปีภายหลังการสู้รบยุติลงแล้ว ทำนองเดียวกับที่พวกเขาทำมาในเกาหลีใต้ รัฐมนตรีเกตส์เคยประกาศในเดือนมิถุนายน 2007 ว่า กองทหารสหรัฐฯจะคงอยู่ในอิรัก “เป็นระยะเวลาอันยืดเยื้อยาวนาน”

ร่างข้อตกลงลับที่สหรัฐฯยื่นต่อพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายอิรักในวันที่ 7 มีนาคมนั้น ไม่ได้มีการระบุข้อจำกัดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนทหารสหรัฐฯที่จะอยู่ในอิรัก หรือระยะเวลาการคงอยู่ของพวกเขา ตลอดจนกิจกรรมของพวกเขา ร่างดังกล่าวกำหนดให้อำนาจแก่กองทหารสหรัฐฯในการ “ดำเนินปฏิบัติการทหารในอิรัก และกักกันบุคคลจำนวนหนึ่ง เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทางด้านความมั่นคงปลอดภัย” ทั้งนี้ตามรายงานข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ การ์เดียน ฉบับวันที่ 8 เมษายน ซึ่งได้อ้างข้อความจากร่างข้อตกลงที่รั่วไหลออกมาสู่ภายนอก

ตอนที่นายกรัฐมนตรี นูริ อัล-มาลิกี ของอิรัก ออกมาเรียกร้องตอนต้นเดือนกรกฎาคม ให้มีการกำหนดตารางเวลาสำหรับการถอนทหารสหรัฐฯออกไปอย่างสิ้นเชิง ทำเนียบขาวก็ยืนกรานว่าจะไม่ยอมรับให้มีการระบุตารางเวลาแบบนั้น อีกทั้งการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องการถอนทหาร “จะมีการพิจารณาโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ” วอชิงตันถึงกับวาดหวังเอาไว้ด้วยซ้ำว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องระบุเรื่องการถอนทหารออกไปให้หมดสิ้นเอาไว้ในข้อตกลง ดังที่สะท้อนให้เห็นจากข้ออ้างอย่างผิดๆ ที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่บอกว่าบุชกับมาลิกีได้ตกลงเห็นพ้องกันแล้ว เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ “การลดกำลังทหารหน่วยสู้รบของสหรัฐฯออกจากอิรักให้มากขึ้นอีก” แทนที่จะพูดว่าเป็นการหารือเรื่องการถอนทหารออกไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม พอถึงต้นเดือนสิงหาคม บุชก็ได้ยอมลดทอนจุดมุ่งหมายในการเจรจาต่อรองของฝ่ายตนลงมา ร่างของสหรัฐฯฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและโพสต์ไว้ในอินเทอร์เน็ตโดย ราเอด จาร์ราร์ นักเคลื่อนไหวชาวอิรัก มีการกำหนดให้ใช้คำว่า “ระยะเวลาที่กำหนดเป็นเป้าหมาย” (targeted times)หรือ “เป้าหมายต่างๆ ด้านระยะเวลา” (time targets) ในการอ้างอิงถึงวันเวลาการถอนกองทหารสหรัฐฯออกจากเขตตัวเมืองใหญ่, เมืองน้อย, และหมู่บ้านทั้งหมด ตลอดจนการถอนทหารหน่วยสู้รบออกจากอิรักอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำที่ยังกำกวมไม่ใช่เป็นกำหนดเส้นตายที่ชัดเจน

กระทั่งเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ คอนโดลีซซา ไรซ์ ไปเยือนกรุงแบกแดดในวันที่ 21 สิงหาคม สหรัฐฯจึงยอมรับเป็นครั้งแรกถึงกำหนดวันเวลาอันแน่นอนว่า ปี 2011 จะมีการถอนทหารออกไปอย่างสมบูรณ์ ยอมเลิกราที่จะเรียกร้องให้มีการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ อย่างไรก็ดี ร่างข้อตกลงฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม ยังคงมีมาตราหนึ่งที่ระบุว่า สหรัฐฯสามารถขอให้อิรัก “ขยาย” เวลาสำหรับการถอนกำลังทหารหน่วยสู้รบออกไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาทบทวนร่วมกันเกี่ยวกับ “ความก้าวหน้า” ในการดำเนินการถอนทหาร

เนื่องจากมาตรานี้ยังไม่ได้ถูกตัดออกจากเนื้อหาของร่างข้อตกลง พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯจึงยังคงอ้างต่อผู้สื่อข่าวในตอนนั้นว่า กำหนดเวลาปี 2011 นี้เป็นกำหนดเวลาที่ “ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ” ดังที่ แคเรน เดอยัง รายงานเอาไว้ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ฉบับ 22 สิงหาคม

คณะรัฐบาลบุชยังคงตั้งความหวังเอาไว้ในตอนนั้น ว่าจะมีการอนุญาตให้คงกำลังทหารเอาไว้จำนวนหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันบอกกับเดอยังว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้เหลือ “กำลังทหารสหรัฐฯเป็นจำนวนหมื่นๆ คนเอาไว้ภายในอิรักเพื่อทำหน้าที่ด้านสนับสนุน ... เป็นระยะเวลาที่ยังไม่มีการระบุชัดเจน” ความหวังดังกล่าวก็มาจากย่อหน้าหนึ่งในร่างข้อตกลงฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งระบุว่ารัฐบาลอิรักสามารถร้องขอให้มีกองกำลังดังกล่าว โดยที่จะมีคณะกรรมการร่วมเพื่อการปฏิบัติการและการประสานร่วมมือกันขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่วินิจฉัย “ภาระหน้าที่และระดับขนาดของกองกำลังทหาร ...”

แต่ในร่างสุดท้ายลงวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งจาร์ราร์ได้นำคำแปลภาษาอังกฤษมาโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเขาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม เปิดเผยให้เห็นว่าคณะรัฐบาลบุชถูกบังคับให้ต้องยอมยกเลิกความพยายามในการทำให้เกิดความกำกวมเกี่ยวกับกำหนดเส้นตายของการถอนทหาร ตลอดจนเกี่ยวกับกองกำลังไม่ใช่หน่วยสู้รบที่อาจจะยังคงเอาไว้ในอิรัก

ไม่เหมือนกับร่างวันที่ 6 สิงหาคม เพราะร่างสุดท้ายระบุชัดเจนว่า การยืดเวลาการถอนทหารใดๆ เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลง ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการ “อันสอดคล้องกับกระบวนวิธีทางรัฐธรรมนูญในทั้งสองประเทศ”

ข้อความเช่นนี้มีความหมายอย่างชัดเจนว่า จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภาอิรักด้วย

เมื่อพิจารณาจากระดับการคัดค้านข้อตกลงฉบับนี้ภายในชุมชนชาวชิอะห์ มาตราดังกล่าวนี้จึงแทบไม่ให้ความหวังอะไรเลยว่า จะมีกองกำลังทหารที่ไม่ใช่หน่วยสู้รบของสหรัฐฯคงอยู่ในอิรักต่อไปภายหลังปี 2011

สัญญาณอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของฝ่ายอิรัก ได้แก่อีกมาตราหนึ่งของร่างข้อตกลงสุดท้าย ที่มีเนื้อหาจำกัดระยะเวลาบังคับใช้สัญญาฉบับนี้เอาไว้ 3 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาสอดคล้องกับกำหนดเส้นตายการถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรักอย่างสิ้นเชิงพอดี ทั้งนี้ กำหนดเวลาบังคับใช้สัญญานี้ จะสามารถยืดออกไปได้ ต่อเมื่อมีการดำเนินการ“อันสอดคล้องกับกระบวนวิธีทางรัฐธรรมนูญในทั้งสองประเทศ”

ร่างข้อตกลงสุดท้ายยังคงใช้ถ้อยคำภาษาของร่างฉบับ 6 สิงหาคม ในประเด็นเรื่องที่การปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯทั้งหลายทั้งปวง จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลอิรัก และมีการประสานร่วมมือกับพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายอิรัก โดยผ่านคณะกรรมการร่วมสหรัฐฯ-อิรัก

ในร่างฉบับ 6 สิงหาคมนั้น อันที่จริงมีเนื้อหาที่ผ่านการเจรจาต่อรองกันไปแล้วในเรื่องการจับกุมกักขังบุคคลในอิรัก โดยบอกว่า กองทหารสหรัฐฯไม่สามารถกักกันบุคคลหนึ่งใดในอิรักได้ หากไม่มี “หมายจับที่ออกโดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงของอิรัก ตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายของอิรัก” อีกทั้งระบุว่าผู้ถูกกักกันจะต้องถูกส่งตัวไปให้ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอิรักภายในเวลา 24 ชั่วโมง แต่ร่างสุดท้าย 13 ตุลาคมยังมีเนื้อหาสำทับเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยกำหนดว่า นอกเหนือจากบุคลากรของสหรัฐฯเองแล้ว การกักกันใดๆ ที่กระทำโดยสหรัฐฯ จะต้อง “ขึ้นต่อการตัดสินใจของฝ่ายอิรัก”

การที่แผนการอันทะเยอทะยานของคณะรัฐบาลบุชที่จะให้ทหารสหรัฐฯได้คงอยู่ในอิรักกันเป็นระยะยาว กลับมีอันต้องพังทะลายลงเช่นนี้ กำลังตอกย้ำให้เห็นว่า ในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับท็อปของสหรัฐฯทั้งในวอชิงตันและในแบกแดดนั้น ช่างมองไม่เห็นความเป็นจริงเกี่ยวกับการเมืองของอิรักเอาเสียเลย พวกเขายังคงมองระบอบปกครองมาลิกีว่าเป็นบริวารซึ่งจะร่วมมือดำเนินการให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ กระทั่งหลังจากเป็นที่กระจ่างแล้วว่า วาระของมาลิกีนั้นแตกต่างอย่างแรงกับวาระของสหรัฐฯ

พวกเขายังปฏิเสธไม่พิจารณาอย่างจริงจังถึงแรงต่อต้านการคงทหารสหรัฐฯเอาไว้ในอิรัก ซึ่งปรากฏให้เห็นแม้กระทั่งในหมู่นักการศาสนาชาวชิอะห์ ที่ได้เคยแสดงความอดกลั้นต่อเรื่องนี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอคอยให้ชาวชิอะห์สามารถเข้าไปควบคุมอำนาจรัฐเอาไว้

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น