xs
xsm
sm
md
lg

อุบายหาเรื่องเล่นงานอิหร่านของสหรัฐฯ ไร้ผล

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US plot to nail Iran backfires
By Gareth Porter
15/05/2008

คณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช และพลเอกเดวิด เพเทรอัส ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอิรัก ออกอุบายเตรียมเหตุการณ์ต่อเนื่องกันเอาไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งมุ่งปลุกเร้าเรียกระดมแรงสนับสนุนทางการเมืองในสหรัฐฯ เพื่อปูทางสำหรับดำเนินการโจมตีเล่นงานอิหร่านกันต่อไป กุญแจสำคัญของกลอุบายนี้ก็คือ จะต้องจัดแสดงอาวุธจำนวนมากที่พวกกองกำลังอาวุธชาวชิอะห์ใช้กันอยู่ในนครกัรบาลาของอิรัก เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญยืนยันว่าอิหร่านส่งอาวุธมาหนุนหลังการก่อความไม่สงบของพลพรรคกองกำลังเหล่านี้ แต่แล้วการณ์กลับปรากฏว่าอาวุธดังกล่าวไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับอิหร่านเลย ร้ายยิ่งกว่านั้น จู่ๆ ทางรัฐบาลอิรักยังนำตัวเองถอยห่างจากอุบายของสหรัฐฯ คราวนี้อย่างฉับพลัน

วอชิงตัน – แผนการของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่จะค่อยๆ สั่งสมสร้างข้อกล่าวหาใหม่ๆ ต่ออิหร่าน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเตหะรานลักลอบส่งอาวุธไปให้แก่กองกำลังอาวุธของชาวชิอะห์ในอิรัก ต้องมีอันประสบความล้มเหลวลงเสียแล้ว และไม่ใช่แค่หนเดียวด้วย หากแต่ล้มเหลวถึงสองครั้งทีเดียว

นั่นคือ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นูริ อัล มาลิกี แห่งอิรัก ปฏิเสธที่จะรับรองข้อกล่าวหาของสหรัฐฯที่ว่าอิหร่านเกี่ยวข้องกับการลักลอบส่งอาวุธไปให้แก่ “กองทัพเมห์ดิ” ของ มุกตาดา อัล ซาดร์ นักการศาสนาทรงอิทธิพลชาวชิอะห์ ขณะเดียวกัน แผนการที่จะอวดคอลเลคชั่นอาวุธอิหร่านจำนวนมาก ที่กวาดยึดมาได้จากพื้นที่ภายในและรอบๆ นครกัรบาลา เมืองสำคัญทางศาสนาของนิกายชิอะห์ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลางของอิรัก ก็มีอันต้องล้มเลิกไปภายหลังจากค้นพบว่า อาวุธเหล่านั้นไม่มีชิ้นไหนเลยที่มีแหล่งกำเนิดมาจากอิหร่าน

การที่สื่อมวลชนทางด้านข่าวสารมีความบกพร่องล้มเหลวไม่ได้รายงานกันเลยว่า อาวุธที่ยึดได้จากพลพรรคกองกำลังอาวุธชิอะห์ในกัรบาลา ไม่มีสักชิ้นเดียวที่เป็นอาวุธอิหร่าน ได้กลายเป็นเกราะกำบังช่วยให้ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ รอดพ้นการถูกเล่นงานครั้งใหญ่ จากการดำเนินยุทธศาสตร์ต่อต้านอิหร่านของพวกเขา

คณะรัฐบาลบุช และผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอิรัก พลเอกเดวิด เพเทรอัส ได้วางหมากกลเตรียมเหตุการณ์ต่อเนื่องกันเอาไว้จำนวนหนึ่ง ด้วยความมุ่งหมายที่จะเรียกระดมแรงสนับสนุนทางการเมืองภายในสหรัฐฯ เพื่อปูทางสำหรับดำเนินการโจมตีเล่นงานอิหร่านกันต่อไป ความเคลื่อนไหวคราวนี้มุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นว่า เตหะราน “กำลังสอดแทรกจุ้นจ้าน” อยู่ในอิรัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยืนยันข้อกล่าวหาที่ว่า อิหร่านกำลังส่งออกอาวุธไปให้พวกกองกำลังอาวุธชาวชิอะห์

แผนการคราวนี้มีกุญแจสำคัญอยู่ที่เอกสารสรุปสถานการณ์ซึ่งเพเทรอัสเป็นผู้ตระเตรียม โดยจะกล่าวหาว่าอิหร่านมีบทบาทในการติดอาวุธและการฝึกอบรมพวกกองกำลังอาวุธชาวชิอะห์ เอกสารสรุปนี้จะนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนหลังจากที่รัฐบาลมาลิกิรับรองเห็นชอบแล้ว และการรับรองดังกล่าวก็จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนการกล่าวหาอิหร่านต่อสาธารณชนด้วยเช่นกัน

ประธานคณะเสนาธิการทหารผสมของสหรัฐฯ พลเรือเอก ไมก์ มุลเลน เป็นผู้ที่ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายนว่า เพเทรอัสกำลังตระเตรียมการบรรยายสรุปสถานการณ์ที่จะจัดขึ้น “ในอีกสองสามสัปดาห์ข้างหน้า” ซึ่งจะให้หลักฐานรายละเอียดว่า “อิหร่านไปไกลแค่ไหนแล้วในอิรัก ในเรื่องการเพาะเชื้อทำให้เกิดความวุ่นวายไร้เสถียรภาพ” ส่วนสำคัญที่สุดในเอกสารของเพเทรอัส ซึ่งทำสำเร็จเสร็จสิ้นตอนช่วงสิ้นเดือนเมษายน คือข้ออ้างที่ว่าอาวุธจำนวนหนึ่งซึ่งยึดได้ในเมืองบัสเราะห์ เมืองใหญ่ทางภาคใต้ของอิรัก มีเครื่องหมายตีตราว่าผลิตขึ้นในปี 2008

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังวางแผนจะจัดการแสดงอาวุธต่างๆ ของอิหร่านที่ยึดได้ทั้งจากเมืองบัสเราะห์และเมืองกัรบาลาให้ผู้สื่อข่าวชม เหตุการณ์ต่อเนื่องกันเป็นชุดที่เตรียมไว้สำหรับสื่อมวลชนคราวนี้ น่าจะครอบครองช่วงเวลาออกอากาศกันได้หลายๆ วันทีเดียว ด้วยข่าวอันมีสีสันฉูดฉาดที่ป้ายสีอิหร่านว่าเป็นผู้ร้ายตัวฉกาจในอิรัก และความมุ่งหมายของมันก็คือการทำลายแรงต่อต้านในรัฐสภาและในหมู่สาธารณชนของสหรัฐฯ ที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่า สมควรที่จะเข้าโจมตีบรรดาที่มั่นต่างๆ ของอิหร่าน ซึ่งให้การสนับสนุนการจุ้นจ้านสอดแทรกเหล่านี้

แต่แล้วเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในอิรักกลับไม่ได้ดำเนินไปตามบทที่เขียนเอาไว้ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ภายหลังคณะผู้แทนอิรักคณะหนึ่งเดินทางกลับจากการไปประชุมหารือกับฝ่ายต่างๆ ในอิหร่าน อาลี อัล ดับบัฟ โฆษกของนายกรัฐมนตรีมาลิกี ได้กล่าวในการประชุมแถลงข่าวว่า มาลิกีกำลังจัดตั้งคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีของเขาเองขึ้นมา เพื่อสอบสวนข้ออ้างต่างๆ ของทางสหรัฐฯ “เราต้องการหาข้อมูลข่าวสารที่มีความหนักแน่นชัดเจน ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่อิงอยู่กับการคาดเดา” เขาบอก

ไฮเดอร์ อาบาดี ที่ปรึกษาอีกคนหนึ่งของมาลิกี ได้บอกกับอเลกซานดรา ซาวิส แห่งหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทมส์ว่า พวกเจ้าหน้าที่อิหร่านได้ให้หลักฐานแก่คณะผู้แทนของอิรัก ซึ่งพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูล “เราจะมีความเป็นธรรมไม่เอนเอียงได้ เราก็จะต้องดำเนินการสอบสวน” อาบาดีกล่าว

ดับบัฟบอกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมาลิกีเห็นว่าหลักฐานของสหรัฐฯในเรื่องที่กล่าวหารัฐบาลอิหร่านลักลอบส่งอาวุธนั้น ยังอ่อนเกินไป “ข้อพิสูจน์ที่เราต้องการก็คือ อาวุธซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าผลิตขึ้นในอิหร่าน” ดับบัฟกล่าวในการให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งกับสำนักข่าวรอยเตอร์ “เราต้องการตรวจสอบสืบสาวกลับไปว่า อาวุธเหล่านี้มาถึงอิรักได้อย่างไร, ใครเป็นผู้ที่ใช้อาวุธเหล่านี้อยู่, พวกเขาได้มันมาจากที่ไหน”

เห็นได้แจ่มแจ้งว่าบรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสทางทหารของสหรัฐฯ รู้สึกโกรธกริ้วที่มาลิกีกำลังถอยหลังกรูดในเรื่องนี้ “การกระทำคราวนี้ก็เหมือนกับว่าเราถูกโจมตีเล่นงานจากแนวรบด้านที่เราไม่ทันระวังตั้งตัว” หนึ่งในเจ้าหน้าที่อาวุโสเหล่านี้บอกกับซาวิส

หลังจากนั้นแล้วกลอุบายของคณะรับบาลบุช ยังต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรงอีกประการหนึ่ง

ผู้บัญชาการตำรวจชาวอิรักในเมืองกัรบาลา ได้ประกาศในวันที่ 3 พฤษภาคมว่า เขาสามารถยึดอาวุธอิหร่านได้เป็นจำนวนมากจากพื้นที่ภายในและรอบๆ นครแห่งนั้น ก่อนหน้านี้ ฝ่ายทหารสหรัฐฯได้เคยพูดออกมาว่า ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลอิรักเองว่าจะจัดแสดงอาวุธอิหร่านซึ่งยึดมาได้หรือไม่ และมาถึงตอนนี้ผู้บังคับบัญชาตำรวจชาวอิรักคนหนึ่งก็ออกอาการกระตือรือร้นที่จะทำเช่นนั้นขึ้นมา คณะทำงานของเพเทรอัสรีบบอกกล่าวสื่อสหรัฐฯ ว่า กำลังจะมีข่าวใหญ่โดยที่จะมีการจัดแสดงอาวุธอิหร่านซึ่งยึดได้ในเมืองกัรบาลา ต่อจากนั้นก็จะมีการทำลายอาวุธเหล่านี้

ทว่าเมื่อพวกผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ของสหรัฐฯ เอง เดินทางไปกัรบาลาเพื่อชมสิ่งที่กล่าวหากันว่าเป็นคลังอาวุธของอิหร่าน พวกเขาก็กลับไม่พบอะไรเลยที่พวกเขาสามารถโยงใยไปให้ถึงอิหร่านได้อย่างน่าเชื่อถือ

กองบัญชาการทหารสหรัฐฯ ต้องแจ้งผู้สื่อข่าวว่า การจัดแสดงดังกล่าวได้ถูกยกเลิก โดยอธิบายว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของ “ความเข้าใจผิด” ในการแถลงสรุปสถานการณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พลจัตวา เควิน เบิร์กเนอร์ ได้ให้รายละเอียดหลายประการเกี่ยวกับอาวุธที่ยึดได้ในกัรบาลา แต่ระงับยับยั้งไม่กล่าวหาว่าอิหร่านมีบทบาทใดๆ

การยกเลิกการจัดแสดงอาวุธที่วางแผนกันไว้เช่นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อพิจารณาจากเจตนาอันทราบกันดีอยู่แล้วของกองบัญชาการทหารสหรัฐฯในอิรัก ที่มุ่งมั่นจะกล่าวโทษอิหร่านด้วยข้อหาลักลอบส่งอาวุธดังกล่าว กระนั้นก็ตาม มันก็ผ่านเลยไปโดยที่ไม่ได้มีการรายงานไว้ในสื่อมวลชนด้านข่าวสารของโลก

รายงานชิ้นหนึ่งในบล็อก “เบื้องลึกบาบีโลน” (Babylon and Beyond) ของลอสแองเจลิสไทมส์ ที่เขียนโดยทีนา ซัสแมน ผู้สื่อข่าวประจำแบกแดด เป็นเพียงรอยร้าวเล็กๆ เพียงรอยเดียวในการปิดข่าวดำมืดของสื่อคราวนี้ และรายงานชิ้นนี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทมส์อีกด้วย

ความสำคัญอันแท้จริงของอาวุธที่ยึดและรวบรวมได้จากกัรบาลา ไม่ใช่สิ่งที่เห็นกันได้ชัดเจนอยู่แล้ว อย่างเรื่องความน่าอับอายขายหน้าทางการเมืองของสหรัฐฯจากการอวดอ้างของทางอิรักว่าสามารถยึดอาวุธอิหร่านได้จำนวนมากแล้วการณ์กลับปรากฏว่าเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ความสำคัญอันแท้จริงของมันอยู่ที่ความหมายอันลึกซึ้งลงไปอีกของบรรดาอาวุธที่ถูกยึดมาเหล่านี้

กัรบาลานั้นเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในนครใหญ่ที่สุด 8 แห่งของอิรัก และก็เป็นจุดศูนย์รวมของการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพเมห์ดิ กับ พวกปรปักษ์ชาวชิอะห์ด้วยกันของกองกำลังอาวุธนี้มานานแล้ว มุกตาดาประกาศการหยุดยิงของเขาในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาภายหลังจากการสู้รบครั้งใหญ่ที่นั่น ทว่าการต่อสู้ก็กลับฟื้นขึ้นมาอีกทั้งในเมืองนั้นและในเมืองบัสเราะห์ เมื่อรัฐบาลเปิดยุทธการใหญ่ในเดือนมีนาคมปีนี้ นักรบกองทัพเมห์ดิจำนวนเป็นพันๆ คนได้สู้รบอยู่ในกัรบาลาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

บัญชีของทางการแจกแจงรายการอาวุธที่ยึดได้จากเมืองกัรบาลาเอาไว้ว่า มีทั้ง ปืนครก 9 กระบอก,จรวดต่อสู้อากาศยาน 4 ลูก,เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 45 กระบอก,จรวดอาร์พีจี 800 ลูก, และชุดอุปกรณ์ระเบิดชนิดฝังข้างถนน 570 ชุด การที่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถหาพบอาวุธที่มีแหล่งกำเนิดจากอิหร่านสักชิ้นเดียว จากบรรดาอาวุธที่ถือได้ว่าเป็นอาวุธค่อนข้างร้ายแรงทีเดียวเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มีการบุกฝ่าลึกเข้าไปในที่มั่นของกองทัพเมห์ดิอยู่เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ย่อมเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ในทางเป็นจริงแล้วกองทัพเมห์ดิมีการพึ่งพาอาวุธที่ผลิตในอิหร่านเพียงน้อยนิดเท่านั้น

อาวุธที่ยึดได้จากกัรบาลา ยังทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ ต่อการพร่ำพรรณนาอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯที่ว่า การใช้วัตถุระเบิดชนิดเจาะเกราะได้ (explosively formed penetrators หรือ EFPs) ของพวกกองกำลังอาวุธชิอะห์กลุ่มนี้ คือสิ่งยืนยันการแทรกตัวเข้ามาของอิหร่าน น่าสังเกตว่าขณะที่ พลตรีไรเอด ชาเกอร์ จอดัต ผู้บัญชาการกองตำรวจเมืองกัรบาลา พูดถึงบรรดาอาวุธซึ่งยึดมาได้ เขาได้เอ่ยถึง “ระเบิดต่อสู้รถถัง 150 ชุด” อย่างเจตนาแยกออกมาจากชุดอุปกรณ์ระเบิดชนิดฝังข้างถนนแบบธรรมดา

“ระเบิดต่อสู้รถถัง”ที่กล่าวถึงนี้ คืออุปกรณ์ระเบิดที่สามารถเจาะเกราะได้ และถูกนำเสนอต่อสาธารณชนชาวอเมริกันโดยเรียกว่า EFP นั่นเอง ข้ออ้างของสหรัฐฯที่ว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังการที่มีการใช้อาวุธชนิดนี้ในอิรักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในบรรดาข้อกล่าวหาของคณะรัฐบาลบุช ที่ว่าอิหร่านทำ “สงครามตัวแทน” ต่อต้านสหรัฐฯ ในต้นปี 2007

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นานนัก พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสทางทหารของสหรัฐฯ ก็ได้ยอมรับว่า อันที่จริงแล้วมีการผลิตอาวุธ EFPs ขึ้นภายในอิรักเอง ถึงแม้พวกเขายังคงยืนยันด้วยว่า EFPsที่ส่งออกมาจากอิหร่านก็มี และพวกที่มาจากอิหร่านจะมีอานุภาพเหนือกว่าพวกที่ทำกันเองในอิรัก

อาวุธ EFPs จำนวนมากที่ยึดมาได้ในกัรบาลา ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าไม่ได้มีต้นกำเนิดจากอิหร่าน จึงเป็นการตอกย้ำความเป็นจริงที่ว่า กองทัพเมห์ดิจัดหาอาวุธ EFPs ของพวกเขาจากแหล่งต่างๆ หลายหลาก

ถ้าหากไม่มีการปิดข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว การพบอาวุธ EFPs จำนวนมากในกัรบาลาก็ย่อมจะยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายทหารสหรัฐฯ ที่พยายามบอกว่าอิหร่านส่งออก EFPs ไปให้พวกนักรบชาวอิรัก

เบิร์กเนอร์ดูเหมือนเข้าใจดีว่า เรื่องการพบอาวุธ EFP ในเมืองกัรบาลา อาจจะก่อให้เกิดความลำบากทางการเมืองได้มากแค่ไหน เขาจึงตัดส่วนที่ระบุถึงอาวุธชนิดนี้ออกไปจากบัญชีอาวุธเมืองกัรบาลาที่นำมาเปิดเผย ทั้งๆ ที่มีการพูดถึงอาวุธชนิดอื่นๆ เอาไว้อย่างถูกต้องชัดเจน

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

( (สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น